เพื่อไทย ล็อกเป้า ส.ส. 400 เขต ดีล “บิ๊กเนม” กลับรังพรรคทักษิณ

เพราะกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่มีให้กากบาทเลือก ส.ส.เขต และเลือกพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขเพิ่มเติม 2564 ที่ใช้สูตรวันแมน วันโหวต เลือกคนที่ใช่-พรรคที่ชอบและเปลี่ยนจำนวน ส.ส. จาก ส.ส.เขต 350 คน มาเป็น 400 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จาก 150 คน มาเหลือ 100 คน

ซึ่งโครงหลักเป็นแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2554 ทำให้พรรคการเมือง เล็ก กลาง ใหญ่ และพรรคเกิดใหม่ต้องปรับยุทธศาสตร์ รับกติกาเลือกตั้งใหม่แบบ 180 องศา

เพราะที่แล้วมาพรรคการเมืองบนกระดานอำนาจ ซึ่งมี “ผู้แทนราษฎร” อยู่ในมือเกือบ 30 พรรค ต่างเข้าสภามาได้เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ตามกติกาเลือกตั้งบัตรใบเดียว จัดสรรปันส่วนผสม “นับคะแนนตกน้ำ”

สำหรับพรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าของแชมป์ในกติกาบัตร 2 ใบ ตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในยุคพรรคไทยรักไทย สามารถเอาชนะในการเลือกตั้งปี 2554, 2548 แม้เปลี่ยนชื่อในนาม พรรคเพื่อไทย ก็ยังชนะเลือกตั้งในปี 2554

ส่วนเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 แม้เป็น “กติกาบัตร 2 ใบ” แต่เปลี่ยนไปใช้ระบบ “พวงใหญ่เรียงเบอร์” ก็ยังชนะ

ดังนั้น เมื่อกติกาเลือกตั้ง ถูกทวนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปใช้ระบบเก่าตามถนัด บรรดาขาใหญ่ในพรรคเพื่อไทยจึงคุยคำโตวางยุทธศาสตร์ “เพื่อไทยแลนด์สไลด์” ได้อย่างมั่นอกมั่นใจ

เมื่อกติกาบัตร 2 ใบ เริ่มชัดไม่มีพลิกโผทั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2564 รวมถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเริ่มยกร่างกันในต้นปี 2565 ไม่น่าจะหนีไปไกลจากที่คาดหมาย

ในวงประชุมทีมขาใหญ่-กุนซือ-21 ประธานโซนที่รับผิดชอบภาคต่าง ๆ รวม 400 เขตเลือกตั้ง เมื่อ 1 ธันวาคม จึงกำหนดยุทธศาสตร์วางคนลงเลือกตั้งใหม่ เหนือ อีสาน กลาง และ กทม.

เป็นการวางหมุดคน-ปักธงแต่ละจังหวัดว่า แต่จังหวัดไหนจะวางคนอย่างไร มียุทธศาสตร์อย่างไร บนสมมุติฐานว่า ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย จะมีคะแนนพ็อปพูลาร์ของพรรคติดตัวอยู่แล้ว 35% โดยเฉพาะโซนอีสาน ที่เหลือค่อยเติมกระแสในช่วงใกล้เลือกตั้ง

แหล่งข่าวในวงประชุมอธิบายว่า การเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ผู้สมัคร ส.ส.ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว-อำนาจรัฐ เข้ามาเป็นส่วนเสริมแต่พอเปลี่ยนเงื่อนไขบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะเน้นเรื่องกระแสพรรค-นโยบาย มากกว่าเจาะพื้นที่เป็นรายบุคคล

และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ออกมา หากบัตรเลือกตั้งเป็นเบอร์เดียวกันทั่วประเทศจะทำให้พฤติกรรมของผู้ลงคะแนนเลือกตั้งเปลี่ยนไป การกำหนดแคมเปญเลือกตั้งแบบ “ขายพ่วง” ที่ “พ่วงกันทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์” ง่ายต่อการลงคะแนนของประชาชน

“ดังนั้น การแข่งขันของนโยบาย จะถูกนำมาเปรียบเทียบกันมากกว่าเจาะพื้นที่เป็นรายบุคคล ทำให้หลังจากรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเป็นบัตร 2 ใบ สถานการณ์เลือกตั้งในพื้นที่ก็จะเปลี่ยนไป” แหล่งข่าวเพื่อไทยวิเคราะห์

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยประชุมวางคนและยุทธศาสตร์มาแล้ว 1 รอบ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ จึงต้องปรับกันใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจะปิดจ็อบการวางตัวบุคคล 400 เขต ในเบื้องต้น ช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้

สนามที่พรรคเพื่อไทยต้องการรักษาที่มั่นให้ได้มากที่สุด คือ ภาคอีสาน แหล่งข่าวแกนนำเพื่อไทย โซนภาคอีสาน เชื่อมั่นว่า ยังรักษาฐานที่มั่นเอาไว้ให้ได้

“จากการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้ 84 ที่นั่ง ในภาคอีสาน เมื่อเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้น ส.ส.อีสานเพิ่มขึ้น จึงคาดหวังไว้ว่าจะได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้น และครองหัวใจคนอีสานได้เหมือนเดิม”

“พื้นที่อีสานแย่งกันหลายพรรค แต่ด้วยความชัดเจนที่คนอีสานคอยพรรคเพื่อไทยกลับมา เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดเวลาที่รัฐบาลชุดนี้บริหาร ราคาข้าวไม่ดี ยาเสพติดไม่แก้ไข และไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤตโควิดได้ ส่งผลให้คนอีสาน หรือคนภาคไหน ๆ ก็ตามต้องกลับบ้าน เขาจึงปรับความคิดว่าเพื่อไทยมาบริหารประเทศ ชีวิตเขาน่าจะเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้และรับมือกับวิกฤตที่มี”

“พรรคเพื่อไทยสู้อย่างเต็มที่ อาวุธของพรรคเพื่อไทยคือ ต้องใจประชาชน จริงอยู่อาจดูเหมือนว่าเลือกตั้ง อบต.มีปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การเลือกตั้ง ส.ส.น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ปัจจัยการเงินไม่ใช่เป็นปัจจัยชี้ขาดทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ยังห่วงใยประเทศอยู่ เป็นเรื่องผู้ปกครองประเทศ จึงเชื่อมั่นว่าเพื่อไทยจะรักษาฐานที่มั่นภาคอีสานได้” แหล่งข่าวแกนนำเพื่อไทยกล่าว

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังได้อดีต “คนวงใน กกต.” มาร่วมวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ อย่าง กฤช เอื้อวงศ์ อดีตรองเลขาธิการ กกต. ที่ช่ำชองเรื่องการเลือกตั้ง

ซึ่งหลังจากเกษียณอายุราชการก็ย้ายสถานที่ทำการ มาเป็นตัวแทนกรรมาธิการต่าง ๆ ของเพื่อไทยในสภา อยู่ร่วมวงเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” แพรทองธาร ชินวัตร ประธานคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ที่ จ.ขอนแก่นด้วย

และเมื่อสถานการณ์เลือกตั้งเปลี่ยนไป นักการเมืองเก่า-เก๋า บางราย เลือกเส้นทางใหม่ ตัดสินใจหานายทุน-ตั้งพรรคเอง ทว่า หลังจากกติกาเลือกตั้งย้อนกลับมาสู่กติกาบัตร 2 ใบ พรรคใหม่แม้มีบิ๊กเนมอยู่ฉากหน้า แต่ไร้กระแส การจะแจ้งเกิดบนถนนการเมือง เข้าขั้น “หืดขึ้นคอ”

ขณะที่นักการเมืองที่คิดตีจากเพื่อไทย ก็อาจเปลี่ยนใจ “ขออยู่ต่อ” เช่นเดียวกับนักเลือกตั้งอาชีพ หลายรายที่แตกตัวไปจากพรรคเพื่อไทย พับแผนกลับเส้นทางเก่า

เพื่อไทยจึงเปิดการ “เจรจา” คนเก่าที่เคยย้ายออก และขอกลับเข้ามาอยู่ใต้ชายคาเพื่อไทย มีทั้งเหนือ-อีสาน-กทม.

“มีคนที่ออกไปแล้วจะขอกลับ รวมถึงคนที่แกว่ง ๆ ไปแล้วก็คิดอยู่ต่อ ตอนนี้พรรคเพื่อไทยต้องสกรีนให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะต้องเตรียมการ สถานการณ์การเมือง การทำงานในสภาช่วงเปิดสมัยประชุม รัฐบาลกระท่อนกระแท่นในเรื่องเสียงรัฐบาล อาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ทุกระยะ”

“เป็นเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยมีการประชุมโซนคัดเลือกผู้สมัครทั่วประเทศเตรียมพร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ส. 400 เขต ใน 50 จังหวัด จะเฟ้นหาผู้สมัครตั้งตัวแทนประจำเขตเลือกตั้ง สิ้นเดือนต้องรู้ตัวเลข 400 เขต ต้องพร้อม”

อย่างน้อยในพื้นที่เชียงราย ตระกูล “จงสุทธนามณี” ที่ครองนายกเล็ก เชียงราย ก็มีดีลกับพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เตรียมย้ายกลับเพื่อไทย จากที่เคยปันใจไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ

อย่างน้อย ทีมที่ไปก่อตั้งพรรคเส้นทางใหม่ หลังจากประชุมกันหลายรอบก็ตัดสินใจ “พับแผน” เปิดการเจรจา กลับสู่เส้นทางเก่า

พรรคเพื่อไทยเปิดการเจรจา แต่อาจกลับมาได้ไม่ครบทุกคน อยู่ที่เงื่อนไขการเจรจา และพื้นที่ (การเมือง) ว่างหรือไม่