สภาล่มซ้ำซาก เผาเงินภาษีประชาชน

การทำงานของสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ถูกตั้งคำถามอีกครั้ง หลังเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน เกิดเหตุสภาล่ม ! เป็นความตั้งใจของฝ่ายวิปรัฐบาล ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ. …เพราะในสายตาพรรคแกนนำรัฐบาล อย่าง “พลังประชารัฐ” อ่านเกมขาดว่า มีมาตรา “อันตราย”

โดยเฉพาะเนื้อหามาตรา 6 ในร่าง กฎหมายดังกล่าว ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ เสนอให้มีองค์กรวิชาชีพต่างชาติ และองค์กรเอกชนจากในและต่างประเทศเข้ามาร่วมในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายได้ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิษวิทยามากเพียงพอที่จะดูแลเรื่องนี้

ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านตั้งท่า “ไม่เห็นด้วย” ประกอบกับไวรัสโควิด-19 ลามทุ่งทำให้ ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ซึ่งลงพื้นที่อยู่ก่อนหน้านี้ ไม่ได้กลับเข้าเมืองหลวงสุ่มเสี่ยง “เสียงไม่พอ”

อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลประเมินว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงิน เนื่องจากมีประเด็นบางมาตราเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณเรื่องค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายของผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย

หากถูกคว่ำกลางสภา จะเข้าล็อก “ธรรมเนียมปฏิบัติ” ทางการเมือง ที่รัฐบาลจะต้อง “ยุบสภา” เพื่อรับผิดชอบ

แต่คำถามที่ประชาชน-คนนอกสภามองเข้าไป คือ การนำ “เงินภาษี” ของประชาชนไป “เล่นเกมการเมือง”

สำหรับเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่ง ดังนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม 125,590 บาท รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวม 115,740 บาท

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มีเงินเดือน 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวม 115,740 บาท และ ส.ส. เงินเดือน 71,230 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,330 บาท รวม 113,560 บาท

ยังมี “สิทธิประโยชน์อื่น” เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการและเอกชน กรณีผู้ป่วยใน ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 4,000 บาท ค่าห้องไอซียู/ซีซียู/วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 10,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง ค่ารถพยาบาล ไม่เกิน 100,000 บาท ค่ารถพยาบาล ไม่เกิน 1,000 บาท ค่าผ่าตัด/ครั้ง ไม่เกิน120,000 บาท

ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 1,000 บาท ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง ไม่เกิน 4,000 บาท การคลอดบุตร คลอดธรรมชาติ ไม่เกิน 20,000 บาท ผ่าตัดไม่เกิน 40,000 บาท การรักษาทันตกรรม/ปี ไม่เกิน 5,000 บาท ผู้ป่วยนอก/ปี ไม่เกิน 90,000 บาท


อุบัติเหตุฉุกเฉิน/ครั้ง ไม่เกิน 20,000 บาท การตรวจสุขภาพประจำปี ไม่เกิน 7,000 บาท