ชูศักดิ์แย้งศาลรัฐธรรมนูญ ไพบูลย์โมเดล ทำให้ระบบพรรคการเมืองถดถอย

ชูศักดิ์ ศิรินิล

“ชูศักดิ์” ฟันธง “ไพบูลย์โมเดล” ทำการเมืองถดถอย เห็นแย้งศาลรัฐธรรมนูญ ชี้การตั้งพรรคต้องใช้ผู้ร่วมจัดตั้งไม่น้อยกว่า 500 คน แต่การเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปกลับใช้แค่ 16 คน ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

วันที่ 22 ตุลาคม 2564 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นแตกต่างจากศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ จากกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรค 16 คน จาก 24 คน ขอเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูป และไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐนั้น

นายชูศักดิ์ระบุว่า ขอให้ความเห็นในเชิงวิชาการและมุมมองต่อการปฏิรูปการเมืองไทย เมื่อได้อ่านสาระสำคัญของคำวินิจฉัยซึ่งไม่เป็นเอกฉันท์แล้ว ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในบางประเด็นโดยเฉพาะประเด็นสำคัญ คือการที่พรรคประชาชนปฏิรูปเลิกพรรคการเมืองของตนตามข้อบังคับพรรคและนายไพบูลย์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคและเป็น ส.ส.ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐได้

ซึ่งศาลเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับพรรค และเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น น่าจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

เพราะ 1.รัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติถึงเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยกำหนดว่ากฎหมายพรรคการเมืองจะต้องกำหนดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัคร กฎหมายพรรคการเมืองจึงได้กำหนดการมีส่วนของสมาชิกพรรคตั้งแต่การที่ต้องมีผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 500 คน

การจะต้องมีสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด การส่งผู้สมัครจะต้องผ่านกระบวนการไพรมารีโหวต การประชุมใหญ่ของพรรคจะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 250 คน เป็นต้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดถือว่าได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ แต่ข้อเท็จจริงของการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปนั้น ทำโดยกรรมการบริหารพรรคเพียง 16 คนจากทั้งหมด 24 คน โดยสมาชิกพรรคที่เสียค่าบำรุงพรรคและช่วยกันรณรงค์หาเสียง เพราะยึดมั่นในนโยบายและอุดมการณ์ของพรรค กลับไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยเลย

“จึงเห็นว่าข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป ที่กำหนดให้พรรคเลิกกันโดยให้อำนาจคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีมติเลิกพรรคการเมืองนั้น น่าจะไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง”

2.เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 96 มาตรา 97 และมาตรา 98 ที่กำหนดห้ามมิให้มีการควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุของสภาฯ และการควบรวมพรรคการเมือง จะทำได้เฉพาะเป็นการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่เท่านั้น

นอกจากนี้การควบรวมพรรคการเมืองจะต้องทำโดยที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง จะเห็นได้ว่าที่กฎหมายห้ามมิให้มีการควบรวมพรรคการเมืองระหว่างอายุของสภา ก็เพื่อป้องกันปัญหาที่จะมีการซื้อตัว ส.ส.หรือการย้ายข้างทางการเมืองอันจะทำให้เกิดปัญหาในสภา และการควบรวมพรรคยังต้องทำโดยที่ประชุมใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยสาขาและตัวแทนสมาชิก

แสดงว่าหากจะเลิกพรรคการเมืองก็ควรจะให้สมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน เพราะเขามีส่วนร่วมในการตั้งพรรคมา การตีความกฎหมายจึงต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมายด้วย แม้การเลิกกันของพรรคประชาชนปฏิรูปจะมิใช่เป็นการควบรวมพรรคการเมืองโดยตรง แต่ผลของการกระทำก็ไม่แตกต่างกัน คือการเลิกพรรคของตนเพื่อไปร่วมกับพรรคการเมืองอื่น

“ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำเช่นนี้ทำได้ ต่อไปก็จะมีพรรคการเมืองอื่นใช้วิธีการเลิกพรรคตนเอง และก็ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นหมด ซึ่งตนเห็นว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ได้ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองเลย แต่เปิดช่องให้พรรคการเมืองหาข้ออ้างเพื่อเลิกพรรคตนเอง และหันไปซบพรรคที่มีอำนาจทางการเมืองแทน อันเป็นการถดถอยของระบบพรรคการเมือง” นายชูศักดิ์ กล่าว