เหมืองทองอัครา: สรุปปมปัญหา ค่าเสียหาย 3 หมื่นล้านก่อนอนุญาโตฯตัดสิน 31 ม.ค.

สรุปปมปัญหาเหมืองทองอัครา
แฟ้มภาพ

สรุปปมปัญหา ก่อนอนุญาโตตุลาการตัดสินชี้ขาดคดีพิพาทเหมืองทองอัครา 31 ม.ค.นี้ จับตาไทยต้องควักค่าเสียหายเกือบ 3 หมื่นล้านหรือไม่ 

วันที่ 28 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อนุญาโตตุลาการเลื่อนการออกคำชี้ขาดคดีข้อพิพาทเหมืองทอง ระหว่างประเทศไทยกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จากกำหนดการเดิม 31 ตุลาคม 2564 เป็นวันที่ 31 มกราคม 2565

นับถอยหลังอีกเพียง 3 วัน คดีที่คนไทยจับตาผลตัดสินนานกว่า 4 ปี จะได้ข้อยุติ “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปเหตุการณ์ที่มาความขัดแย้ง ตัวละครที่เกี่ยวข้อง ฉบับเข้าใจง่าย ดังนี้

รู้จัก คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด

ย้อนไปปี 2536 “คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด” บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย เริ่มเข้ามาลงทุนเหมืองทองในประเทศไทย ผ่านการถือหุ้น บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า บริษัท อัครา ไมนิ่ง ที่ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ข้อมูลจากเว็บไซต์ อัครา รีซอร์สเซส ระบุว่า บริษัทได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ “เหมืองแร่ชาตรี” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือประมาณ 280 กิโลเมตร

โครงการเหมืองแร่ชาตรีประกอบด้วย 1) เหมืองแร่ชาตรีใต้ ซึ่งเป็นโครงการแรก จำนวน 5 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 1,400 ไร่ ได้รับประทานบัตรในปี 2543 และหมดอายุในปี 2563

2) โครงการเหมืองแร่ชาตรีเหนือ จำนวน 9 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 2,500 ไร่ ได้รับประทานบัตรในปี 2551 และหมดอายุในปี 2571

ชาวบ้านร้องเรียน

แม้จะสร้างรายได้เข้าภาครัฐผ่านค่าภาคหลวงชำระ แต่เส้นทางการทำเหมืองแร่ของอัคราฯไม่ได้ราบรื่น ต้องเผชิญการร้องเรียนจากชาวบ้านเป็นระยะตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การทำให้เกิดฝุ่นละอองจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพ สารพิษปนเปื้อนที่มากับดิน น้ำ และอากาศ รวมถึงความเครียดที่เกิดจากเสียงของอุตสาหกรรม

เช่นในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 กลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี นำไปสู่การส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างทั้งปัสสาวะ เลือด น้ำ และดิน

ต่อมาโรงพยาบาลรามาธิบดีรายงานผลว่า การตรวจด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำ จำนวน 738 คน แบ่งเป็นเด็ก 67 คน มีสารในเลือดสูง ผู้ใหญ่จำนวน 664 คน มีสารหนู 104 คน

นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ชาวบ้านในตำบลเขาเจ็ดลูก ยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลกให้ดำเนินคดีกับหน่วยงานของรัฐ 5 หน่วยงาน และขอให้เพิกถอนประทานบัตร 5 แปลงแรกของบริษัทที่ไม่ได้ทำ EIA พร้อมยุติการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว

ในคำฟ้องมีการระบุถึงปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำคือ ฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากการระเบิดหินอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ชาวบ้านป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ น้ำดื่มน้ำใจไม่สามารถใช้ได้ดังเดิม

คสช. ใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองคำ

หลังเผชิญการร้องเรียนจากชาวบ้าน ในที่สุดวันที่ 13 ธันวาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 ออกคำสั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งมีผู้ร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการ

คำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้ เหมืองแร่ชาตรี พื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดพิจิตรกับจังหวัดเพชรบูรณ์ของอัครา รีซอร์สเซส เนื่องจากเป็นเหมืองทองแห่งเดียวที่ยังคงประกอบกิจการในขณะนั้น โดยต้องยุติการประกอบกิจการบนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดูแลสุขภาพของประชาชน และกระทรวงแรงงานดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการระงับการประกอบกิจการ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริง รวมถึงปัญหา โดยเสนอมาตรการแก้ไขและรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

ด้าน อัครา รีซอร์สเซส ได้แจ้งให้พนักงาน 1,000 คน รับทราบการเลิกจ้าง โดยเลิกจ้างพนักงานภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

อย่างไรก็ตาม ยังคงจ้างพนักงานในฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากต้องปฏิบัติตามแผนงานฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกับชุมชน หลังหยุดประกอบกิจการ ตามประกาศคำสั่ง คสช. ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟู

คิงส์เกตุฟ้องไทยเกือบ 3 หมื่นล้าน

วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 คิงส์เกตฯตัดสินใจยื่นอนุญาโตตุลาการ กรณีการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) อ้างว่าได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ดังกล่าว จึงได้ยื่นหนังสือขอปรึกษาหารือกับรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 โดยอาศัยสิทธิตามความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA)

ซึ่งอนุญาตให้บริษัทเอกชนของประเทศคู่ค้ามีสิทธิยื่นคำขอปรึกษาหารือ เพื่อเจรจาได้โดยตรงกับประเทศคู่ภาคี และคิงส์เกตุได้ใช้สิทธิดังกล่าว ยื่นให้คิงส์เกตและประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยคณะอนุญาโตตุลาการมีกำหนดการที่จะแจ้งผลคำตัดสินในสิ้นเดือนมกราคมนี้ หลังจากที่ถูกขอให้เลื่อนผลการพิจารณามาหลายครั้ง

ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับคิงส์เกตฯ โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าคณะและมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น เพื่อเจรจาและหาข้อยุติอย่างต่อเนื่อง

เกิดอะไรขึ้นระหว่างรอผลตัดสิน

หลังจากทางอนุญาโตตุลาการเลื่อนประกาศคำตัดสินมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ในช่วงระหว่างปี 2563-2564 ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ (2560) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้กลับมาพิจารณาอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และคำขอต่ออายุประทานบัตรของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส ซึ่งถูกคำสั่ง คสช. ระงับการดำเนินการทั้งหมดไปตั้งแต่ปี 2560

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2563 คณะกรรมการแร่ ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ได้ให้ความเห็นชอบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2563-46/2563 ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2568 เพื่อการสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง (397,696 ไร่) ในพื้นที่ อำเภอชนแดน กับอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามคำขอที่อัคราฯ ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และปี 2548 ซึ่งอาชญาบัตรพิเศษฉบับใหม่นี้ให้มีอายุในการสำรวจไม่เกินแปลงละ 5 ปี

ล่าสุด เดือนธันวาคม 2564 คณะกรรมการแร่พิจารณาให้ความเห็นชอบ “ต่ออายุ” ประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน จำนวน 4 แปลง แบ่งเป็น 1.ประทานบัตรที่ 25528/14714 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ 2.ประทานบัตรที่ 26910/15365 3.ประทานบัตรที่ 6911/15366 และ 4.ประทานบัตรที่ 26912/15367 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ออกไปอีก 10 ปี โดยประทานบัตรในการทำเหมืองทองจะมีอายุตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2574

นอกจากนี้ ยังได้ “ต่ออายุ” ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 (ใบอนุญาตแปรรูปทองคำ-เงิน) ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร กับที่ ต.ท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ออกไปอีก 5 ปี ให้เหตุผลว่า คำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมดเป็นคำขอที่บริษัทอัคราฯ ได้ยื่นไว้ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ  2510 และ พ.ร.บ.แร่ 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม และต่อมาได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ (2560) ด้วย

เหมืองทองอัคราเตรียมกลับมาเปิด

เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ กพร.ยอมต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้กับอัครา ทางคิงส์เกตฯ ออกประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้รับอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่แล้วจำนวน 4 ฉบับ ที่จำเป็นในการเปิดดำเนินการเหมืองแร่ชาตรีจากรัฐบาลไทยอีกครั้ง

โดยประทานบัตรทั้ง 4 ฉบับประกอบด้วย ประทานบัตรเหมืองชาตรีใต้ 3 ฉบับ และประทานบัตรเหมืองแร่ควอตซ์ ที่อยู่ระหว่างรออนุมัติมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งประทานบัตรแต่ละฉบับมีผลเป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2564

สำหรับขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับการขอต่อใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรม ได้เสร็จสมบูรณ์และได้รับอนุมัติแล้วเช่นกัน ซึ่งทางบริษัทจะได้รับใบรับรองจากทางรัฐบาลไทยในอีกไม่ช้า

คิงส์เกตฯระบุด้วยว่า การอนุมัติครั้งนี้จะทำให้เหมืองชาตรีกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ทางบริษัทกำลังดำเนินการในสิ่งที่จำเป็นเพื่อเริ่มเปิดเหมืองใหม่ คาดว่าจะมีการปรับปรุงโรงงาน 1 และ 2 ที่จะมีกำลังผลิตรวมกันกว่า 5 ล้านตันต่อปี รวมถึงจัดตั้งสำนักงานจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสรรหาเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติการด้วย

“ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของการทำเหมืองชาตรี ทางคิงส์เกตฯรับทราบความร่วมมือและความปรารถนาดีของรัฐบาลไทยที่แสดงผ่านทางการต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 4 แปลงในครั้งนี้”

ด้าน นายสิโรจ ประเสริฐผล กรรมการบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทขอขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลไทยที่พิจารณาข้อเท็จจริงด้วยความเป็นธรรมให้แก่บริษัทเพื่อให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งและยืนยันว่า ด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานระดับสากล และหลักในการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ให้ความสำคัญกับการเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานของบริษัทไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ดีลใหญ่แลกถอนฟ้อง ?

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีพิพาทระหว่างไทยกับคิงส์เกตฯว่า การที่รัฐบาลยอมให้บริษัทอัคราฯ กลับมาดำเนินการได้ก่อนที่จะมีคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ เท่ากับเป็นการก้มหน้ายอมรับว่าการใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองแร่ทองคำ เป็นการกระทำผิดต่อบริษัทคิงส์เกตฯ และถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยกำลังจะแพ้คดีจึงยอมกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อเปิดทางเจรจาให้มีการถอนฟ้อง

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากกฎของ UNCITRAL ซึ่งเป็นกฎที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ในการตัดสินคดี คาดว่าผลการตัดสินสามารถออกมาได้ 3 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 คือ ยุติกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายร้องขอ หรือเรียกว่าทั้งสองฝ่ายประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งอาจเกิดผลใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก บริษัทคิงส์เกตฯ ถอนคดีออกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และรูปแบบที่สอง คณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด แต่จะนำข้อตกลงประนีประนอมยอมความของคู่กรณีมาบันทึกไว้โดยไม่มีความเห็นของอนุญาโตตุลาการประกอบ

หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามจะสามารถนำบันทึกข้อตกลงนั้นไปบังคับคดีต่อไปได้ แนวทางที่ 2 คือ ออกคำชี้ขาดแค่บางส่วนบางประเด็น แล้วเก็บข้อพิพาทที่เหลือไว้ออกคำชี้ขาดในภายหลัง และแนวทางที่ 3 คือ ออกคำชี้ขาดของข้อพิพาททั้งหมด

“รัฐบาลไทยกำลังมีดีลใหญ่กับบริษัทคิงส์เกตฯเพื่อแลกกับการถอนฟ้องใช่หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้อนุมัติสิทธิสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่เกือบ 400,000 ไร่ ให้กับคิงส์เกตฯ และยังเร่งอนุมัติสัญญาเช่าอีก 4 แปลงเพื่อเปิดทางให้เหมืองทองอัคราสามารถกลับมาดำเนินการได้ ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีด้วยซ้ำ ซึ่งอาจเป็นการนำทรัพย์สมบัติชาติไปมัดจำก่อนตามที่ได้เจรจาไว้ และยังมีพื้นที่อีกเกือบ 600,000 ไร่ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่รอการอนุมัติเพิ่มเติมหลังจากนี้

ซึ่งมีประเด็นปัญหาว่า การที่รัฐบาลไทยนำทรัพยากรชาติไปใช้ในการเจรจาต่อรองในลักษณะนี้เป็นการดีลที่เกินกว่าข้อพิพาทหรือไม่ ซึ่งในอนาคตอาจเกิดปัญหาทางกฎหมายได้ จึงขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศช่วยกันจับตาผลการตัดสินคดีเหมืองทองอัคราในวันที่ 31 มกราคมนี้ และเชิญชวนให้ร่วมกันลงชื่อกับพรรคเพื่อไทย เพื่อคัดค้านการนำสมบัติชาติไปสังเวยความผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ผลักความผิดของตัวเองมาให้ประชาชนและประเทศชาติต้องรับผิดชอบแทน” น.ส.จิราพรกล่าว

พ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่เปิดทาง

ต่อเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้ว่า ตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่มีข้อกำหนดว่า กรณีที่ผู้ประกอบการทำไม่ถูกก็ให้มาทำใหม่ให้ถูกต้อง แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยมี 4 ข้อที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ ข้อกฎหมายในการขออนุญาตใช้พื้นที่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านที่ดิน และด้านมวลชน ชุมชน ถ้าทำถูกต้องตามเงื่อนไขเหล่านี้ การกลับเข้ามาทำในพื้นที่เดิมสามารถทำได้ ไม่มีปัญหา

“เหตุการณ์ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.ไม่ได้ไปยกเลิก ไม่ได้ไปยึด เพียงแต่ให้หยุดไว้ก่อน และไม่ต่ออายุให้คือให้สิ้นสุด ณ ปีนั้น เพราะตอนนั้นกฎหมายแร่ฉบับใหม่ยังไม่ออก เมื่อกฎหมายออกมาแล้วก็ให้มาขออนุญาตได้เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้ แต่เขาได้ทำอย่างถูกต้องหรือยัง ผมไม่รู้เพราะเป็นขั้นตอนที่อยู่ที่หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ผู้เกี่ยวข้องต้องไปดูแล้วรายงานขึ้นมาตามวงรอบ” นายวิษณุกล่าว