ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ “อานนท์ – รุ้ง – ไมค์” ปราศรัยล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำเป็นกระบวนการ ปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ทำให้สังคมแตกแยก

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่ นายณฐพร โตประยูร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การปราศรัยของ นายอานนท์ นำภา นายภานุพงศ์ จาดนอก และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวม 3 ราย ในการปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ลานพญนาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการอ่านคำวินิจฉัยทนายความของนายอานนท์ และ นายภานุพงศ์ รวมถึงน.ส.ปนัสยา ขอให้ศาลเปิดการไต่สวนพยาน โดยมีนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ “ส.ศิวรักษ์” เป็นพยาน โดยหากไม่มีการไต่สวนพยานก็ได้รับมอบจากผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องอยู่ฟังการอ่านวินิจฉัย

โดยศาลชี้แจงว่า ศาลแสวงหาข้อเท็จจริงทุกอย่าง เอกสารที่ได้มาส่งให้ผู้ถูกร้องหมดแล้ว ผู้ถูกร้องมีสิทธิโต้แย้งเป็นหนังสือก็ถือว่าให้ความเป็นธรรม ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ถูกร้องครบถ้วน

“กระบวนการนี้ไม่ใช่เป็นระบบกล่าวหา แต่เป็นระบบไต่สวน ซึ่งศาลได้ให้ผู้ถูกร้องทราบพยานหลักฐานทุกอย่าง และให้ผู้ถูกร้องโต้แย้งหมดแล้ว“

จากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอ่านคำวินิจฉัย ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ตอนหนึ่งว่า ข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้รับรองพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็น ประมุขของรัฐ ที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น

จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตี ในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม

ยิ่งกว่านั้นการกระทำของผู้ถูกร้อง 1-3 มีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายแม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ณ เวทีธรรมศาสตร์ จะผ่านไปแล้ว ภายหลังผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกร้อง ร้อง 1-3 ยังคงร่วมชุมนุมกับบุคคลกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์โดยไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องแนวคิดเดียวกัน

การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1-3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นกระบวนการเดียวกัน ที่มีเจตนาตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีพฤติกรรมกระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำเป็นกระบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการ ปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะของการที่ก่อความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้อง 1-3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การกระทำของผู้ถูกร้อง 1-3 เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาคภารดรภาพ ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่รับฟังความของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคล รวมถึงกลับละเมิดสิทธิส่วนตัวของคนอื่น ด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่น ด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือน จากความเป็นจริง

ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงอันประจักษ์ว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง 1-3 มีการจัดตั้งกลุ่มมีลักษณะเป็นองค์กรเครือข่าย กระทำใช้การรุนแรงต่อเนื่อง บางเหตุการณ์มีส่วนจุดประกาย อภิปรายปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักเสมอภาสคและภารดรภาพ ผลการกระทำนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครอง มิใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิเสรีภาพ ร้อง 1-3 เป็นการแสดงความเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมายมีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้วแต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมให้กลายเป็นเหตุล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ด้วยเหตุข้างต้น วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมทั้ง กลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการอ่านคำวินิจฉัย ด้านนอกศาลรัฐธรรมนูญ นางสาวปนัสยา ได้เดินทางมาศาล เวลา 13.30 น. โดยใส่เสื้อสีขาว เขียนข้อความว่า ปฏิรูป≠ล้มล้าง จากนั้นอ่านแถลงการณ์ก่อนเข้ารับฟังการวินิจฉัยว่า เนื่องจากศาลมีคำสั่งไม่ดำเนินการไต่สวน ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาคดีที่กระทบต่อสิทธิ ในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของตน

จึงขอยื่นคำแถลงปิดคดี ทั้งนี้ ยืนยันว่า 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ไม่มีการเผยแพร่ถ้อยคำปราศรัย หรือความคิดเห็นใดต่อสาธารณะในลักษณะที่จะเป็นการเรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลงผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศจากประชาชนไปเป็นบุคคลอื่น

หรือเรียกร้องเปลี่ยนแปลงประมุขของรัฐ จากพระมหากษัตริย์ไปเป็นอย่างอื่น สิ่งที่กระทำมุ่งหมายที่จะธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และรักษาระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เข้มแข็ง และดำรงอยู่อย่างมั่นคง

โดยเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายและรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพระราชอำนาจ ให้สอดคล้องกับหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ หรือ (The king can do no wrong) การกระทำของตนและพวก จึงไม่ได้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จึงขอให้ศาลวินิจฉัยยกคำร้อง

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก การปราศรัยทางการเมืองครั้งแรกของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่เสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ผ่านข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ก่อนจะกลายเป็น “คณะราษฎร” ในเวลาต่อมา

ถัดจากนั้น 8 วัน ในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 นายณัฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังกล่าว และศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในวันที่ 16 กันยายน 2563 ผ่านมาปีเศษ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัย

อย่างไรก็ตามจากข้อเรียกร้อง 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นการยกระดับข้อเรียกร้อง จากเดิมที่ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงมีประเด็นปฏิรูปสถาบันมาเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อน จนถึงบัดนี้