ย้อนรอย ม็อบเสื้อเหลือง แนวร่วมพันธมิตรฯ ไล่รัฐบาลสมัคร ปี 51

สนธิ จำลอง กลุ่มพันธมิตร
FILE PHOTO : PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ย้อนรอยการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เพื่อขับไล่รัฐบาล ปี 2551 หลังแกนนำถูกศาลฎีฏาพิพากษาจำคุก 3 แกนนำ 8 เดือน ไม่รอลงอาญา

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3973/2558 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมดาวกระจาย ปี 2551 ขับไล่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น

ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดฯ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนและก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก แต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216 กรณีที่มีการรวมตัวกันต่อต้านและขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2551

ทั้งนี้ ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 1-6 ส่วน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายเทิดภูมิ ใจดี จำเลยที่ 7-9 ให้จำคุกเป็นเวลา 8 เดือนไม่รอลงอาญา

ย้อนรอย ม็อบเสื้อเหลือง พันธมิตรฯ

มติชน ได้ไล่เรียงเหตุการณ์ของบทบาทการเมืองไทยช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเมืองไทยต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้ง และความแตกแยกอย่างรุนแรง ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งแยกสีเสื้อ สาเหตุมาจากความแตกต่างทางความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมือง จากความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันนี้เอง ส่งผลให้เกิดกลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก

ปี 2548 เริ่มจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ต้องหลุดผังออกจากรายการที่ช่อง 9 อสมท. จากนั้นพัฒนาการกลายเป็นรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินี เพื่อวิพากษ์วิจารณ์นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

ต่อมาเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ได้ยกระดับจัดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นายสนธิ ประกาศรวมตัวกับพันธมิตรทางการเมือง ภายใต้ชื่อกลุ่มว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (พธม.) มี นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำ มีเสื้อสีเหลืองและมือตบเป็นสัญลักษณ์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวและขับไล่รัฐบาลของ นายทักษิณ  

เนื่องจากเห็นว่า การทำงานของรัฐบาลขณะนั้น มีความไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ทักษิณประกาศยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่กลับเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยแพ้เสียงโนโหวตหลายเขต มีการจ้างผู้สมัครพรรคเล็กลงสมัครเพื่อเป็นคู่แข่งหนีเสียงโนโหต แต่ที่สุดแล้วก็นำไปสู่การที่เลือกตั้งที่เป็น “โมฆะ” 

และการเคลื่อนไหวครั้งนั้นจบลงด้วยการเข้ามายึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

รายชื่อแกนนำทุกรุ่น

  • นายสนธิ ลิ้มทองกุล
  • นายสมศักดิ์ โกศัยสุข
  • นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
  • พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
  • นายพิภพ ธงไชย
  • นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
  • นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • นายสำราญ รอดเพชร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพิธีกรช่อง ASTV
  • นางมาลีรัตน์ แก้วก่า เป็นผู้แทนของผู้หญิง
  • นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง เป็นตัวแทนของศิลปิน
  • นายประพันธ์ คูณมี
  • นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
  • นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ 

หลังการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถูกเลือกให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 24 ก่อนจะเปิดการเลือกตั้งในอีก 1 ปีต่อมา ภายใต้กติการัฐธรรมนูญ  2550 

23 ธันวาคม 2550 มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ปรากฏว่า พรรคพลังประชาชน ซึ่งถูกมองว่า  เป็น พรรค “นอมินี” ของไทยรักไทยได้รับเลือกให้มาเป็นรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 

รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 237 (เรื่องการยุบพรรค) และมาตรา 309 (นิรโทษกรรมให้กับ คมช.)  ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รวม 164 คน ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ วันที่ 21 พฤษภาคม

กลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 โดยคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นิรโทษคดีต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินต่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบครัวและพวกพ้อง  

จากนั้นกลุ่มพันธมิตรฯ มีมติเคลื่อนมวลชนไปหน้าทำเนียบรัฐบาลและปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่อง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าปิดกั้น จึงทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ เปลี่ยนมาชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอกแทน

มีการตั้งเวทีและปิดการจราจรบางส่วน เพื่อรักษาความปลอดภัยของกลุ่มพันธมิตรฯ จากฝ่ายต่อต้านซึ่งเข้ามาก่อความวุ่นวาย ซึ่งการปิดการจราจรในครั้งนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบและร้องเรียนมายังกองบังคับการตำรวจจราจรเป็นจำนวนมาก

หลังการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ผ่านไปได้ 5 วัน ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยกระดับการชุมนุมจากการชุมนุมเพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการขับไล่รัฐบาลนายสมัครแทน

เช้าวันต่อมานายสมัคร ได้แถลงผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยว่า จะสลายการชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ แต่ก็ไม่มีการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด ด้านกลุ่มพันธมิตรฯ ปักหลักชุมนุมอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์อยู่จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2551 จึงได้เคลื่อนการชุมนุมไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ศาลแพ่งได้ตัดสินให้กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องเปิดเส้นทางการจราจรบริเวณถนนพิษณุโลกและถนนพระราม 5 ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ จึงได้ย้ายเวทีและที่ชุมนุมไปเป็นที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์เช่นเดิม

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรผ่านไปได้ 27 วัน ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลนายสมัคร ดังนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศเคลื่อนการชุมนุมไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 20 มิถุนายน 2551 โดยจะไม่เข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและใช้แนวสันติวิธีปราศจากอาวุธ

ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย คืออะไร

วันที่ 5 มิถุนายน 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ใช้แผนยุทธศาสตร์ดาวกระจาย นายสุริยะใส กตะศิลา ให้สัมภาษณ์ในเวลานั้นถึง “ความหมาย” ของยุทธศาสตร์ดาวกระจายว่า จะจัดมวลชนเป็นกลุ่ม ๆ ไปทวงถามความคืบหน้าในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กระทรวงมหาดไทย และทำเนียบรัฐบาล

ยุทธศาสตร์นี้กลุ่มพันธมิตรฯ เคยใช้มาตั้งแต่การชุมนุมในปี 2549 ซึ่งนับเป็นกลไกหนึ่งของการบริหารจัดการ เพื่อให้ผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนไหวบ้าง ไม่ให้รู้สึกว่านิ่งเกินไป เงื่อนไขหลักของยุทธศาสตร์ดาวกระจายอยู่ที่การควบคุมผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นเรื่องประสบการณ์ที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคยพิสูจน์มาแล้วในครั้งนั้นโดยไม่มีการปะทะหรือต้องเสียเลือดเนื้อ

วันที่ 6 มิถุนายน 2551

  • เดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษนายสุริยะใสอ้างว่าเพื่อเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในการทำคดีของทักษิณ ชินวัตร และผู้เกี่ยวข้อง

วันที่ 25 กรกฎาคม 2551

  • เดินทางไปที่หน้า ปตท. เมื่อ 2551 ส่งผลให้หุ้นปตท. ร่วงลงทันที 1.50%

วันที่ 19 สิงหาคม 2551

  • เดินทางไปสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยครั้งแรก เพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลอังกฤษส่งตัวทักษิณ ชินวัตรกลับประเทศ

วันที่ 21 สิงหาคม 2551

  • เดินทางไปที่หน้ากระทรวงต่างประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ทางกระทรวงทำการเพิกถอนหนังสือเดินทางสีแดงของทักษิณ ชินวัตร

วันที่ 26 สิงหาคม 2551

  • เดินทางไปบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เพื่อบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่พอใจรายการความจริงวันนี้ที่ออกอากาศโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในขณะนั้น

วันที่ 19 ตุลาคม 2551

  • เดินทางไปที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ เพื่อเดินขบวนรณรงค์แจกหนังสือและวีซีดี

วันที่ 30 ตุลาคม 2551

  • เดินทางไปสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลอังกฤษส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศ

นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ยังเคลื่อนขบวนไปตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น การดาวกระจายไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องให้ประธาน กกต. ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบคำร้องทุจริตเลือกตั้งที่ถูกยกกว่า 700 คดี และยังมียุทธศาสตร์การชุมนุมอีก

ยุทธการสงคราม 9 ทัพ

ในการเคลื่อนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไปยังบริเวณทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2551 นั้น กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ใช้ชื่อการเคลื่อนการชุมนุมครั้งนี้ว่า “ยุทธการสงคราม 9 ทัพ” โดยได้กำหนดให้เคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมไปใน 9 เส้นทาง โดยใช้ถนนรอบทำเนียบรัฐบาล

ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า

การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ในการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 สำหรับปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า แกนนำพันธมิตรฯ ได้แบ่งมวลชนออกเป็นหลายส่วน ส่วนหนึ่งจะอยู่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์และโดยรอบทำเนียบรัฐบาล

กลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มเข้าปิดล้อมบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล ทั้งด้านถนนพิษณุโลกและฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ ด้านสะพานอรทัย บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐและด้านสะพานเทวกรรมรังรักษ์ ตั้งแต่เช้ามืด ปิดล้อมประตูเข้า-ออกทำเนียบรัฐบาลทั้ง 8 ประตู

ในช่วงบ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมได้พังประตูเหล็กด้านตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการและทยอยเดินเท้าจากสะพานมัฆวานรังสรรค์เข้าไปรวมตัวกันบริเวณสนามหญ้าด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งผู้ชุมนุมได้ปีนเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลทางสะพานชมัยมรุเชษด้วย

หลังจากนั้น แกนนำพันธมิตรฯ ที่เคลื่อนขบวนโดยใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายเริ่มทะยอยเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลและประกาศชัยชนะที่สามารถเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ

สมัครพ้น-สมชายขึ้น

วันที่ 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญพร้อมองค์คณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า”

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า นายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัครสิ้นสุดลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำให้นายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 223 วันเท่านั้น

วันที่ 17 กันยายน 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 26 ของประเทศไทย โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ 298 เสียง ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ 163 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ทำให้นายสมชาย ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ 

ปฏิบัติการ “ม้วนเดียวจบ”

จากนั้นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ มีมติให้จัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้งโดยเรียกว่า “ม้วนเดียวจบ” ปฏิบัติการเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ขึ้นเวทีขอแรงจากกลุ่มผู้ชุมนุมให้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 04.00 น. เพื่อจะกระจายตัวไปตามที่ต่าง ๆ ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่าจะให้ทำอะไรบ้าง แต่ก่อนหน้านั้นได้มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง และเข้ายึดพื้นที่ของสนามบินเพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้สถานที่เป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้

กลุ่มพันธมิตรฯ ยกระดับการชุมนุม และได้บุกเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศจะต้องขับไล่รัฐบาลนายสมชายออกไปให้ได้ จากนั้นวันที่ 25 พฤศจิกายน นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ท่าอากาศยานไทยในขณะนั้น ประชุมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและเห็นว่าให้ปิดการให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งขาเข้า-ออกโดยไม่มีกำหนด

ภายหลังการเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งใช้เป็นที่ทำการทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 24–25 พฤศจิกายน 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นสถานที่ชุมนุมนอกเหนือจากบริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อต่อรองกับนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้เที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการ

นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศหยุดทำการบินเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน

ต่อมาสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกไปจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างสงบ และกล่าวว่าการชุมนุมประท้วงกำลังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายอย่างมาก

แถลงการณ์จากเอกอัครราชทูตอียูประจำประเทศไทย ยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมแก้ไข วิกฤตการณ์ทางการเมืองในไทยอย่างสันติ เคารพในกฎหมาย และสถาบันประชาธิปไตยของประเทศ และอียูเคารพสิทธิในการประท้วงและปราศจากการแทรกแซงปัญหาการเมืองภายในของไทย แต่เห็นว่าการกระทำของกลุ่มผู้ประท้วงในครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนานาประเทศ

วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ส่งผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยมีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการรักษาการนายกรัฐมนตรีแทนเป็นการชั่วคราว

วันที่ 3 ธันวาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุม ระยะเวลาในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ รวมทั้งสิ้น 193 วัน และ ระยะเวลาในการสนามบินถูกปิดตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2551 รวม 10 วัน และวันที่ 9 ธันวาคม ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่บริเวณรอบท่าอากาศยานดอนเมือง และ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ยึดสนามบินเสียหาย 2.9 แสนล้าน

วอยซ์ รายงานว่า การเข้ายึดพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรครั้งนั้น มีการประเมินความเสียหายหลังการยึดสนามบินทั้ง 2 แห่ง ระยะเวลา 10 วัน จาก 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2551 รวม 10 วัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความเสียหาย มูลค่า 2 แสนล้านบาท โดยกระทบ ธุรกิจท่องเที่ยว สายการบิน การขนส่งทางอาหกาศ และธุรกิจต่อเนื่อง

ขณะที่บริษัทท่าอากาศยานไทย ประเมินความเสียหาย 3 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากการปิดสนามบิน 10 วัน ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ประเมินความเสียหาย ภาพรวมเศรษฐกิจ 134,000-215,000 ล้านบาท ส่งผลใหารขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2551 ลดลง 4.1-4.4 %

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย แบ่งการประเมินผลกระทบออกเป็น ด้านการท่องเที่ยว 76,000-120,000 ล้านบาท กระทบด้านการส่งออก 25,000-40,000 ล้านบาท กระทบด้านการลงทุน 12,000-25,000 ล้านบาท กระทบด้านการบริโภค 21,000-30,000 ล้านบาท

ด้าน นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ท่าอากาศยานไทย ประเมินว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องสูญเสียไป ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดสนามบินจนไม่สามารถให้บริการได้ 350 ล้านบาท และ 25,000 ล้านบาท เป็นมูลค่าความเสียหายที่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศต้องสูญเสียรายได้ไปในช่วงเวลา 10 วันนั้น