เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เปิดประวัติ นโยบาย 5 ผู้สมัครท้าชิงผู้นำเสาชิงช้า

เลือกตั้งผู้ว่ากทม.

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ในรอบ 9 ปี ตามคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชและ รมว.กลาโหม คือช่วงกลางปี 2565 มีผู้ท้าชิงแล้ว 5 คน โดย 3 ใน 5 คน มีดีกรีปริญญาตรี-ปริญญาเอก ด้านวิศวกร 3 คนลงสังกัดพรรคการเมือง อีก 2 คนในนามอิสระ

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จัก ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคน แต่ละคนเคยมีผลงาน และมีนโยบายในการพัฒนากรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระ อายุ 55 ปี เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ 1 ในแคนดิเดตบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

ในการชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ นายชัชชาติชูนโยบาย เน้น 4 ด้าน ภายใต้สโลแกน เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ประกอบด้วย

  1. people เรื่องคน เน้นระบบเส้นเลือดฝอยและคุณภาพชีวิต
  2. digital เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดขั้นตอน
  3. green เรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ขยะ ควันพิษ ฝุ่น
  4. economy เรื่องเศรษฐกิจ เพราะเมืองอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจ ตอนนี้เศรษฐกิจมีปัญหาเมืองต้องมาช่วยดูแลเรื่องเศรษฐกิจของคนให้มากขึ้น พยายามสร้างโอกาสคน ลดขั้นตอน หนุนให้เศรษฐกิจฟื้นคืนมา
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ อายุ 49 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยได้แถลงเปิดตัวที่สามย่านมิตรทาวน์ ภายใต้สโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพ #เราทำได้” เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564

ในงานเปิดตัว ดร.เอ้เล่าว่า ตอนจบ ม.3 สอบได้ที่ 1 ของโรงเรียนประจำจังหวัดระยอง และได้โควตาช้างเผือกมาเรียนที่คณะวิศวะลาดกระบังโดยไม่ต้องสอบเอนทรานซ์ ชีวิตในมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมทุกอย่างยกเว้นเรียนหนังสือ

ดร.เอ้เล่าอีกว่า ตอนไปเรียนหนังสือต้องรอโหนรถเมล์จากสถานีหัวตะเข้ผ่านถนนอ่อนนุช ซึ่งวันนั้นเรียกว่าถนน 7 ชั่วโคตร คิดริเริ่มออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศ ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครคิดว่าทำได้ เพราะดินในกรุงเทพฯ และในที่สุดก็ได้กลับมาประเทศไทย มาร่วมสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย ตามคำสัญญา

ดร.เอ้ยังกล่าวถึงการยกให้กรุงเทพฯเป็นเมืองสวัสดิการว่า เราต้องเปลี่ยนกรุงเทพฯเป็นเมืองสวัสดิการที่ดูแลพลเมืองทุกคนอย่างมีคุณภาพ ทั้งการจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐาน การขนส่งมวลชน ถนน ฟุตปาท ทั้งการจัดการศึกษาฟรี ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ และการดูแลรักษาพยาบาลตั้งแต่ตั้งครรภ์ถึงสูงอายุ

การเข้าถึงสินค้าอาหารการกินได้ง่ายในราคาถูกและปลอดภัย เป็นเมืองที่สร้างโอกาสในการเรียนรู้ ทำมาหากินได้ดี เดินทางสะดวกเข้าถึงทุกพื้นที่ ทุกคนเท่าเทียม มีสวนสาธารณะขนาดย่อมทั่วกรุงเทพฯ คนเดินได้ สัตว์เลี้ยงเดินดี ใกล้บ้าน และที่สำคัญคือ กรุงเทพฯต้องใช้กฎหมายเท่าเทียม เข้มข้น เพื่อดูแลทุกคน เท่าเทียม

“ผมตั้งใจ ผมเตรียมพร้อมมา 30 ปี ขออาสาเป็นตัวแทนคนกรุงเทพฯ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ผมขอเชิญชวนทุกท่าน มาร่วมเดินทางแห่งความหวังครั้งสำคัญครั้งนี้ เพื่ออนาคตลูกหลานเรา เราจะคืนรอยยิ้มให้คนกรุงเทพฯ ”นายสุชัชวีร์กล่าว

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

อีกคนที่มีกระแสข่าวว่าจะชิงตำแหน่งด้วยคือ ผู้ว่าฯคนปัจจุบัน อย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งให้สัมภาษณ์ถึงการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ตอนนี้ยังไม่มีพรรคไหนติดต่อมา และหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศจัดการเลือกตั้งเมื่อใด จึงจะตัดสินใจเมื่อนั้น และจะตัดสินใจด้วยว่าจะลงร่วมกับพรรคการเมือง หรือลงในนามอิสระ ซึ่งต้องรอให้ กกต.ประกาศเลือกตั้งให้ชัดเจนก่อน ขณะนี้ขอทำงานให้ดีที่สุดก่อน

สำหรับ พล.ต.อ.อัศวินนั้น ปัจจุบันอายุ 70 ปี ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. โดยได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน

มีผลงานเปลี่ยนกรุงเทพฯ ด้วยนโยบาย “ผลักดันทันใจ แก้ไขทันที” และ “NOW ทำจริง เห็นผลจริง” โดยในระหว่างดำรงตำแหน่งได้สร้างผลงาน เช่น สร้างอุโมงค์ระบายน้ำหนองบอน, เปิดโรงพยาบาลคลองสามวา เร่งสร้างโรงพยาบาล กทม. ทุกมุมเมือง, สร้างแก้มลิงใต้ดิน Water Bank แก้ปัญหาน้ำท่วมปากซอยสุทธิพร 2 / วงเวียนบางเขน และเพิ่มกล้อง CCTV ทั่วกรุงฯ ติดตั้งใหม่ 20,217 ตัว และล่าสุด ได้สร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคก้าวไกล อายุ 44 ปี ปัจจุบันยังเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ในการเปิดตัววานนี้ (23 ม.ค.) นายวิโรจน์กล่าวว่า หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ มีการถามว่าทำไมเรื่องส่วยใน กทม. จะให้ประสานอย่างไร ตนบอกว่าต้องชนและกำจัดอย่างเดียว ทุกคนรู้ดีว่าส่วยใน กทม.มีอยู่จริง ทุกคนรู้ดีว่าเป็นปรสิต กัดกินบ่อน ทำลายอนาคต กทม. และทุกคนรู้แก่ใจว่ากำจัดส่วยไปได้ หลายมิติจะดีขึ้นเอง ผู้ประกอบการเล็ก ๆ ถูกกัดกิน ผู้ประกอบการอสังหาฯรู้ดี ใบประกอบ 48 รายการ ต้องจ่ายหลักหมื่น หลักแสน ไม่ใช่น้อย ๆ

ส่วยใต้ดินมีขั้นต่ำสุด 5 พันล้าน สูงสุด 1.5 หมื่นล้าน งบฯ กทม.ปีหนึ่ง 1 แสนล้าน ส่วยของ กทม.จึงมีมากถึง 15% ทุกวันนี้ การใช้ชีวิต กทม.ค่าครองชีพก็แพงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าคุ้มครองชีพให้กับผู้ใดอีก นี่คือเรื่องที่เราต้องชน และไม่ต้องห่วง ว่าตนจะทำงานกับข้าราชการไม่ได้ เพราะข้าราชการที่ดีมีมากกว่า 90% เขาต้องการทำงานกับผู้ว่าฯ ตรงไปตรงมา

“ผู้ว่าฯ กทม.ต้องกล้าประกาศให้ชัดว่าต้องไม่มีการรีดไถใน กทม.อีกต่อไป กรุงเทพต้องหยุดไถทันที และถ้าใครมีหลักฐานให้ส่งมา ผมจะลากคอมันมาลงโทษให้ดู”

นอกจากนี้ ยังแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาระบบราชการ ปัญหาน้ำท่วม อาชญากรรมและอุบัติเหตุ และการชนกับนายทุนเพื่อปกป้องผลประโยชน์คนกรุงเทพ ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกสูบเลือด สูบเนื้อจากนายทุน เช่น ค่ารถไฟฟ้าแพง ฯลฯ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร  (เสื้อน้ำเงิน)

รสนา โตสิตระกูล

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามอิสระ อายุ 68 ปี เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ เคยมีผลงานทางการเมืองและสังคม เช่น จับนักการเมืองติดคุก – ยึดทรัพย์ ในคดีทุจริต เป็นคดีแรกของประวัติศาสตร์, ได้รับเลือกตั้งเป็น สว.กทม. ด้วยคะแนนสูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยคะแนน 743,397 คะแนน ร่วมต่อสู้จน “ยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาต่างชาติ” สำเร็จ เป็นต้น

เมื่อปลายปี 2562 นางสาวรสนา ประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ โดยให้เหตุผลว่า  เพื่อจะได้ไม่ต้องตอบแทนพรรคการเมืองและกลุ่มทุน จะได้สามารถทำงานเพื่อชาว กทม.อย่างแท้จริง ใช้สโลแกนหาเสียงว่า “กทม.มีทางออก บอกรสนา” โดยใช้ยุทธศาสตร์หาเสียงเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

นางสาวรสนา โตสิตระกูล
นางสาวรสนา โตสิตระกูล

เปิดผลโพล “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 9”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 9” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร พบว่า

  1. ร้อยละ 38.80 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
  2. ร้อยละ 13.06 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์)
  3. ร้อยละ 11.85 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ
  4. ร้อยละ 10.25 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
  5. ร้อยละ 4.94 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO)
  6. ร้อยละ 4.71 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล
  7. ร้อยละ 4.10 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
  8. ร้อยละ 3.26 ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล
  9. ร้อยละ 2.96 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ
  10. ร้อยละ 2.35 ระบุว่า จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
  11. ร้อยละ 1.90 ระบุว่าเป็น นายสกลธี ภัททิยกุล

ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จำนวน ทั้งสิ้น 1,135 คน (สำรวจด้วยการเก็บข้อมูลภาคสนามและออนไลน์) ระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2564 ในข้อคำถามว่า ว่าที่ผู้สมัคร “ผู้ว่าฯ กทม.” คนใดได้รับความนิยมมากที่สุด พบว่า รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 56.72% ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 29.60% พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 10.62% รสนา โตสิตระกูล 2.26% คนอื่น ๆ 0.80%