ตั้งคณะกรรมการแก้โควิด ปีครึ่ง “ประยุทธ์” ตั้งหน่วยงานพิเศษ สารพัดชุด 

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สามระลอก การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ-เด็ดขาดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม กลายเป็นยาวิเศษ-ยาสามัญประจำบ้านนรสิงห์

โควิดระลอกที่สาม “คลัสเตอร์ทองหล่อ” พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจรองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี รวบอำนาจ 31 ฉบับไว้ในมือ ผ่านประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3)

นำร่องด้วยการตั้ง “ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็น “ผู้อำนวยการศูนย์” เพื่อแก้ปัญหา “คลัสเตอร์คลองเตย”

รองผู้อำนวยการ 4 คน ได้แก่ 1.พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 2.นายฉัตรชัย พรมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย 3.นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 4.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกรรมการอีก 31 คน โดยไม่มีนักการเมืองอยู่ในคณะกรรมการแม้แต่คนเดียว 

ตามมาด้วยการแต่งตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข” เพื่อให้การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินเรื่องทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ 

โดยมี “เลขาธิการสมช.” เป็นประธานกรรมการ ส่วน “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ-รมว.สาธารณสุข หัวขบวนภูมิใจไทย และ “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข แห่งประชาธิปัตย์ ขึ้นหิ้ง-เป็นที่ปรึกษา 

ส่วน “รองประธานกรรมการ” สองคน คือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองประธานกรรมการ คนที่ 1 และ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2  

และล่าสุดการตั้ง “คณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และการสาธารณสุขเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา โดยมี “นพ.ปิยะสกล สกลสัตนาทร” อดีตรมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลคสช.- ประยุทธ์ 1 เป็นประธาน 

รองประธาน 1 คน คือ “นพ.อุดม คชินทร” อดีตรมช.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลคสช.-ประยุทธ์ 1 อีกคน และกรรมการอีก 12 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ทั้งหมด

นับรวมถึง “คณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก” ที่มี “นพ.ปิยะสกล” เป็นประธาน ก่อนจะคลอดลูกออกมาอีก 4 ทีมผสมรัฐ-เอกชน ในการระดมฉีดวัคซีน ในนาม “ทีมไทยแลนด์” ที่มี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกฯ-รมว.พลังงานเป็น “แม่งาน” ภาครัฐ และ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็น “หัวหอก” ภาคเอกชน 

1 ปีครึ่ง นับแต่การระบาดของโควิด 19 ระลอกแรก เดือนเมษายน 2563 ทันทีที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน-บังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้ง “หน่วยงานพิเศษ” มาแล้วสารพัดชุด ทว่าที่ยังคง Active ขณะนี้เหลือเพียง 2 ชุด คือ ศบค.ชุดเล็ก-ศบค.ชุดใหญ่!  

พล.อ.ประยุทธ์ได้ตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” หรือ “ศบค.” โดยเป็น “ผู้อำนวยการศูนย์” ด้วยตัวเอง-รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ตามวิถี “สฤษดิ์สไตล์” หรือ “สฤษดิ์โมเดล” เพื่อยึดอำนาจทุกกระทรวง-ทบวง-กรม ไว้ใต้ปีกอำนาจ 

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็แสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ชุดต่าง ๆ และ “ศูนย์ในศูนย์” เพื่อปฏิบัติการแก้ปัญหาเฉพาะกิจ-เฉพาะหน้าด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 

โดยเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาขัดข้อง ขัดเข่ง-ขัดขาระหว่างนักการเมือง รองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ดูจะตีกันคนละคีย์-เล่นกันคนละเพลง   

10 เมษายน 2563 ตั้ง “คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน” ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา เสนอแนะการป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยมี “ทศพร ศิริสัมพันธ์” (ตำแหน่งขณะนั้น) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานกรรมการ อาทิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสภาเกษตรกร ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย 

คณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อโควิด 19 โดยมี “ธีรภัทร ประยูรสิทธิ” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองประธาน 4 คน ได้แก่ 1.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 2.อธิบดีกรมบัญชีกลาง 3.อธิบดีกรมศุลกากร และ 4.อธิบดีกรมการค้าภายใน

21 เมษายน 2564 แต่งตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจด้านกฎหมาย” มี “ปลัดกระทรวงยุติธรรม” เป็นประธาน และ “เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา” เป็นรองประธาน 

1 พฤษภาคม 2563 แต่งตั้ง “คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม” เพื่อให้ความเห็นทางวิชาการ เสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมี “ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา” เป็นประธาน และ “ศ.กิตติคุณเทียนฉาย กีระนันท์” อดีตประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นรองประธาน 

2 ตุลาคม 2563 เมื่อ “ศูนย์ในศูนย์” ที่ตั้งขึ้นมา “เฉพาะทาง” นับสิบชุด-ยาวเป็นหางว่าว พล.อ.ประยุทธ์ จึงลด-ละ-เลิก และตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค.” (ศปก.ศบค.) หรือ “ศบค.ชุดเล็ก” โดยมี “เลขาฯ สมช.” เป็น “ผู้อำนวยการศูนย์” โดยมี “นพ.ปิยะสกล” และ “นพ.อุดม” อดีต 2 เสนาบดีในสมัยรัฐบาลคสช.-ประยุทธ์ 1 เป็นกุนซือ 

“ศบค.ชุดเล็ก” ที่ยัง Active และทำงานอย่างเข้มข้นเพียงคณะเดียวอยู่ในขณะนี้ เพื่อเสนอแนะแนวทาง-มาตรการต่าง ๆ ในการป้องกัน-ระงับ-ยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้ที่ประชุม “ศบค.ชุดใหญ่” ที่มีพล.อ.ประยุทธ์-ผู้อำนวยการ ทุบโต๊ะ

13 พฤษภาคม 2563 เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 มีแนวโน้มดีขึ้น ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งโควิด 19” เพื่อออกมาตรการ “คลายล็อกดาวน์”

โดยมี “เลขาธิการสมช.” สวมหมวกเป็นประธานอีกใน และมี “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” รองผู้บัญชาทหารบก (กรรมการโดยตำแหน่งในขณะนั้น) ซึ่งก็คือ “เลขาฯสมช คนปัจจุบัน” นั่นเอง 

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง – คลัสเตอร์สมุทรสาคร และคลัสเตอร์บ่อนการพนัน ซึ่งมีต้นต่อมาจาก “แรงงานต่างด้าวเถื่อน” และ “บ่อนการพนันผิดกฎหมาย” 

พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีสถานที่เล่นการพนันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” โดยมีนายชาญเชาน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน

และ “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีการเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019” โดยมีนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นประธาน โดยให้รายงานทางลับต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ทุก 30 วัน