ศบค.ถกล็อกดาวน์ 12 ก.ค.นี้ จับตาพื้นที่ “กทม.-ปริมณฑล-4 จังหวัดใต้”

กทม. ล็อกดาวน์

ศบค. นัดถก “ล็อกดาวน์”  12 ก.ค.นี้ เลขาฯ สมช.ระบุชัดต้องฟังความเห็นจากสาธารณสุขเป็นลำดับแรก ชี้หากตัวเลขติดเชื้อเพิ่มอาจเร็วกว่านั้น รวมถึงต้องดูภาพรวมการระบาดด้วย หากจำเป็นก็ต้องทำ จับตาพื้นที่ระบาดหนัก “กทม.ปริมณฑล และ 4 จังหวัดใต้”

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศปก.ศบค. กล่าวถึงข้อเสนอให้ ศบค.ล็อกดาวน์ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า ได้ยินอย่างนั้นเหมือนกัน

แต่ตอนนี้รอข้อเสนออย่างเป็นทางการ และรับฟังความเห็นจากทางกระทรวงสาธารณสุขก่อนเป็นลำดับแรก โดยจากนั้นจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวอยู่ แต่ตัวเลขจะถึงขั้นไหนค่อยมาว่ากันอีกที

รอข้อเสนอจากสาธารณสุข

“รอข้อเสนออย่างเป็นทางการ ก็คงพิจารณาอย่างที่บอก ศบค.เราบริหารสถานการณ์ เราต้องฟังกระทรวงสาธารณสุขเป็นอันดับแรก และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราฟังครับ เพราะตัวเลขมันทรงอยู่ ก็คงต้องรับพิจารณาในเรื่องนี้ แต่ว่าควรจะขนาดไหนเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

พล.อ.ณัฐพลกล่าวต่อว่า อยากให้สื่อมวลชนทำความเข้าใจคำว่า ล็อกดาวน์ หมายความอย่างไร ถ้าเป็นเหมือนตอนเดือนเมษายน 2563 คือการล็อกดาวน์จริง เพราะรวมถึงการเคอร์ฟิวด้วย แต่หลังจากนั้นไม่ใช่ล็อกดาวน์ เป็นเพียงการปิดกิจการและจำกัดการเคลื่อนย้าย ฉะนั้น ถ้าใช้คำว่าล็อกดาวน์ ในขณะนี้ที่เป็นการปิดบางกิจการ คนจะเข้าใจว่าเหมือนเดือนเมษายน 2563 ซึ่งความหมายจะผิดเพี้ยนไป

ถก 12 ก.ค.นี้ เน้น กทม.-ปริมณฑล และ 4 จว.ใต้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ถ้าตัวเลขเพิ่มขึ้นก็อาจจะเร็วกว่านั้น แต่ถ้ายังเป็นลักษณะขึ้นลงแบบนี้ อาจรอดูสถานการณ์ให้ครบ 15 วัน เพื่อประเมินสถานการณ์ทีเดียวแล้วดูให้ครบถ้วน โดยจะทำอย่างอื่นไปด้วย เช่น ควบคุมการเคลื่อนย้าย การแก้ปัญหารักษาพยาบาล เรื่องเตียงไม่พอ เป็นต้น

เมื่อถามว่า หากจะประกาศล็อกดาวน์ จะประกาศเฉพาะพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้ามากที่สุด หรือจะประกาศในภาพรวมทั้งหมด พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า จะเน้นเข้มข้นในพื้นที่แพร่ระบาดทั้งใน กทม.และปริมณฑล หรือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนพื้นที่อื่นจะมีมาตรการเสริม หากล็อกดาวน์หรือเซมิล็อกดาวน์ หรืออะไรก็ตาม ถ้าทำเฉพาะ กทม.หรือปริมณฑล แต่พื้นที่อื่นไม่ทำจะไม่สอดคล้องกัน ฉะนั้นต้องลดหลั่นไปตามความเหมาะสม

เผยล็อกดาวน์ เม.ย. 63 ใช้งบฯเยียวยาเกือบ 3 แสนล้าน

เมื่อถามว่า เหตุใดรัฐบาลถึงเลี่ยงใช้คำว่าล็อกดาวน์ พล.อ.ณัฐพลกล่าวชี้แจงว่า ไม่ได้เลี่ยง แต่ความหมายต้องชัดเจน คำว่าล็อกคือไม่ให้ไปไหน แต่ช่วงหลังให้ไปไหนมาไหนได้ เมื่อใดที่ต้องใช้คำว่าล็อกดาวน์ หรือทำบางช่วงเวลาและบางพื้นที่ต้องระบุให้ชัดเจน

“เมื่อไหร่ก็ตามถ้าจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์จริงๆ หรือล็อกดาวน์บางห้วงเวลา หรือล็อกดาวน์บางพื้นที่ ก็ต้องชัดเจน” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

เมื่อถามย้ำว่า การล็อกดาวช่วงเดือนเมษายน 2563 ได้ผล จึงมีข้อเสนอให้ล็อกดาวน์ขึ้นมาอีกครั้ง พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ประกอบการหาเช้ากินค่ำ หรือผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำเดือดร้อนมาก ถ้าทำอย่างนั้นคนจะเดือดร้อนจำนวนมาก

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้แจ้งข้อมูลในช่วงเมษายน 2563 ว่าใช้งบประมาณเยียวยาเดือนละเกือบ 3 แสนล้านบาท ถ้าเราทำอีกจะต้องหางบประมาณมาเยียวยาประชาชนอีกมาก ซึ่งในข้อเท็จจริงแม้จะใช้งบฯถึงเดือนละ 3 แสนล้านบาทก็ยังไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้ทั่วถึง

ทาง ศบค.คำนึงผลกระทบตรงนี้ที่มีต่อประชาชน จึงให้บางส่วนยังหากินได้ ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดคือสิ่งที่ดีที่สุด และหากจะทำ ต้องวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นสาเหตุทั้งหมด ถ้ากระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าต้นเหตุคือทั้งหมดทุกส่วนก็จำเป็นต้องล็อกดาวน์

ศบค.คาดสัปดาห์หน้า สายพันธุ์เดลต้ากระจายเพิ่ม 2 เท่า

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างแถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อประจำวันว่า ในส่วนของการแพร่ระบาด แพทยสมาคมมีความเป็นห่วงว่า หลังจากที่เราพบสายพันธุ์ “เดลต้า” ประมาณเดือนมิถุนายน มีผู้เชี่ยวชาญของอเมริการายงานว่า สายพันธุ์นี้มีการแพร่กระจายได้เร็ว

และมีการคาดการณ์ว่า จะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 2 เท่า ภายใน 2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นคร่าว ๆ ตอนนี้เราจะเห็นตัวเลขจากพันขึ้นเป็น 2 พัน และจาก 2 พันเพิ่มขึ้นเป็น 4 พัน


“เราคาดการณ์ไปสัปดาห์หน้า อาจจะขึ้นไปได้ถึง 1 หมื่น (ราย) ตรงนี้ต้องเรียนให้ทุกท่านได้เน้นย้ำมาตรการส่วนตัว และที่สำคัญคือ ลดการเคลื่อนย้าย และเฝ้าระวังผู้สูงอายุ รวมทั้งเน้นย้ำในเรื่องการฉีดวัคซีนด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวย้ำ