เปิดญัตติอภิปรายทั่วไป ประยุทธ์ กับ 4 รัฐมนตรี บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว

เปิดญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ที่ฝ่ายค้านยื่นจองกฐิน 5 รัฐมนตรี 30 ชั่วโมง 17-18 ก.พ. นี้ 

ศึกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 173 รายชื่อ ได้ยื่นอภิปรายเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะ 5 คณะรัฐมนตรี ซึ่งเสนอต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา 4 เรื่องใหญ่ คือ

  1. วิกฤตเศรษฐกิจในยุคข้าวของแพง ค่าแรงถูก แพงทั้งแผ่นดิน
  2. วิกฤตโรคระบาดทั้งโควิด-19 และโรคระบาด ASF
  3. วิกฤตการเมือง ยุคปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลว ใช้เงินเป็นหลัก
  4. วิกฤตล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ไร้ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหามากมาย

การอภิปรายครั้งนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวนเวลา 30 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายค้าน 22 ชั่วโมง ขณะที่รัฐบาลได้เวลาชี้แจง 8 ชั่วโมง

5 รัฐมนตรีมีใครบ้าง

ตามรายงานเบื้องต้น ระบุว่า มี 5 รัฐมนตรีที่ถูกจองกฐินในศึกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ครั้งนี้ คือ

  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เปิดญัติอภิปรายทั่วไป 5 รัฐมนตรี

หนังสือขอเสนอยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ลงชื่อโดย นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว (ผู้เสนอ) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย วันที่ 20 มกราคม 2565

หนังสือระบุว่า ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรงที่เข้าทำนอง “ข้าวของแพง ค่าแรงถูก”

อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวผิดพลาดในทุกด้านของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำและทรุดตัวมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจจนถึงการบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวกัน มีการก่อหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประชาชนและอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ก็สูงขึ้น

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่าสองล้านคน และเสียชีวิตกว่าสองหมื่นคน ขณะที่มาตรการป้องกัน และแก้ปัญหาก็ไม่มีความชัดเจนแน่นอนกลับไปกลับมา ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ขณะที่รัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมประชาชนทุกสาขาอาชีพได้รับความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า การจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนก็ล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ

ต่อมาก็เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสัตว์ รวมทั้งเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรด้วย ทำให้สุกรขาดตลาดและเนื้อสุกรมีราคาสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่รัฐบาลกลับปกปิดข้อมูลการระบาดของโรค จนทำให้การแพร่ระบาดกระจายไปทั่วประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเสียหายและเดือดร้อนในวงกว้าง

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กลับมีข้อมูลว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนรายใหญ่ อันเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้กับประชาชน การแก้ปัญหาโรคระบาดทั้งในคนและสัตว์ ขาดองค์ความรู้และภูมิปัญญา เน้นแก้ปัญหารายวัน

ขณะเดียวกันสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่จะควบคุมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัย ของประชาชนและเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสมมีการนำทรัพยากรทางธรรมชาติและเงินแผ่นดิน ไปแลกเปลี่ยนและใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาการกระทำที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี กรณีเหมืองทองอัครา

การแก้ปัญหาประมงล้มเหลวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนับแสนราย การปฏิรูปการเมือง ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่เรื่องเดียว เหตุเพราะรัฐบาลขาดความจริงใจที่จะปฏิรูปการเมือง

เช่นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการกระจายอานาจให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ทำให้ระบบการเมืองไทยถอยหลังไปกว่า 40 ปี ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

ทำให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล จากการไม่เตรียมพร้อมต่อการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสายจีน-ลาว และสูญเสียโอกาสที่จะได้จากกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) การเลือกตั้งย้อนยุคไปสู่ระบบอุปถัมภ์ และการใช้เงินเป็นหลักการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลยังส่อไปในทางทุจริตหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน

จากรายงานของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาและผลวิจัยจากภายนอก พบว่ารัฐบาลนี้มีการทุจริตสูงมาก ส่งผลทำให้อันดับการทุจริตคอร์รัปชั่นโลกของไทยสูงขึ้นซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในประเทศอย่างกว้างขวางทุกพื้นที่และยังเป็นแหล่งส่งออกยาเสพติดรายใหญ่ไปยังหลายประเทศ จนทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายไปทั่วโลก

จึงถือได้ชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นวิกฤตของประเทศที่จะต้องมีการระดมความคิดเห็นและหามาตรการเพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงมาตรการการชดเชยเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนผู้บริโภคที่ต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาสินค้า

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นจึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยจะได้ซักถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาของคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว และร่วมกันหาข้อสรุปเพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงเป้าหมาย อันจะยังประโยชน์และลดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนต่อไป

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีรายชื่อท้ายญัตตินี้ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดบรรจุญัตตินี้ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยด่วน ส่วนเหตุผลและรายละเอียดต่าง ๆ จะได้แถลงและชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป