รวมทุกมาตรการเยียวยา ครม. แจก 4.2 หมื่นล้าน ใครได้อะไรบ้าง

ประยุทธ์ แจกเงิน

มติคณะรัฐมนตรีแจกเงินเยียวยาประชาชนครั้งใหญ่ ใช้เงิน 4.2 หมื่นล้าน ครอบคลุมประชาชนและคนที่เป็นลูกจ้าง-นายจ้าง ใน 9 กิจการ

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการผ่านระบบ Video Conference ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ตามที่รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เสนอ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ดังนี้

พื้นที่ไหนได้บ้าง

ความช่วยเหลือเร่งด่วน แก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด

      1. กรุงเทพมหานคร
      2. นครปฐม
      3. นนทบุรี
      4. ปทุมธานี
      5. สมุทรปราการ
      6. สมุทรสาคร
      7. นราธิวาส
      8. ปัตตานี
      9. ยะลา
      10. สงขลา

กลุ่มอาชีพได้รับการเยียวยา

กลุ่มที่ 1: 9 หมวดกิจการ 

    1. ก่อสร้าง
    2. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
    3. ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ
    4. กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ
    5. ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์
    6. ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
    7. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุ
    8. กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ
    9. ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร

กลุ่มที่ 2 : 5 กิจการของถุงเงิน 

    1. ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
    2. ร้าน OTOP
    3. ร้านค้าทั่วไป
    4. ร้านค้าบริการ
    5. กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)

มาตรการแจกเงินเยียวยา 3 หมื่นล้าน

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือคือ กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบและนอกระบบ สัญชาติไทย ใช้งบประมาณ 30,000 ล้านบาท มาจากแหล่งเงินเพื่อดำเนินมาตรการดังกล่าวจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท

ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33

  • จะได้รับความช่วยเหลือเงินจำนวน 2,500 บาท จำนวน 1 เดือน

ผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 40

  • จะได้รับความช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน

แรงงานนอกระบบ-อยู่ใน “ถุงเงิน” ทำอย่างไร

 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ได้เป็น มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40

  • ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม มาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. 64  เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน   

นายจ้าง/ผู้ประกอบการ กรณีที่มีลูกจ้าง

  • ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม มาตรา 33 ภายในเดือน ก.ค. 64  เพื่อผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คนในอัตรา 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ 

ลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง

  • ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม มาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. 64  จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน

ทั้งนี้ สำหรับแรงงาน ตามมาตรา 33 เดิมกำหนดว่าเหตุสุดวิสัย มีสิทธิ์ได้เงินทดแทนจากการว่างงาน ร้อยละ 50 ไม่เกิน 7,500 บาท ไม่เกิน 90 วัน เพิ่มเป็นได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนนายจ้างจะได้รับความช่วยเหลือสูงสุดไม่เกินจำนวนลูกจ้าง 200 คน อัตรา 3,000 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน

สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ในโครงการคนละครึ่ง-เราชนะ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมเพราะไม่มีลูกจ้าง ให้ดำเนินการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 40 เพื่อรับความช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท ด้วย 1 เดือน

บ้าน-กิจการ ได้ลดค่าไฟ ค่าน้ำ ทั่วประเทศ

สำหรับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของประชาชน ธุรกิจทั่วประเทศ ประกอบด้วย ลดค่าไฟฟ้า ให้สิทธิส่วนลดบ้านที่อยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก ขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ไม่รวมราชการและรัฐวิสาหกิจ กรณีผู้ใช้ไฟฟ้าบ้าน ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิฟรี 90 หน่วยแรก ผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดเล็ก ใช้สิทธิไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก เป็นเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.)

ค่าน้ำประปา บ้านอาศัย และกิจการขนาดเล็ก ได้ลดค่าน้ำลง 10 % เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย) โดยให้การไฟฟ้านนครหลวง การประปาภูมิภาค และการไฟฟ้าภูมิภาค ขอสนับสนุนแหล่งเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อดำเนินมาตรการไม่เงิน 12,000 ล้านบาท

มาตรการด้านการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษาฯ ลดเงินค่าบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ในภาคเรียนที่ 1/2564 เป็นกรณีพิเศษ

มาตรการช่วยลูกหนี้ธนาคาร

ให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หารือกับธนาคารพาณิชย์ ผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง โดยจะกำหนดช่องทางร้องเรียนของประชาชน กรณีสถาบันการเงินไม่ให้ความร่วมมือ และจะพิจารณาดำเนินการอื่น ๆ ต่อสถาบันการเงินดังกล่าวด้วย

เอสเอ็มอี รอครั้งต่อไป

มติ ครม. ระบุด้วยว่า มาตรการในระยะต่อไป จะให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั่วประเทศ โดยให้สภาพัฒน์ กระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลัง กำหนดรูปแบบช่วยเหลือ ตามความเหมาะสมต่อไป