ทักษิณครบ 72 ปี : เปิดเรื่องราว 5 บุคคล อายุเท่ากัน

วันเกิดโทนี่

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดปีที่ 72 ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี “ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอเรื่องราวบุคคลวัยเดียวกันกับนายทักษิณ ที่ในแวดวงการเมือง ธุรกิจ และนักเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

ทักษิณ

นายทักษิณ ชินวัตร หรือโทนี่ วูดซัม (Tony Woodsome) เกิดวันที่ 26 กรกฎาคม 2492 เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2544-2549 ดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสาร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อดีตเจ้าของและประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี ปัจจุบันอาศัยอยู่นอกประเทศและถือสัญชาติมอนเตเนโกร

ผลงานที่โดดเด่น

นโยบายการขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดความยากจนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการประกาศสงครามยาเสพติด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกจนครบวาระสี่ปี ผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปปี 2548 ทำให้ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

จากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อมาประคองเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างเสรี จำยอมต้องดำเนินนโยบายการเงินและคลังตามเงื่อนไขที่เข้มงวดของไอเอ็มเอฟ  แม้ทักษิณจะได้รับคำทัดทานว่าอาจจะทำให้ประเทศขาดสภาพคล่อง แต่ก็เร่งรัดให้มีการใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด

การชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระก่อนกำหนดถึง 2 ปี การพ้นพันธะจากไอเอ็มเอฟทำให้รัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ และไม่ต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้มีกระแสเงินเข้ามาลงทุนในภาคเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น

ปวีณา หงสกุล

ภาพจากเฟซบุ๊ก มูลนิธิปวีณาหงสกุล

เกิดวันที่ 5 กรกฎาคม 2492 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นักการเมืองสตรีชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครหลายสมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์)

ผลงานที่โดดเด่น

นางปวีณามีภาพลักษณ์ที่ทุกคนรู้จักดี คือ เป็นผู้ที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาผู้หญิงและเยาวชน โดยมีมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์) เป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมักจะมีผลงานปรากฏตามสื่อมวลชนเป็นระยะ ๆ ซึ่งบทบาทในด้านนี้ของนางปวีณาโดดเด่นมาก จนได้รับการขนานนามว่า “แม่พระ”

มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 27 เมษายน พ.ศ. 2542 มีนางปวีณาดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์การสาธารณประโยชน์) โดยมูลนิธิมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือกับเด็กและสตรีที่ถูกละเมิดสิทธิ ถูกทารุณกรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้รับความเป็นธรรมและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นปกติสุขอย่างถาวรสืบไป เป็นการช่วยเหลือรัฐบาลในฐานะพลเมืองดีอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้มูลนิธิยังได้เปิดสายด่วน “1134” และ “ตู้ ปณ.222 ธัญบุรี” เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์อีกด้วย

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม หรืออากู๋ GMM

เกิดวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินกิจการธุรกิจสื่อบันเทิงขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และประธานมูลนิธิดำรงชัยธรรม เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (ชื่อเดิมของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) ร่วมกับเรวัต พุทธินันทน์ และยังเป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนก่อตั้ง มูลนิธิดำรงชัยธรรม

ผลงานที่โดดเด่น

ใช้เงินทุน 4-5 แสนบาท จดทะเบียนก่อตั้งบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 เพื่อผลิตงานดนตรีแล้วบันทึกเพื่อจำหน่าย (ค่ายเพลง) โดยร่วมกับเรวัต พุทธินันทน์ นักดนตรีซึ่งมีชื่อเสียงในยุคนั้น ซึ่งผลงานลิขสิทธิ์ชิ้นแรกของแกรมมี่ คือการผลิตเพลงชุดมหาดุริยางค์ไทย ที่ประพันธ์โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

จากนั้นในปี พ.ศ. 2538 แกรมมี่นำบริษัทเข้าจดทะเบียน เพื่อจำหน่ายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และปี พ.ศ. 2544 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันไพบูลย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวนรวม 392,834,599 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 47.91%

อีกทั้งยังก่อตั้งมูลนิธิดำรงชัยธรรม เพื่อให้โอกาสทางการศึกษา แก่เด็กไทยที่ขาดโอกาส จนได้เป็นบัณฑิตและมหาบัณฑิต รวมทั้งส่งนักศึกษาซึ่งมีผลการเรียนดีมากส่วนหนึ่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้วย

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ภาพจากข่าวสด

เกิดวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2492 ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ด้านเรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย กวีนิพนธ์ อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นักเขียน “รางวัลศรีบูรพา” ในปี พ.ศ. 2546 เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ โดยมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายไท” ปัจจุบันเกษียณจากการเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังได้รับรางวัล “ศิษย์เก่าดีเด่นของคณะรัฐศาสตร์” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ที่โดดเด่น

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ขณะนั้นเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 เป็นหนึ่งในแกนนำของนักศึกษาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญ และขอให้รัฐบาลลาออก โดยในการเดินขบวน เสกสรรค์รับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมฝูงชน เมื่อแกนนำของผู้ชุมนุมได้เข้าเจรจากับฝ่ายรัฐบาล และบางส่วนได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เสกสรรค์เป็นผู้ควบคุมฝูงชนรอคำตอบอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จนกระทั่งถึงเวลาค่ำ ซึ่งนับว่าผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว ก็ยังไม่ทราบผลการเจรจา

เมื่อเข้ากลางดึก ฝูงชนก็เริ่มกระสับกระส่าย และเริ่มไม่ไว้ใจกันเอง บ้างถึงขนาดว่าแกนนำเหล่านั้นหักหลังพวกเดียวกันเองเสียแล้ว เสกสรรค์ก็ได้ตัดสินใจ นำพาฝูงชนเคลื่อนสู่หน้าสวนจิตรลดา เพื่อขอพึ่งพระบารมี และถึงแม้ว่าจะได้พบกับธีรยุทธ บุญมี ซึ่งเป็นแกนนำผู้ชุมนุมอีกคนที่ได้เข้าเฝ้าฯ ทั้ง 2 ได้พูดคุยทำความเข้าใจกัน และขอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมโดยสงบ แต่ถึงขณะนั้นอารมณ์ของผู้ชุมนุมก็ไม่อาจควบคุมความสงบไว้ได้แล้ว นำไปสู่เหตุการณ์ “ตุลาวิปโยค” ในวันรุ่งขึ้น

หลังจากนี้ เสกสรรค์และจิระนันท์ พิตรปรีชา ได้หลบหนีเข้าป่า เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วง พ.ศ. 2518-พ.ศ. 2523 โดยมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายไท” ในช่วง พ.ศ. 2518-พ.ศ. 2523 เสกสรรค์มีความเห็นขัดแย้งหลายประการกับกรรมการกลางของพรรค และต่อมาได้แยกตัวออกจากพรรค และเดินทางกลับเข้าเมืองและได้รับนิรโทษกรรมในเวลาต่อมาจากคำสั่งที่ 66/2523 ในขณะที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

อีกทั้งยังมีบทภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน ฉายในปี พ.ศ. 2544 กำกับโดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล โดยอิงเนื้อเรื่องจากหนังสือคนล่าจันทร์ ซึ่งเขียนร่วมกับผู้อื่น

Ivana Trump

ภาพโดย Michael Zorn/Invision/AP

อิวานา ทรัมป์ เกิดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท อิวานา โอต์ กูตูร์ (Ivana Haute Couture) ซึ่งทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าอย่างน้ำหอม, ไวน์ ไปจนถึงเครื่องประดับผ่านทางออนไลน์ โดยเธอเป็นอดีตนางแบบแฟชั่น ภริยาคนแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ และตอนวัยรุ่น ยังเป็นนักกีฬาสกีที่ลงสนามแข่งขันอีกด้วย

ทั้งนี้ อิวานา ทรัมป์ เกิดที่ประเทศเชโกสโลวะเกีย ก่อนที่จะย้ายไปที่แคนาดาเพื่อที่จะเป็นครูสอนสกี และได้มาเริ่มทำงานเดินแบบ โดยอิวานามีรูปร่างหน้าตาที่สง่างาม ทำให้ได้เป็นนางแบบที่ประสบความสำเร็จ และได้ย้ายมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อโอกาสทางการงานที่ดีขึ้น

หลังจากนั้น อิวานาก็ได้เจอกับโดนัลด์ ทรัมป์ และทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกันเหมือนกับเทพนิยาย และอิวานายังได้เป็นประธานของโรงแรมเดอะ พลาซ่า (The Plaza Hotel) ที่มหานครนิวยอร์ก ซึ่งโดนัลด์ได้ไปซื้อกิจการมาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่ปีต่อมา ทั้งโดนัลด์และอิวานาก็หย่ากัน โดยหลังจากนั้นอิวานาก็ได้ทำธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน

ผลงานที่โดดเด่น

นอกจากธุรกิจของเธอ อิวานายังเป็นเจ้าของผลงานหนังสืออีกหลายเล่ม เช่น For Love Alone (2535), Free to Love (2536) และ The Best Is Yet to Come: Coping with Divorce and Enjoying Life Again (2538) ในปี พ.ศ. 2538-2553 เธอเขียนคอลัมน์ให้กับนิตยสาร Globe ในหัวข้อความรักและชีวิต ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 เธอได้เปิดตัวนิตยสารไลฟ์สไตล์ของตัวเองในชื่อ Ivana’s Living in Style

และผลงานล่าสุดอย่างเรื่อง Raising Trump ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเธอสมัยเลี้ยงดูลูกทั้ง 3 ของเธอกับโดนัลด์ ทรัมป์, อิวานา,อีริก และโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ เธอเล่าถึงบทเรียนที่เธอสอนลูก ๆ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น

John W. Thompson

ภาพจาก Microsoft

จอห์น ดับเบิลยู ทอมป์สัน เกิดวันที่ 24 เมษายน 2492 เป็นผู้บริหารเทคโนโลยีสหรัฐ ปัจจุบันเป็นประธานของบริษัทไบโอเทคโนโลยี อิลลูมินา อิงก์ โดยก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งประธานของบริษัทยักษ์เทค “ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น” (Microsoft Corporation), อดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัท “เวอร์ชวล อินสตรูเมนตส์” (Virtual Instruments), รองประธานของบริษัทคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ “ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น” (IBM)

นอกจากนี้ ทอมป์สันยังเคยเป็นอดีตหัวหน้าผู้บริหารของบริษัทซอฟต์แวร์ “ไซแมนเทค ทอมป์สัน” (Symantec Thompson) และยังดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระในคณะกรรมการของไมโครซอฟท์

ทั้งนี้ ก่อนที่ทอมป์สันจะนั่งตำแหน่งซีอีโอของ “ไซแมนเทค” ทอมป์สันทำงานมา 28 ปีกับไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ซึ่งทอมป์สันได้เคยทำมาหลายตำแหน่ง ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงด้านการขาย การตลาด ไปจนถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์

ผลงานที่โดดเด่น

นอกจากผลงานทางธุรกิจ ทอมป์สันยังเป็นผู้สนับสนุนนโยบายของบารัก โอบามา ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี พ.ศ. 2551 ในปีต่อมา หลังโอบามาได้รับเลือกดำรงตำแหน่ง ทอมป์สันถูกเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในฝ่ายบริหารของโอบามา แต่เขาก็พลาดตำแหน่งไป และในปี พ.ศ. 2552 สภาผู้แทนราษฎร แนนซี เพโลซี แต่งตั้งเขาเป็นคณะกรรมการสอบสวนวิกฤตการณ์ทางการเงิน