ค่าแรง 492 บาททั่วประเทศ นายจ้างร้องระงมต้นทุนผลิตพุ่งพรวด

Photo by AFP

นับเป็นระยะเวลา 3 ปีมาแล้วหลังจากที่ คณะกรรมการค่าจ้าง ได้ให้ความเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (6 ธันวาคม 2562) เป็นรายจังหวัด (10 กลุ่มจังหวัด) โดยกรุงเทพมหานคร มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 331 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับจังหวัดนครปฐม-นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

โดยการพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนั้น (ไตรมาส 3/2562) ขยายตัวร้อยละ 2.4 เฉพาะเดือนมกราคม-กันยายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ภาวะเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 และอัตราเงินเฟ้อ ณ เดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.11 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม 2562) อยู่ที่ร้อยละ 0.74 โดยสินค้าใน กลุ่มอาหารสดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ล่าสุดจากผลกระทบราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น “เกินกว่า” 90 เหรียญ/บาร์เรล ราคาอาหารในหมวดอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมูเนื้อแดง และ น้ำมันพืช ส่งผลให้เกิดภาวะสินค้ามีราคาแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จนผู้ใช้แรงงานไม่สามารถที่จะ “ดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น” เป็นผลให้เกิดข้อเรียกร้องขอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ด้านสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาแถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนมกราคม 2565 ปรากฏดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับ 103.01 หรือสูงขึ้น 3.23 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการสูงขึ้นในรอบ 9 เดือน โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้เป็นผลมาจากราคาสินค้าใน กลุ่มพลังงาน จากการปรับเพิ่มขึ้นของ ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นมา

ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารก็ปรับตัวสูง โดยเฉพาะ เนื้อหมู น้ำมันพืช อาหารทั้งที่บริโภคในบ้านและนอกบ้าน โดย สนค.มีความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนมกราคม “ยังอยู่ในระดับปานกลางและค่อนข้างต่ำเกือบถึงอ่อน” พร้อมกับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 2565 (ภายใต้สมมุติฐานอัตราเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 น้ำมันดิบดูไบ 63-73 เหรียญ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31.5-33.5 บาท/เหรียญ) จะอยู่ในช่วง 0.7-2.4 % ค่ากลางอยู่ที่ 1.5%

จนกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องขอให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยเร็วที่สุด

กกร.ให้รอผลหารือรายจังหวัด

ล่าสุด คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการเข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อขอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ หลังการเข้าพบได้รับคำยืนยันจาก รมว.แรงงานว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ “จะต้องถูกปรับขึ้นแน่”

แต่ตัวเลขยังเป็นเท่าไหร่ยังไม่สามารถตอบได้ โดยค่าแรงขั้นต่ำที่ 492 บาทนั้น “ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะสูงเกินไป เกรงจะกระทบโรงงานจนอาจจะต้องปิดตัวลง” และให้คณะกรรมการค่าจ้างไปหารือกับไตรภาคีแต่ละจังหวัดเพื่อกลับไปศึกษาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมต่อไป

ขณะที่ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า การขอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปถึง 492 บาทนั้น “น่าจะมีโอกาสเป็นไปได้น้อย” เนื่องจากนายจ้างก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีอัตราเติบโตลดลงและอยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างลำบากด้วย

สอดคล้องกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นพร้อมกับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 4.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 จะขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับตัวขึ้นในกรอบ 1.5% ถึง 2.5%

โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นถึงการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 492 บาท ว่า ขอให้คณะทำงานเรื่องค่าแรงแต่ละจังหวัดหารือกันก่อนและต้นทุนแต่ละ จว.ไม่เท่ากัน “จึงไม่ควรอย่างมากในการปรับรายได้ขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศและการปรับขึ้นค่าแรงอาจจะส่งผลต่อการปรับราคาสินค้าด้วย”

ด้าน ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ต้องรอข้อสรุปของคณะกรรมการจังหวัด การปรับขึ้นค่าแรงจะต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบ รวมทั้งเรื่องเงินเฟ้อด้วย “ในภาวะอย่างนี้เศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพสูง จะส่งผลกระทบต่อแรงงาน หากไม่ปรับขึ้นค่าแรงเลยก็ไม่ได้ แต่การจะปรับขึ้นค่าแรงควรจะปรับเท่าไหร่นั้น ก็ต้องมาพิจารณา เพียงแต่สิ่งสำคัญ การปรับขึ้นค่าแรงในแต่ละจังหวัดไม่ควรใช้อัตราเดียวกันเพราะต้นทุนของแต่ละพื้นที่ต่างกัน”

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารต้นทุนค่าแรงน่าจะอยู่ในช่วง 20 ถึง 50% แล้วแต่สินค้า ถ้าเป็นสินค้าที่เน้นเรื่องของการตัดแต่งโดยที่ยังไม่มีเครื่องจักรช่วย ค่าแรงมากกว่า และค่าแรงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรงก็จะมีอัตราที่สูง และหากมีการปรับขึ้นค่าแรง จะมีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่ดำเนินกิจการต่อไปไม่ไหวแน่

ขึ้นค่าแรงต้องมองรอบด้าน

ด้าน นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า พอค่าแรงขึ้น ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น ราคาสินค้าก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย และหากค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 492 บาท ก็จะมีผลกระทบกับราคาบ้าน-คอนโดฯอยู่แล้ว และปีนี้ต้นทุนขึ้นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดินที่สูงขึ้น-ราคาวัสดุก่อสร้าง ดังนั้นถ้าค่าแรงขึ้นอีกต้นทุนก็จะแพงขึ้น

ในขณะที่คนซื้อบ้านไม่ได้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ก็อาจจะทำให้บ้านขายได้น้อยลง “เมื่อบ้านขายได้น้อยลง การจ้างงานเพื่อสร้างบ้านก็น้อยลง เบ็ดเสร็จแทนที่แรงงานจะได้เงินมากขึ้น อาจจะได้น้อยลงไปอีก” ในเรื่องค่าแรงอยากให้พิจารณาดูให้ถี่ถ้วน ดูเรื่องการลงทุนของภาคเอกชนที่ต้องแข่งขัน ต้องเปรียบเทียบกับค่าแรงเพื่อนบ้าน

สมมุติว่าค่าแรงของไทยแพงกว่าก็อาจจะย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่าก็ได้ โดยข้อเสนอแนะเบื้องต้นจากโจทย์กำลังซื้อของประชาชนน้อยลงเพราะสินค้าแพงขึ้น ราคาน้ำมันขึ้น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ก็ต้องให้ภาครัฐเข้าไปดูแลควบคุม จะได้ทำให้ราคาสินค้าไม่ปรับขึ้นไปเกินความจำเป็นและทำให้ประชาชนทั่วไปเดือดร้อน

ด้าน นายรุ่งอนันต์ ลิ่มทองแท่ง เลขาธิการสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ปัจจุบันค่าแรงงานพื้นฐานที่ไม่ใช่แรงงานฝีมือจะตกประมาณ 330 บาท ถ้าเป็นแรงงานฝีมืออย่างช่างไม้ ช่างปูกระเบื้อง ค่าแรงขั้นต่ำเกิน 450 บาท หากมีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็น 492 บาท ค่าแรงงานฝีมือก็จะถูกกระทบไปด้วย

ประเด็นก็คือ จะไปผลักดันให้ต้นทุนของสินค้าทั้งระบบเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าผู้ประกอบการก็ต้องปรับราคาบ้านขึ้นในสภาวะที่ปรับได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นผู้ประกอบการอาจจะเลือกที่จะปรับลดแรงงานหรือคนงานที่ไม่จำเป็นลง โดยเฉพาะที่ไม่ใช่แรงงานฝีมือ

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรงทั้งระบบ เศรษฐกิจก็ยังไม่ได้ฟื้นตัว อัตราการว่างงานก็ยังสูงอยู่ประมาณ 2% โดยช่วงนี้อาจจะมีแรงกดดันเกี่ยวกับเรื่องของอาหารที่มีราคาสูงขึ้น ราคาน้ำมันสูงขึ้น เนื้อสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งผมคิดว่าสินค้าจำพวกอาหารเป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราว

แต่น้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้นจากดีมานด์โลก แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำมาก การขึ้นค่าแรงก็จะเป็นการผลักภาระให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นไปอีก จากที่กำลังจะฟื้นตัวก็อาจจะถูกซ้ำเติมด้วยค่าแรงที่เป็นต้นทุนหลักในบางอาชีพ” นายรุ่งอนันต์กล่าว