ประยุทธ์-พปชร. รับศึก 2 ขั้ว ส.ส.เจอ จ่าย จบ ประคองรัฐบาล

พปชร.
รายงานพิเศษ

พรรคบิ๊กป้อม-พลังประชารัฐ กำลังจะเดินมาสู่ “ฉากจบ” ของ “พรรคทหาร” หลังจาก 21 ส.ส.กบฏ พลังประชารัฐ “ขับตัวเอง” ออกจากพรรค ขณะที่ “ส.ส.สีเทา” ที่มี “ชนักปักหลัง” กำลังประสบวิบากกรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่-ถูกสอย

21 ส.ส.รุ่นบุกเบิกพรรคธรรมนัส

21 ส.ส.-กบฏพลังประชารัฐ หอบสัมภาระ-ขนข้าวของย้ายสำมะโนครัว ไปขึ้นโครงพรรคใหม่-เศรษฐกิจไทย ที่มี “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ-หัวหน้ากบฏ เป็นเจ้าบ้าน

เป็น 21 ส.ส.รุ่นบุกเบิก ที่จะเข้าไปร่วมพรรคธรรมนัส-พรรคเศรษฐกิจไทย โดยมี “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ จดแจ้งชื่อ “พรรคบิ๊กป้อม” สาขา 2

ขณะนี้ยังอยู่ในช่วง 30 วันวัดใจ 21 ส.ส.กบฏพลังประชารัฐ อยู่ระหว่างหยั่งกระแส-กระสุน ว่าจะสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยหรือไม่

ส.ส. 100 กว่าชีวิตที่อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ขณะนี้ ยังต้องจับทิศทาง “พล.อ.ประยุทธ์” ขาลง ว่าจะถึง “จุดต่ำสุด” พร้อมที่จะกลับมาพุ่งขึ้นเหมือนฟ้าหลังฝนหรือไม่

ส.ส.ติดชนัก รอวันร่วงหล่น

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคพลังประชารัฐอยู่ในช่วง “ตกต่ำ” พร้อม ๆ กับกระแสขาลงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังฟันธงไม่ได้ว่า พลังประชารัฐ-รัฐบาลตกต่ำ เพราะกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐเอง

แต่ที่แน่นอนแล้วคือ ส.ส.สีเทา พลังประชารัฐ ที่อยู่ระหว่าง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ได้แก่ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ในคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ใน จ.ราชบุรี

น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. เขต 7 อยู่ระหว่างศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณี “เสียบบัตรแทนกัน” โดยศาลฎีกานัดในวันที่ 26 เมษายนนี้

ส.ส.บ้านใหญ่รัตนเศรษฐ 3 คน ได้แก่ 1.นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา 3.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล

รวมถึง นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง เขต 4 ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจกใบเหลือง กรณี กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาสั่งให้มีการ “เลือกตั้งใหม่” เนื่องจากกระทำความผิด พ.ร.ป.เลือกตั้ง จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ หรือ “สัญญาว่าจะให้”

ล่าสุด ศาลฎีกาประกาศแจ้งวันนัดพิจารณาคดีเลือกตั้ง หมายเลขดำที่ ลต สส 1/2565 ซึ่งศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ศาลฎีกา

ไม่นับรวม อดีต ส.ส.-สมาชิกพลังประชารัฐ ของกลุ่ม “3 ทหารเสือ กปปส.” ได้แก่ “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ “เสี่ยบี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ “เสี่ยจั้ม” สกลธี ภัททิยกุล ที่กอดคอกัน ถอนสมอ-ลงจากเรือพรรคพลังประชารัฐ

เด็กสมคิด จ่อซบ 4 กุมาร

“สันติ กีระนันทน์” ที่วันนี้มีสถานะเป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็น 1 ในขุนพลเศรษฐกิจ พรรคใหม่สี่กุมาร-สร้างอนาคตไทย

รวมถึง “สุพล ฟองงาม” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็น ขุนพลอีสาน-มือประสานกลุ่มสร้างอนาคตไทยภาคอีสาน

และก่อนถึงวันประชุมใหญ่พรรคสร้างอนาคตไทย เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค-กรรมการบริหารพรรค จะเปิดตัว “ขุนพลชุดสอง” และ “ขุนพลชุดสาม” ก่อนการเลือกตั้งใหญ่

อย่างน้อย 2 ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐป้ายแดง “ลุงชวน” ชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ และ นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล-ส.ส.ผู้พี่สนธิรัตน์

นับรวม ส.ส.หน่วย “สอดแนม” ไม่ต่ำกว่า 10 เสียง ที่ถูกฝังไว้ในพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.ที่มีแสงในตัวเอง-ส.ส.หิวแสง ที่ไม่มีข้อจำกัดที่จะก้าวเท้าออกจากบ้านเก่า-เข้าบ้านใหม่

พรรคเล็กอีกหนึ่งตัวแปร

ขณะที่พรรคเล็กอีก 10 พรรคที่พร้อมจะพลีชีพ-ระเบิดฆ่าตัวตาย ไปร่วมซบ “พรรคธรรมนัส” ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ปัจจุบันวาระในสภา ไม่มีเรื่อง “ร้อนใจ” พล.อ.ประยุทธ์ เพราะสภาเหลือเวลาประชุมอีก 4 สัปดาห์ และไม่มีทั้งการลงมติกฎหมายสำคัญ ๆ ของรัฐบาล

ด้านฝ่ายค้าน 6 พรรคก็ไม่สามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบ “ลงมติ” ได้ ทำได้เพียงอภิปรายทั่วไป เพื่อเสนอแนะทางแก้ปัญหาให้รัฐบาลได้เท่านั้น

ทว่าหลังการเปิดสมัยประชุมใหม่ หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 “พล.อ.ประยุทธ์” จะเจอของจริง เมื่อพรรคฝ่ายค้านสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบ “ลงมติ” ได้อีกครั้ง

ประกอบกับถึงคิวที่รัฐบาลต้องเสนอกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เข้าสภา จังหวะนั้นต้องใช้ “จำนวนมือ” ส.ส.เป็นตัวตัดสิน

ฝั่งพรรคเล็กจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญในสมรภูมิการเมืองทันที

“นพ.ระวี มาศฉมาดล” หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ มือประสานเสียงพรรคเล็ก วิเคราะห์ความสำคัญ “เสียงพรรคเล็ก” ว่า

“ทุกคนอ่านเกมออก เพราะกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส 21 เสียง ไม่สามารถเลื่อยแข้งรัฐบาลได้ แต่ถ้าได้เสียงของพรรคเล็กไปอีก 9 เสียงจบ เพราะตอนนี้รัฐบาลชนะอยู่ประมาณ 5 เสียง รวม 2 เสียงที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งซ่อม สงขลา และชุมพร กลับมา ก็จะเพิ่มอีก 2 เสียง เป็น 7 เสียง แต่ถ้านับงูเห่าที่อยู่กับรัฐบาลก็รวมได้ 10 เสียง เท่ากับตอนตั้งรัฐบาลใหม่ ๆ ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีพาวเวอร์ไหม.. ยังมี”

ทำนายยุบสภาต้น มิ.ย.

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดสมัยประชุมสภารอบใหม่ พอเปิดประชุมฝ่ายค้านน่าจะใช้เวลา 1-3 สัปดาห์ เตรียมการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ส่งกฎหมายงบประมาณเข้าสู่สภา

เวลานั้นจะเป็นวิกฤตสูงสุด อาจยุบสภาประมาณต้นมิถุนายน ถ้าความขัดแย้งระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส กับ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จบ จะจบด้วยการยุบสภาต้นเดือนมิถุนายน

“เพราะถ้าฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้าสภา นายกฯไม่มีสิทธิยุบสภา ต้องลาออกอย่างเดียว แต่ พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ถ้าเข้าแล้วถูกตีตก รัฐบาลจะลาออก หรือยุบสภาก็ได้ จุดชี้ขาดจึงอยู่ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าเคลียร์ไม่ได้ก็ยุบสภาต้นเดือนมิถุนายน” นพ.ระวีกล่าว

จับตาไส้ศึก พลังประชารัฐ

แม้ว่าตอนตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำประมาณ 10 เสียง ยังผ่านมาได้ ทำไมคราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะผ่านไม่ได้ นพ.ระวีชี้ให้เห็นว่า

วิกฤตจะเกิดขึ้นตอนนี้ เพราะตัวเลขที่ 21 เสียงออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ ส่วนเสียงในพรรคพลังประชารัฐจะโหวตให้นายกฯทุกคนไหม

“ตอนตั้งรัฐบาลใหม่ ๆ คะแนนเสียงพรรคพลังประชารัฐเป็นเอกภาพ แต่ตอนนี้ถ้ามันแหกโค้ง 5 คนล่ะ อาจจะเกิดวิกฤตได้ เพราะคนใกล้ชิด ร.อ.ธรรมนัส ก็ยังมีอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ”

หากวัดกำลังพรรคเล็ก พรรคไหนไปกับ ร.อ.ธรรมนัส หรืออยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ “นพ.ระวี” ประเมินว่า อาจจะมีแค่พรรค สองพรรค ไปร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส เพราะมีเงื่อนไขผูกพันกับผู้กอง

เช่น “สุรทิน พิจารณ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ เข้าร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ยุบพรรค แต่จะทำงานร่วมกัน

ส่วนพรรคเล็กที่จะไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐแทบไม่มี ซึ่งพรรคที่จะลงสนามเลือกตั้ง ขอสู้ต่อคือ พรรคพลังธรรมใหม่ ครูไทยเพื่อประชาชน ประชาธิปไตยใหม่ เพื่อชาติไทย

บิ๊กตู่ไม่โกง ไม่ต้องกลัวถูกเบี้ยว

นพ.ระวีกล่าวว่า ส่วนพรรคเล็กที่ไม่มีเงื่อนไขผูกพันเป็นกรณีพิเศษกับ ร.อ.ธรรมนัส ก็เลือกว่าประเทศในยามวิกฤตต้องการอะไร ต้องการการเมืองที่ไม่ใช่คิดหาตังค์ คิดหากล้วย จึงมีพรรคเล็กส่วนมากที่ยืนอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ ข่าวทุจริตใหญ่มีเหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไหม…ไม่มีเลย

ส่วนข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องธรรมดา ของคนทำงานที่ประสบปัญหาวิกฤต จึงไม่มีเหตุผลที่จะทิ้ง พล.อ.ประยุทธ์ พูดง่าย ๆ 80% ยังอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคชาติพัฒนา มีแค่ 20% อาจจะไป

ในการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราต้องวิเคราะห์สถานการณ์ว่า ถ้าความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐไม่จบ นายกฯก็ต้องประเมินว่า เสียงเขาเป็นเท่าไหร่ ถ้าเสี่ยงก็ต้องยุบก่อนเลย เสี่ยงไม่ได้ ถ้าถูกโหวตคว่ำกลางสภา เสียชื่อตายเลย ต้องลาออก เป็นนายกฯใหม่ก็ไม่ได้

ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯก็ต้องประเมินก่อนว่าตนเองมีข้อบกพร่องอะไรหรือเปล่าว่า เขาเองมีข้อบกพร่อง มีเรื่องทุจริตหรือไม่ที่ทำให้พรรคเล็กจะไม่โหวตให้ ถ้าเขาไม่มีสิ่งนี้ เขาก็ไม่ต้องกลัวว่าพรรคเล็กจะเบี้ยว

กล้วยว่อนสภา

เมื่อเสียงในสภากลับมา “ปริ่มน้ำ” ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อต้อง “แจกกล้วย” หนักหรือไม่ “หมอระวี” บอกว่า ตามข่าวกล้วยว่อนสภาแน่ อาจหวีใหญ่กว่าเดิม แล้วกล้วยเที่ยวนี้ต้องใหญ่กว่าเดิม หรือยกเป็นเครือ เมื่อสถานการณ์คับขัน เสียงปริ่มน้ำ แต่ถามว่าใครจะจ่าย นายกฯจ่ายเหรอ หรือฝ่ายที่จะโค่นนายกฯจ่าย

สมมติพรรคเล็กทั้งหมด ฟังแล้วนายกฯไม่มีความผิดอะไรเลย ที่จะบอกว่าเป็นความผิดพลาดร้ายแรงและทุจริต แล้วพรรคเล็กไปคว่ำหมด บอกได้เลยอันนี้รับกล้วยแน่นอน แต่ถ้านายกฯตอบคำถามชัดเจน ไม่ได้ผิดอะไรมาก ไม่ได้ทุจริต แล้วพรรคเล็กไปโหวตให้ เท่ากับไปรับกล้วยหรือเปล่า..ก็ไม่ ใช่ไหม ดังนั้น สื่อมวลชนติดตามดู