ตั้งทีมพิเศษซื้อวัคซีนเพิ่ม เจรจาทุกดีลนำเข้าด่วน 20 ล้านโดส

รัฐบาลดิ้นตามล่า “วัคซีน” ลอตพิเศษเร่งด่วนเข้ามารับมือสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 “บิ๊กตู่” สั่งทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจจัดหาวัคซีนเฉพาะกิจ 20 ล้านโดส นายกฯสัมภาษณ์มอบกระทรวงต่างประเทศ พร้อมเปิดทางเอกชนทุกฝ่าย ประกาศพร้อมปลดล็อกนำเข้า ลอดช่องกระบวนการ สธ. ที่ประชุม ครม. 27 ก.ค. บิ๊กตู่สั่งการรองฯสุพัฒนพงษ์เป็นหัวหน้าทีมดีลเครือข่ายเอกชนวิ่งหา “วัคซีนทางเลือก” เพิ่มเติม วงในเผยดีลพิเศษลอตแรกที่เป็นไปได้มากสุดคือ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

เปิดทางเอกชนดีลวัคซีน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวผ่านการบันทึกเทปสัมภาษณ์พิเศษของสำนักโฆษก ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ถึงความพยายามในการเจรจากับต่างประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมว่า วันนี้ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศและภาคธุรกิจไปเจรจากับบริษัทผู้ผลิต ว่าสามารถเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ ให้ถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลอีกทาง นอกจากทางรัฐและกระทรวงสาธารณสุขจัดหา ถ้ามันดี มันได้ก็มาเข้ามาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมยินดีปลดล็อกให้นำเข้าได้ แต่ต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพและนำเข้าได้จริง

“วัคซีนสปุตนิกต้องชี้แจงว่า เราอยากได้มานานแล้ว เป็นวัคซีนหลักด้วย แต่ทางบริษัทยังไม่พร้อม ส่งเอกสารไม่ครบ ซึ่งปรับลดเอกสารไปเยอะแล้ว เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารัฐบาลไปกีดกัน เอาเฉพาะแต่ของเดิม ๆ เราเปิดรับทุกยี่ห้อ เช่น ไฟเซอร์ของสหรัฐอเมริกา เคลียร์เสียที ที่ว่ามาแล้วหายไปไหน ก็ยังไม่มา มาวันที่ 30 กรกฎาคม จะไปเก็บที่ไหน ซ่อนที่ไหนได้ อย่างนี้ต้องเข้าใจตรงกัน”

แจงปมวัคซีนแอสตร้าฯ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ยืนยันว่า เดือนสิงหาคมเรื่องวัคซีนต่อไปจะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น เท่าที่ถามดูหลายประเทศมีปัญหาเช่นกัน ในส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่สั่งจองอาจมีเรื่องความสามารถในการผลิตวัคซีนของเขา เพราะลูกค้าเยอะ เขาจำเป็นต้องตัดยอดในส่วนของเขา เพราะอย่าลืมว่าโรงงานผลิตที่อยู่ในประเทศเรา เป็นโรงงานรับผลิต รับถ่ายทอดเทคโนโลยี รับออร์เดอร์มาเท่านั้น แต่ยอดทั้งหมด บริษัทใหญ่ บริษัทแม่เป็นคนรวมยอด เรามาตั้งตรงนี้ เพราะเรามีความพร้อม และหากวันหน้าถ้าสามารถเพิ่มขีดความสามารถการผลิตได้ดีขึ้น ก็เอาวัคซีนส่วนนี้ ไม่ต้องเอาวัคซีนที่อื่นมาส่งให้อาเซียน ไม่เกี่ยวกับใครเลย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ดังนั้นการเจรจากับบริษัทผู้ผลิต รัฐบาลต้องอนุมัติส่งออก เราต้องตรวจสอบมาตรฐาน ไม่ใช่เข้ามาแล้วฉีดเลย ต้องตรวจทุกลอต สมมุติมียอดมา 5 แสน ตรวจสอบมากน้อยก็ 5 วัน ถ้าจำนวนน้อยก็เร็วกว่านั้น และทยอยส่งยอดนี้ไปก่อน แต่ยอดทั้งเดือนเท่าไหร่ก็คือเท่านั้น

“ส่วนการกระจายวัคซีน โดยพื้นฐานทุกจังหวัดได้รับการฉีด มากน้อยตามจำนวนประชากร และตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่เกิดขึ้น บางจังหวัดระบาดมากก็ต้องปรับเพิ่มเพื่อระงับการระบาดตรงนี้ก่อน ดังนั้นอย่าจับถูกจับผิดกันเลย เขาพยายามทำเต็มที่แล้ว”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนปัญหาเรื่องศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ สถานที่ข้างในไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาข้างนอก วันนี้ได้สั่งการไปแล้ว ว่าทำอย่างไรไม่ให้คนมายืนรอข้างนอก กระจายกันได้บ้างไหม แจกบัตรคิว มีการประกาศเรียกกัน อาจจัดกลุ่มคนอ้วน กลุ่มคนแก่ เพราะวันนี้เราต้องเร่งการฉีด โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องให้บริการ ไปรษณีย์ ส่งอาหาร ภาคการบริการ ไม่เช่นนั้นร้านอาหารก็แย่

ตั้งรองสุพัฒนพงษ์ ทีมหาวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ได้มีข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) หารือร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนที่มีศักยภาพเพื่อดำเนินการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมร่วมกับรัฐบาล

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมีความพยายามในการจัดหาวัคซีนโควิดเฉพาะกิจเข้ามาเพิ่มเติมแบบเร่งด่วนจำนวน 20 ล้านโดส โดยไม่ผ่านกระบวนการจัดซื้อของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นขั้นตอนการดำเนินงานที่ล่าช้า และส่วนใหญ่มีไทม์ไลน์การส่งมอบในปี 2565 แทบทั้งสิ้น โดยมอบนโยบายผ่านทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการจัดหาวัคซีนครั้งนี้

ลุ้นดีล J&J วัคซีนลอตพิเศษ

แหล่งข่าวกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเข้าใจดีว่าสถานการณ์ขณะนี้มีเพียงวัคซีนเท่านั้นที่จะช่วยรับมือการระบาดและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนในประเทศได้ โจทย์สำคัญในการจัดหาวัคซีนคือให้ทีมรองนายกฯไปศึกษารูปแบบและแนวทางจัดซื้อแบบพิเศษในเวลาเร่งด่วนที่สุด เพื่อนำมาระดมฉีดให้กับพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด และพื้นที่เมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว คาดหวังจะให้เข้ามาภายในเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถกลับมาขับเคลื่อนได้ในเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป

“จากข้อมูลศึกษาว่าในตลาดทั่วโลกยังพอมีช่องว่างในการจัดซื้อวัคซีนแบบเร่งด่วนได้ เช่น ขอเจรจากับประเทศที่มีวัคซีนเหลือเกินความต้องการของคนในประเทศแล้ว และเจรจากับตัวแทนรายใหญ่ที่มีโควตาวัคซีนอยู่ในมืออยู่แล้ว ซึ่งพบว่ามีตัวแทนในสหรัฐอเมริกามีโควตาวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) และแอสตร้าเซนเนก้าอยู่จำนวนหนึ่ง หากประเทศไทยสนใจ และตกลงในเงื่อนไขกับรายนี้ได้ พร้อมดำเนินการจัดส่งให้ได้ทันทีและถึงไทยภายใน 14-15 วัน” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ขณะนี้ดีลที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด สำหรับวัคซีนลอตแรกที่จะเข้ามาตามโมเดลรัฐร่วมมือกับเอกชนคือ วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือ J&J เนื่องจากมีข้อดีที่ฉีดเพียงแค่ 1 โดสเท่านั้น ทำให้สามารถแก้ปัญหาในช่วงเวลาเร่งด่วนได้ค่อนข้างดี ขณะที่ยี่ห้ออื่น ๆ ต้องฉีด 2 โดสและมีระยะเวลาในการฉีดโดสที่ 2 เช่นเดียวกับราคาที่หากเทียบกับยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า (2 โดส) ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ขณะที่ประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

โมเดลใหม่รัฐร่วมเอกชน

แหล่งข่าวกล่าวว่า เดิมทีรูปแบบการบริหารจัดการซื้อและนำเข้าวัคซีนของประเทศไทยนั้นต้องผ่าน 5 หน่วยงานหลักคือสถาบันวัคซีนแห่งชาติ, กรมควบคุมโรค, องค์การเภสัชกรรม, สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แต่รูปแบบการจัดซื้อในครั้งนี้รัฐบาลจะดำเนินงานภายใต้โมเดลใหม่คือ รัฐร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ 6 ในการจัดซื้อวัคซีนของประเทศ

“รัฐบาลมีแนวคิดในการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนมาเป็นระยะ มีการคุยกันมานานแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน และได้มีคำสั่งออกมาเป็นมติ ครม. ตั้งแต่เมื่อ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งให้ผ่อนคลายเรื่อง EUA Licensing สำหรับการนำเข้าวัคซีน และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรมไปดำเนินการ แต่ดูเหมือนแนวทางดังกล่าวจะล่าช้าเกินไปและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีเลยสั่งการด้วยตัวเอง” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากประกาศ ศบค.ที่ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19” ได้ระบุให้ 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมควบคุมโรค, องค์การเภสัชกรรม, สถาบันวัคซีนฯ, สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขแก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้โทรศัพท์หานายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ว่ามีพรรคพวกที่อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาส่งข้อมูลแนะนำให้ติดต่อขอวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเขามีวัคซีนเหลืออยู่ 50 ล้านโดส ซึ่งนายดอนระบุว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ แต่ว่ายังไม่เกิดผลจริงจัง


ทั้งนี้ ข้อมูล ศบค. ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2564 ระบุว่าประเทศไทยมีการจัดหาหรือดำเนินการเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส ประกอบด้วย แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส, ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส , ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส (เซ็นสัญญาเมื่อ 20 ก.ค. 2564 ) จะเข้ามาบางส่วนในไตรมาส 4 ปีนี้ และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส