บันทึกเหตุการณ์ ก่อนฟ้าสาง 6 ตุลา 19 บนหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติ

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 6 ตุลาคม 2565

ย้อนอ่านเหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์ เนื่องในวาระครบรอบ 46 ปี 6 ตุลาคม 2519 บนหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติ 

เมื่อ 46 ปีที่แล้ว ในยุคที่หนังสือพิมพ์ ถือเป็นศูนย์รวมความสนใจ และเปรียบเสมือนพยานเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกไว้

ในโอกาสครบรอบ 46 ปี 6 ตุลาคม 2519  “ประชาชาติธุรกิจ” เล่าเรื่องจาก “หนังสือพิมพ์ประชาชาติ” ฉบับเช้าวันที่ 5-7 ตุลาคม 2519 ถึงประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ การเสียเลือดเนื้อของขบวนการนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

FILE PHOTO : Matichon Information Center

เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ก่อนวันสังหารหมู่กลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการผลักดันให้คนหนุ่มสาวผู้ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่าในยุคนั้น หันหลังให้เมืองหลวง ออกไปอยู่ในป่าดงพงไพรและเข้าร่วมกระบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

“ประชาชาติธุรกิจ” ย้อนรอยเหตุการณ์ผ่านการเปิด “หน้า 1 หนังสือพิมพ์ประชาชาติ” ที่เผยแพร่ในเช้าวันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2519 เมื่อ 46 ปีที่แล้ว พาดหัวใหญ่บนหนังสือพิมพ์ประชาชาติเขียนว่า “กรีดเลือดประท้วง ‘ถนอม’ สั่งปิดธรรมศาสตร์” บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (4 ต.ค. 2519) มีผู้ชุมนุมนับหมื่นเข้าร่วมการชุมนุมท่ามกลางสายฝน รวมถึงมีการกรีดแขนประท้วง พร้อมเรียกร้องต่อรัฐบาล 2 ข้อคือ

1.ส่งจอมพลถนอม กิตติขจร ที่บวชเป็นพระขณะนั้น ออกจากประเทศ

2.ให้จับฆาตรกรที่ฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าที่นครปฐมมาลงโทษ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในวันนั้น หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับกับเอเชียวีก สื่อฮ่องกงว่า การเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่บวชเป็นพระขณะนั้น ทำให้รัฐบาลได้รับแรงสั่นสะเทือน แต่การกลับมาของพระถนอมขณะนั้น ถูกต้องตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถขับไล่ออกจากประเทศได้

“หากเราออกกฎหมายไม่ให้เขาอยู่ นั่นขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นใช้ไม่ได้” ม.ร.ว.เสนีย์ระบุ

วันเดียวกัน ในเวลา 10.00 น. ที่บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแสดงการแขวนคอที่แสดงถึงการฆาตกรรม 2 ศพที่จังหวัดนครปฐม

ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีศุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา ประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต่อต้านพระถนอมว่า “ชุมนุมได้ เคลื่อนไหวได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต”

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ศรีศุข ได้แถลงกับสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนครปฐมเป็นผู้ลงมือแขวนคอ 2 ศพ และเตรียมแจ้งจับกุมในวันสองวันถัดไป ในข้อหาร่วมกันฆ่าคน โดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ยังรายงานด้วยว่า รัฐมนตรีรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติ” ว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้มีการนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นกราบบังคมทูล และทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันเดียวกัน

FILE PHOTO : Matichon Information Center

จากการแสดงละครการแขวนคอที่แสดงถึงการฆาตกรรม 2 ศพที่จังหวัดนครปฐม เป็นหัวข้อข่าวและได้รับความสนใจอย่างมากในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519

หนังสือพิมพ์ประชาชาติพาดหัวว่า “สั่งสอบ ‘แขวนคอ’ ลานโพธิ์ ระบุภาพหมิ่นองค์รัชทายาท” โดยที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้สั่งการกรมตำรวจให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนักศึกษาที่แสดงการแขวนคอดังกล่าว

ขณะที่การชุมนุมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) กล่าวย้ำข้อเรียกร้องเดิม 2 ข้อคือ 1.ส่งพระถนอมออกจากประเทศ 2.ให้จับฆาตรกรที่ฆ่าแขวนคอที่นครปฐม

พร้อมกับมีรายงานข่าวระบุว่า การชุมนุมในต่างจังหวัดจะขยายเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งหมายถึงการลุกฮือของประชาชนด้วย พร้อมมองการชุมนุมที่เกิดขึ้นขณะนี้ว่ามีความคล้ายคลึง 14 ตุลาฯ 2516 มากขึ้นทุกที

ขณะเดียวกัน มีมติที่ประชุมกลุ่มอาจารย์อุดมศึกษา 6 สถาบัน ได้ลงมติเพื่อให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลและประชาชน ในการนำพระถนอมออกนอกประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในประเทศ จึงเห็นควรให้สถาบันการศึกษาเลื่อนการสอบออกไป

นายนิพนธ์ ศศิธร รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ กล่าวกับ “หนังสือพิมพ์ประชาชาติ” ว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินการในทางใดทางหนึ่งให้เกิดผลทางการปฏิบัติแน่ชัดแล้ว จะต้องเกิดความวุ่นวายในประเทศ รวมถึงตำหนิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ว่าไม่รีบดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมย้ำให้นายกรัฐมนตรีเลือกว่าให้พระถนอมออกจากประเทศไทย หรือ ให้อยู่ต่อไป แล้วดำเนินคดี

วันเดียวกัน (5 ต.ค. 2519) เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชทานวโรกาสให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามบทพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517

ขณะที่รายงานข่าวจากคณะกรรมการสอบสวนคดีการแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม ระบุว่า (6 ต.ค. 2519) อาจจะมีการจับกุมผู้ต้องหาในวันนั้นด้วย เนื่องจากอยู่ระหว่างรอหลักฐานการพิสูจน์บางอย่าง ซึ่งมีผู้ที่อยู่ในข่ายการจับกุมทั้งสิ้น 7 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐมทั้งสิ้น

โดยใน 7 คน มียศเป็นนายสิบตำรวจ 1 คน สิบตำรวจโท 5 คน และพลตำรวจตรี 1 คน เป็นตำรวจสายตรวจที่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในจังหวัดนครปฐม

FILE PHOTO : Matichon Information Center

เหตุการณ์ตึงเครียด “รุ่งสาง วันที่ 6 ตุลาคม 2519” เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ถูกบันทึกในหน้าหนังสือพิมพ์ในรุ่งเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2519

หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศไทย ในเช้าวันพฤหัสบดี 7 ตุลาคม 2519 ได้รายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

รวมถึงหนังสือพิมพ์ประชาชาติได้พาดหัวตัวใหญ่ว่า “ตำรวจยิงนักศึกษาฆ่า-เผา” พร้อมทั้งไล่เรียงเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มจนจบวัน

โดยรายงานไว้ว่า เหตุการณ์เริ่มในเวลา 01.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของกรมตำรวจได้ร่วมประชุมกันที่กรมตำรวจ โดยมีพลตำรวจเอกศรีศุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธาน ภายหลังใช้เวลาในการประชุมชั่วโมงเศษ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคนได้เดินทางไปดูเหตุการณ์บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวลา 02.35 น. ได้มีคำสั่งจาก น.4 ไปยังผู้บังคับการเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลใต้และนครบาลธนบุรี ให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารักษาการณ์ในท้องที่

เวลา 03.00 น. กรมตำรวจได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษไปตรึงกำลังหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงสั่งให้เรือดับเพลิง เรือเปิดหัวไปลอยลำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วัดระฆังถึงสะพานพระปิ่นเกล้า

เวลา 04.00 น. รายงานระบุว่า มีเสียงปืนบริเวณด้านนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังขึ้นเป็นระยะ ๆ

เวลา 05.50 น. เกิดเสียงระเบิดดังขึ้นบริเวณทางด้านขวามือของเวทีปราศรัย ซึ่งอยู่บริเวณสนามฟุตบอลห่างจากเวทีประมาณ 30 เมตร ส่งผลให้นักศึกษาที่อยู่บริเวณนั้นได้รับบาดเจ็บทันที 16 คน และสาหัสอีก 4 คน หลังจากที่มีเหตุการณ์ระเบิดขึ้น นักศึกษาได้เริ่มกระจายเข้าไปหลบข้างอาคารเรียน ล้อมมหาวิทยาลัยเป็นจุด ๆ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแม่นปืนคอยอยู่ตามรั้ว

เวลา 05.52 น. ประชาชนประมาณ 2 พันคน พยายามบุกเข้าไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่ถูกกั้นด้วยบังเกอร์

เวลา 06.00 น. มีผู้นำรถเตรียมพุ่งชนประตู แต่ตำรวจได้ห้ามไว้

เวลา 06.14 น. นักศึกษายืนออริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เวลา 06.21 น. นักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บ พยายามออกประตูด้านพระปิ่นเกล้า แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ออก

เวลา 06.27 น. นำส่งนักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บจากระเบิด 2 คน ใส่เปลออกทางท่าพระจันทร์ ไปโรงพยาบาลศิริราช

เวลา 06.32 น. มีการยิงต่อสู้กัน ด้านประตูหอประชุมใหญ่

เวลา 06.36 น. มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 1 นาย

เวลา 06.37 น. มีนักศึกษายิงเรือตำรวจ แต่มีคำสั่งให้นำเรือออกห่าง ไม่ให้ให้ยิงตอบโต้

เวลา 06.39 น. ยังมีเสียงปืนดังเป็นระยะ

เวลา 06.45 น. เจ้าหน้าที่บริเวณด้านสนามหลวง ได้โหมกระหน่ำยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยอย่างหนัก

เวลา 06.51 น. มีการทุบกระจกด้านท่าพระจันทร์ (ตึกบัญชี)

เวลา 06.55 น. มีการยิงปืนบริเวณด้านหน้าสนามหลวง

เวลา 06.55 น. สุธรรม แสงประทุม ออกไปพบนายกรัฐมนตรี

เวลา 07.04 น. ห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงต่อสู้ ให้อยู่ในที่กำบัง

เวลา 07.10 น. มีเสียงระเบิดดังจากธรรมศาสตร์

เวลา 07.16 น. มีตำรวจหลายนายได้รับบาดเจ็บ

เวลา 07.25 น. ใช้รถดัมพ์บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สำเร็จ แต่คนที่อยู่ภายในได้ยิงปืนสวนออกมา

เวลา 07.26 น. นายสุธรรม แสงประทุม และกรรมการศูนย์ฯ 5 คนออกไปพบนายกรัฐมนตรี ที่ สร.1

เวลา 07.26 น. นิสิตจุฬาฯ จำนวน 2 พันคน เปิดอภิปรายโจมตีตำรวจที่ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลา 07.30 น. ผู้ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้พังรั้วลวดข้างตึกศิลปศาสตร์ แล้วรุกล้ำไปยังด้านท่าพระจันทร์ โดยมีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่เดินเลาะเลียบไปได้ถูกยิงสกัดจากวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่อยู่บนริมฝั่ง นักศึกษาต้องล่าถอย ลอยคอข้ามแม่น้ำไปขึ้นฝั่งตรงข้าม

ในเวลาเดียวกันมีรถพยาบาลขอเข้าไปรับคนเจ็บในธรรมศาสตร์ แต่เจ้าหน้าที่ได้ห้ามปราม ไม่ยอมให้เข้าไป กระทั่งประชาชนที่ยืนอยู่บริเวณนั้นได้ประท้วง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตรวจค้นและให้ผ่านเข้าไปได้

เวลา 07.31 น. นักศึกษา 200 คนถูกควบคุมตัวในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวลา 07.50 น. มีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นทางท่าช้าง ทิศเหนือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวลา 08.00 น. มีตัวแทนนักศึกษาขอเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อส่งคนเจ็บส่งโรงพยาบาล แต่ไม่ได้รับการอนุญาต รวมทั้งนักศึกษาขอส่งตัวแทนไปเจรจากับรัฐบาล พลตำรวจโทประยูร โกมารชุน ณ นคร รองผู้บังคับการตำรวจนครบาลเหนือ ไม่อนุญาตให้ออก

อย่างไรก็ตาม ช่วงหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยอมให้รถบรรทุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อนำคนเจ็บส่วนหนึ่งออกมา จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มขยายการยึดพื้นที่ ถึงมหาวิทยาลัยศิลปากรด้านท่าช้างวังหลวง

เวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวนายสุธรรม แสงประทุม พร้อมเพื่อนอีก 3 คน ไปกองปราบปรามสามยอด โดยพลตำรวจเอกศรีสุขได้มีคำสั่งให้ควบคุมและสั่งขังนายสุธรรมทันที

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดอาวุธปืนพกขนาด .18 ของนายสุธรรมไว้ได้ด้วยก่อนเข้าห้องขัง ขณะที่นายสุธรรมได้กล่าวกับสื่อมวลชนเพียงสั้น ๆ ว่าตนจะเข้าไปขอพบนายกรัฐมนตรีที่บ้าน เพื่อขอให้คลี่คลายสถานการณ์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมก่อน เขารู้สึกเสียใจที่ได้ขอติดต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อคลี่คลายปัญหาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ทำไมถึงมาจับกุมโดยไม่รู้ตัว

เวลา 08.30 น. สถานีวิทยุ ท.ท.ท. รายงานว่า ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวร หัวหิน เสริมกำลังบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบศพนักศึกษา 7 ศพ ด้านหอประชุมใหญ่ ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ได้แตกกระจาย หนีออกไปทางด้านท่าช้างวังหลวง

เวลาเดียวกัน ในพื้นที่การยิงด้านท่าพระจันทร์ขยายตัวขึ้น ได้มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นเสียงสะท้อนจากที่สูง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ด้านท่าพระจันทร์เข้าใจว่าอาจจะถูกนักศึกษาลอบยิง

เวลา 08.35 น. ผู้กำกับฯ วสน. ถือปืน เอช.เค. ติดกล้องยิง มาร่วมยิงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านท่าพระจันทร์ด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจถือวิทยุคอยรายงานอยู่ใกล้ชิด

นักศึกษาขนคนเจ็บออกมาทางท่าพระจันทร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมให้ผ่านโดยดี นักศึกษาส่วนหนึ่งกระโดดลงน้ำมาขึ้นที่โป๊ะด้านท่าพระจันทร์

เวลา 08.40 น. สถานีวิทยุ ท.ท.ท. รายงานเพิ่มเติมว่า การปะทะนอกจากทำให้นักศึกษาบาดเจ็บแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและช่างภาพสำนักข่าว ถูกยิงด้วยปืนลูกซองจากนักศึกษาด้วย

เวลา 08.45 น. ชาวบ้านที่อยู่บริเวณท่าพระจันทร์ขึ้นไปยืนอยู่บนหลังคาเพื่อมองดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้เกิดความเบาใจ แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจว่า นักศึกษาคงจะไม่มีอาวุธร้าย

เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามจราจลได้นำกำลังพลกระทิงแดงจำนวนหนึ่งบุกพังทลายเข้าไป แต่ถูกโต้กลับอย่างรุนแรงประมาณ 15 นาที เจ้าหน้าที่กลุ่มกระทิงแดงบาดเจ็บสาหัส 1 คน เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนิ้วขาดกระจุย

ขณะที่พื้นที่การยิงด้านท่าพระจันทร์ขยายตัวมากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้กำกับศูนย์ร่วมข่าวสารวิทยุนครบาลถือปืน เอช.เค. ติดลำกล้องคอยจ้องยิง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจถือวิทยุรายงานอยู่ใกล้อย่างใกล้ชิด

เวลาเดียวกัน ที่ประชุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ได้มีการประชุม ได้ตกลงข้อหาแก่นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยกับพวก 6 คน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  รวมถึงได้สั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ

สำหรับข้อหาที่ตั้งแก่นายสุธรรมและพวก ตามมาตรา 112 นั้นระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี” โดยอยู่ในหมวดความผิดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

เวลา 09.10 น. หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ากวาดล้างแล้ว ได้ยิงปืนเข้าไปบนหน้าหอประชุมธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะเปิดประตูเข้าไปเพื่อตรวจค้น หลังจากนั้นก็มีคนงาน และพ่อค้าแม่ค้าที่หลบซ่อนตัวอยู่ในบริเวณนั้นถูกควบคุมตัวไว้ 6 คน แต่ก็มีนักศึกษาอีก 3 คน ที่ถูกกระชากตัวออกมา แล้วกลุ่มผู้ที่ชุมนุมหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เข้าซ้อมและตีด้วยไม้เลือดโกรก บางคนถูกรุมกระทืบจนสลบ

เวลา 09.26 น. นิสิตจุฬาฯ 2 พันคนเปิดปราศรัยโจมตีที่ตึกจักพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลา 09.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนและเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปราบปรามพิเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ก็ยิงปืนเคลียร์ตึกบัญชีและนำนักศึกษาประชาชนที่หลบภัยอยู่บนนั้น 700 คน ซึ่งทั้งชาย-หญิง บางคนก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส

เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ทุกคนถอดเสื้อและนอนลงบนสนามฟุตบอล แม้แต่นักศึกษาหญิงก็ต้องถอดเสื้อ เหลือแต่เสื้อชั้นใน นอนคว่ำหน้า โดยพันตำรวจโทสล้าง บุนนาค เดินตรวจตรา และขู่ตะคอกบ้าง เตะบ้าง กระทืบบ้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนก็คำรามว่า อยากจะยิงทิ้งเจ้าหน้าที่ลูกเสือคนหนึ่ง เข้าใจว่าจะเป็นอาจารย์ สั่งเก็บพระที่ห้อยคอโดยให้ทุกคนส่งให้

จากนั้นมีนักศึกษาแพทย์สองคนจะเดินเข้าไปเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แต่ถูกพันตำรวจโทสล้างไล่ออกมา แม้ว่านักศึกษาแพทย์สองคนนั้นจะบอกว่ามาจากโรงพยาบาลศิริราชก็ตาม

หลังจากนั้นปรากฏว่ามีแพทย์สองคนเดิม และนายแพทย์อีกคนเดินเข้าไปในบริเวณกลางสนาม เพื่อเข้าขอดูอาการผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ถูกพันตำรวจโทสล้างไล่และผลักอก และบอกว่าไม่เอาหมอจากมหิดล

“ผมไม่ให้เข้ามายุ่ง ทีพวกผมถูกยิงไม่เห็นมากัน” นายแพทย์ผู้นั้นชี้แจงว่า ตนเป็นนายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ พันตำรวจโทสล้างจึงขอโทษ แต่นายแพทย์นั้นบอกว่า “คุณมาผลักอกผมอย่างนี้ก็ไม่ดี”

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้แพทย์จากโรงพยาบาลเข้าช่วยเหลือ แต่ให้นำคนเจ็บขึ้นรถพยาบาลโดยมีตำรวจเอาตัวขึ้นรถไป

เวลา 09.42 น. บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร มีปืนกลยิงออกมาเป็นชุด ๆ

เวลา 09.44 น. มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถอยออกมา ประจำที่ปิ่นเกล้า

เวลา 09.45 น. กระทิงแดงจำนวน 20 คน นั่งรถบรรทุกเล็กไปที่หน้าหอพักนิสิตจุฬาฯ ขณะนั้นมีนิสิตจุฬาฯ เดินอยู่บริเวณหน้าหอพัก จึงถูกสมาชิกกลุ่มกระทิงแดงดังกล่าวกลุ้มรุมทำร้าย

ที่วัดบวรนิเวศฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด.เข้าเคลียร์พื้นที่ในวัดบวรฯ ลูกเสือชาวบ้านรายล้อมวัดไว้หมดรอบด้าน

เวลา 09.52 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการได้ใกล้แล้วเสร็จ แต่ยังมีการปะทะประปราย

ทางด้านในวัดมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หน่วยดับเพลิง เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลทุกจุดภายในวัด โดยเฉพาะกุฏิพระถนอม มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รายล้อมเป็นจุด ๆ พร้อมทั้งรถดับเพลิงและเครื่องสูบน้ำตั้งไว้เป็นจุดทั่วทั้งวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจดับเพลิงเตรียมที่ทางไว้พร้อม

ที่สนามหลวงมีการนำเอาศพแขวนที่ต้นมะขามหน้าประตูหอใหญ่อย่างทารุณสยดสยอง หลังจากนั้นลากศพมากลางถนนเผา คนฮือฮาไปดู

นายแคล้ว นรปติ หัวหน้าพรรคแนวร่วมสังคมนิยม เปิดเผยว่า “เหตุมาจากทรราชถนอมแต่เพียงผู้เดียว ผลจึงทำให้มีคนตายมากมาย รัฐบาลก็ไม่พยายามที่จะแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ นั่งดูเฉย ๆ รอคอยให้คนตายมากขึ้น”

นายแคล้วกล่าวว่า การที่รัฐบาลปล่อยให้สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศเรียกร้องอย่างบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการสร้างให้สถานการณ์เครียดขึ้น รัฐบาลถ้าไม่รู้เห็นเป็นใจก็แสดงว่าไม่มีน้ำยา

เวลา 09.50 น. รถพยาบาลจากสภากาชาดเริ่มไปรับคนเจ็บในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านท่าช้างมีเสียงปืนยิงรัวขึ้นฟ้า ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจว่านักศึกษาลอบยิง และเป็นที่น่าสังเกตว่าเสียงปืนดังขึ้นบ่อยครั้ง

สำหรับนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกมาด้านท่าพระจันทร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจให้นอนอยู่กับพื้นที่ด้านวัดมหาธาตุ และให้ทยอยมาขึ้นรถทีละ 20-70 คน นำไปคุมตัวไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน

เวลา 09.52 น. มีคนเข้าไปในหอพักนักเรียนท่ามหาราช

เวลา 09.57 น. มีรายงานว่า นักศึกษา 20 คน มีอาวุธหนีเข้าไปในหอพักหญิง (เรือนแพ) มหาราช

เวลา 10.00 น. ได้มีนักศึกษาออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีกลุ่มกระทิงแดงอยู่บริเวณภายนอกกลุ้มรุมทำร้าย และกระทืบ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษยืนดูอยู่นักศึกษาชายจำนวน 2 คน ถูกจับกุมนำไปแขวนคอที่ต้นจามจุรี โดยมีนักศึกษาหญิงถูกถอดเสื้อผ้าแล้วยิงซ้ำ

ที่สนามหลวง กลุ่มกระทิงแดงและนวพล รวมทั้งลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้นำศพคนตาย 2 ศพออกมากกระทืบที่สนามหลวง จนสภาพศพยับเยิน

เวลา 10.30 น. ที่ประชุมสภาคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ลงมติร่วมกัน 3 ประการคือ

1.ให้รัฐบาลดำเนินการกับสถานีวิทยุยานเกราะ และให้ยุติการเสนอข่าวอย่างสิ้นเชิง
2.ให้รัฐบาลยุติการใช้อาวุธปราบปรามนักศึกษา ประชาชน
3.ให้รัฐบาลออกแถลงการณ์ตามความเป็นจริง

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 09.30-10.40 เจ้าหน้าที่เริ่มควบคุมนักศึกษาและนำตัวมารวมกันที่บริเวณสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัย

เวลา 10.37 น. สามารถควบคุมนักศึกษา 20 คน พร้อมอาวุธที่หนีเข้าไปในหอพักหญิง (เรือนแพ) มหาราช ได้ทั้งหมด

เวลา 10.42 น. มีศพ 2 ศพถูกเผาโดยใช้น้ำมันราดที่หน้าศาลอาญา

เวลา 10.45 น. ประชาชนจะรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาที่ท่าช้าง

เวลา 10.45 น. พลตำรวจโทชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ให้สัมภาษณ์ว่า การส่งเจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่ในธรรมศาสตร์เกือบเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงตึกโดมกับตึกบัญชีเท่านั้น

พร้อมกล่าวอีกว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดแล้วก็จะต้องตรวจสอบความเสียหาย นักศึกษาที่ถูกจับทั้งหมดมีประมาณ 250 คน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าคุมตัวไว้ที่ไหน เพราะเกรงจะมีคนไปรุมประชาทัณฑ์

ทางด้านพลตำรวจเอกศรีศุข มหินทรเทพ ได้ออกคำสั่งไปยังผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ให้ตั้งด่านตรวจค้นอาวุธกับรถโดยสารทุกคันที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

เวลา 10.49 น. พบศพ 2 ศพที่ประตูด้านเชิงสะพานปิ่นเกล้า

เวลา 10.49 น. ประชาชนเข้ามาในสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวลา 10.50 น. มีผู้นำศพ 4 ศพไปเผากลางถนนราชดำเนิน

เวลา 10.51 น. เรือตำรวจน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาถูกยิงจากตึกโดม

เวลา 11.11 น. ทราบว่ามีห้องใต้ดินในตึกโดมและองค์การนักศึกษาในหอประชุมมีห้องเก็บพัสดุ

เวลา 11.15 น. ยังคงมีการยิงกันอยู่จากตึกโดมลงแม่น้ำและหอประชุมออกมายังสนามหลวง

เวลา 11.21 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมเคลียร์ทุกจุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวลา 11.50 น. วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หน่วยเคลื่อนที่จากทำเนียบรัฐบาลประกาศว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชาการให้ตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามเหตุร้าย ที่ทำเนียบรัฐบาล และจะมีแถลงการณ์ออกเป็นระยะ ๆ รวมถึงให้สถานีทุกแห่งถ่ายทอด

3 นาทีถัดมา วิทยุรัฐบาลประกาศว่า รัฐบาลได้สั่งการปราบปรามผู้ทำผิด นักศึกษาจำนวนหนึ่งออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางด้านประตูท่าพระจันทร์ ประมาณ 200-300 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้นักศึกษาหมอบลงทุกคน แล้วให้ลุกขึ้นเดินไปขึ้นรถเมล์เป็นชุด ชุดละ 50 คน พร้อมทั้งนำไปควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม

ขณะบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ช่วงใกล้เที่ยง นายอุทิศ นาคสวัสดิ์ ศาสตราจารย์ ประจำแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อ่านข้อเสนอของกลุ่มลูกเสือชาวบ้านและประชาชนที่รวมตัวอยู่ในขณะนั้นให้รัฐบาลจัดการ 4 ข้อภายในเวลา 14.00 น.

1.ให้ปลดนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายชวน หลีกภัย และนายวีระ มุสิกพงศ์ ออกจากทุกตำแหน่งในขณะนี้ และให้ดำเนินคดีข้อหาสนับสนุนศูนย์นิสิตฯ
2.ให้เอานายสมัคร สุนทรเวช นายสมบัติ ศิริธร กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย
3.ให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการศูนย์นิสิตฯ และนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4.ให้นำพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์มาใช้โดยเคร่งครัด

เวลา 19.30 น. นายมงคล สิมะโรจน์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายการโยธา ได้ไปที่ชุมนุม ที่บริเวณหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของนิสิตจุฬาฯ และขอร้องให้มีการสลายตัว แต่ไม่ได้ผล ซึ่งนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกองค์การนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไป เพราะที่มหาวิทยาลัยมหิดลก็มีการชุมนุม เกรงว่าจะมีการฉวยโอกาสทำลายพลังนักศึกษา

สงครามกลางเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานในตอนนั้นว่า การเกิดเหตุช่วงรุ่งอรุณ (6 ต.ค. 2519) นั้น มีเสียงปืนดังขึ้นรอบมหาวิทยาลัย คล้ายกับสงครามการเมือง โดยมีเสียงปืนเป็นชุด ๆ และมีเสียงตอบโต้ด้วยปืนลูกซองจำนวน 5 นัด สลับไปมา

การต่อสู้เป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้น เมื่อกลุ่มกะทิงแดงจำนวนหนึ่งระดมยิงไปยังนักศึกษาที่อยู่บริเวณหอประชุมใหญ่ แต่ถูกตอบโต้ด้วยปืนลูกซองและปืนกล จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มกระจายกำลังไปโดยรอบมหาวิทยาลัย ด้านนักศึกษาได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดยิง

เสนีย์สั่ง “ตะลุย” ก่อนฟ้าสาง

ขณะที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยสีหน้าไม่ดีถึงเหตุการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ด้วยสีหน้าไม่สู้ดีว่า “เวลานี้มีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตั้งพนักงานสอบสวนและพร้อมที่จะทำงานได้แล้ว”

จับ 5 ตำรวจ “ฆ่าแขวนคอ” นครปฐม

ในรายงานระบุว่า เวลา 08.00 น. โดยประมาณของวันเดียวกัน พันตำรวจเอกสมบุญ ทรัพย์ประเสริฐ รองผู้บังคับการกองกำกับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคที่ 1 ได้แจ้งข้อหาตำรวจสถานีตำรวจอำเภอเมือง 5 นายคือ สิบตำรวจเอกชลิต ใจอารีย์ หัวหน้าสายตรวจ สิบตำรวจโทยุทธ์ คุ้มพะเนียด สิบตำรวจตรีเธอเนศ ลัดดากรม สิบตำรวจตรีแสงหมึก แสงประเสิรฐ และพลฯสมศักดิ์ แสงขำ ในข้อหาฆ่าคนตาย 2 คนคือ นายชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกตุสีพงษา

พันตำรวจตรีตรึก สุทธจิตร ผู้บัญชาการกองกำกับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคที่ 1 แถลงว่า ปรากฏหลักฐานแน่ชัดแล้วว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวทำเช่นนั้นจริง จึงได้จับกุมและจับแยกขังในอำเภอต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหามีโอกาสได้ปรึกษากัน


เหล่านี้เป็นบันทึกเหตุการณ์ผ่านการรายงานข่าวของ “หนังสือพิมพ์ประชาชาติ” ในเวลานั้น ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2519 จากปมการชุมนุมของนักศึกษา ข้อเรียกร้องของ ศนท. สู่การปราบปรามนิสิต นักศึกษา และผู้ชุมนุมจากกลุ่ม “กระทิงแดง” และ “เจ้าหน้าที่รัฐ” เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ที่เมื่อเวลาผ่านมาถึง 46 ปี ใน พ.ศ. 2565 ถูกพูดถึงและจดจำ เพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าโดยไม่กลับไปสร้างโศกนาฏกรรมซ้ำเดิมอีก