ยกครัวบ้านใหญ่ “รัตนเศรษฐ” เปลี่ยนผู้คุมเสียง เสี่ยงรัฐบาลปริ่มน้ำ

ปรากฏการณ์ “ยกครัว” ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ประทับรับฟ้อง “คดีทุจริตสนามฟุตซอล”

3 ชีวิต “บ้านใหญ่รัตนเศรษฐ” ต้องเผชิญกับวิบากกรรม “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรค-มือกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นโรคซึมเศร้า-ถอนใจด้วยน้ำเสียงยอมจำนน “ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้”

“รัฐมนตรีก๊วนบ้านป่ารอยต่อ” บอกว่า “ยังไงก็ต้องโดน ป.ป.ช.สั่งอัยการสูงสุดสั่งฟ้องไปแล้ว ช่วยตั้งแต่ ป.ป.ช. แต่ช่วยไม่สำเร็จ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สำนวน “วิรัชและครอบครัว” ในคดี “ใบโควตา” ใช้เวลาอยู่ในชั้นอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.กว่า 7 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ถึงวันที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 6 สิงหาคม 2562

เป็นยุคที่มี “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง-หน้าห้อง พล.อ.ประวิตร ในยุครัฐบาล คสช.เป็นประธาน ป.ป.ช.

Advertisment

“ตัวเต็ง” ที่จะเป็น “ตัวตายตัวแทน” วิรัช เป็น “ผู้คุมเสียง” ถูก “ชูขึ้นมาเชือด” 5 ชื่อ ได้แก่ 1.นายนิโรธ สุนทรเลขา 2.นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์

3.นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี และ 5.นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง 5 คนสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

Advertisment

ชื่อ “ว่าที่ประธานวิปรัฐบาล” แม้ “พล.อ.ประวิตร” จะเป็น “คนเลือก” แต่ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องเป็น “คนเซ็น” ร่อนตะแกรงจาก “ตึกไทยคู่ฟ้า” ก่อน

สุดท้ายคนที่ “เข้าวิน” คือคนที่ถูก “ล็อกสเป็ก” เป็น “สายตรง” 3 ป. ทั้ง พล.อ.ประวิตร-พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพื่อไม่ให้ “เสียงสะบัด” เหมือนที่ผ่านมาในการโหวตกฎหมายสำคัญ-การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเดิมพันด้วยการยุบสภา

แกนนำระดับคีย์แมนกลุ่มสามมิตรรายหนึ่งมั่นใจว่า ในสภาวะสุญญากาศ-ขาดผู้ควบคุมเสียง ไม่กระทบต่อการคุมเสียงในสภา แต่ได้ทิ้งปริศนาไว้ว่า การคุมเสียงในสภาไม่ให้แตกแถว ไม่ได้อยู่ที่ประธานวิปรัฐบาล-เกาไม่ถูกที่คัน

“ใครมาเป็นประธานวิปรัฐบาลก็เหมือนกัน คนที่ได้มาต้องมีคุณภาพอยู่แล้ว ส่วนเสียงขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่มีเสถียรภาพในสภาจะดีขึ้นหรือไม่คนละประเด็นกัน”

“ไผ่ ลิกค์” รองเลขาธิการพรรค-มือขวา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าไม่กระทบต่อเสียงในสภา ถึงแม้ว่า ส.ส.ฝ่ายพรรครัฐบาลจะหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นใบไม้ร่วง แต่ยังมี “แต้มตุน” ไว้กว่า 40 เสียง

“ยังไหว ประธานวิปรัฐบาลเปลี่ยนตัวก็ยังทำงานกันได้ พลังประชารัฐยังมีคนเก่ง ๆ อีกเยอะ ไม่มีปัญหา ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานวิปรัฐบาล เราก็ต้องทำงานกันได้”

“เสียงฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลยังห่างกันอยู่เกือบ 40 เสียง ยังห่างอีกเยอะ”

นอกจากวิรัช-เมีย-น้องเมีย 3 ส.ส.เสียงพรรคพลังประชารัฐ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ยังมี 1 เสียงจากพรรคภูมิใจไทย “สำลี รักสุทธี” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยคุณสมบัติและสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายสำลีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ส่วนจะเป็น “คดีเก่า” ที่ศาลพิพากษา “รอลงอาญา” ไปแล้วเมื่อ 32 ปีที่แล้ว กรณีข้อพิพาทกับสถานบันเทิงใกล้บ้านพักที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งศาลสั่งจำคุก 5 ปี รอลงอาญา 3 ปี หรือกรณี “คลิปเสียง” รับเงินย้ายพรรค ยังฝุ่นตลบ-โต้พัลวัน

ก่อนหน้ามี ส.ส. 8 คนที่อยู่ใน “ลิสต์หยุดปฏิบัติหน้าที่” จากคดี “ม็อบ กปปส.” 4 คน ได้แก่ 1.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพลังประชารัฐ 2.นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา 3.นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร และ 4.นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อประชาธิปัตย์

คดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องในคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พลังประชารัฐ

คดีเสียบบัตรแทนกัน ศาลฎีกาได้มีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2564 ที่ ป.ป.ช.ยื่นร้อง น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พลังประชารัฐ

ล่าสุดศาลฎีกาว่าได้มีคำสั่งรับคำร้องคดีหมายเลขดำที่ คมจ.3/2564-คดีเสียบบัตรแทนกันอีก 1 คดี 2 คน ได้แก่ 1.นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง และ 2.นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง จากพรรคภูมิใจไทย

ปัจจุบันมี ส.ส.สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมดขณะนี้ 476 คน (ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิ 11 คน คดียุบพรรค) ดังนั้น คะแนน “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ในการลงมติคือ 238 เสียง

หากย้อนกลับไปคะแนนลงมติไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด-วันที่ 4 กันยายน 2564 ซึ่ง ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ขณะนั้นคือ 482 เสียง คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งคือ 242 เสียง

โดยผลของมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนั้น แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะได้คะแนนไว้วางใจ “เกินกึ่งหนึ่ง” หรือ 242 คะแนน แต่กลับได้คะแนนไว้วางใจ “รองบ๊วย” หรือได้เกินครึ่งเพียง 22 คะแนน และได้คะแนนไม่ไว้วางใจ “มากที่สุด”

ย้อนไปไกลกว่านั้นในการอภิปรายรอบที่ 1 เมื่อวันที่ 24-27 กุมภาพันธ์ 2563 ลงมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 พล.อ.ประยุทธ์ได้เสียงไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 49 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 เมื่อ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 และลงมติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 พล.อ.ประยุทธ์ได้เสียงไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 3

เป็น 11 เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ถูกสอยเป็นใบไม้ร่วง-อยู่ในบัญชีหยุดปฏิบัติหน้าที่