ปรับค่าแรง 492 บาท ตอบโจทย์สินค้าแพง ค่าครองชีพขึ้นราคาหรือไม่

แรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ

เปิดเหตุผลตัวแทนแรงงานขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาทต่อวัน สินค้า ค่าครองชีพ รายการไหนขึ้นราคาบ้าง

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเรื่องความคืบหน้าการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งทางรัฐมนตรีได้ยืนยันว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงแน่นอน แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะปรับเป็นตัวเลขตามที่เสนอมาได้หรือไม่

ทั้งนี้ ตัวเลข 492 บาท ตามที่ คสรท. และ สรส. ได้เสนอนั้น มีที่มาตามที่เฟซบุ๊กเพจ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย – คสรท. ได้เผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง สินค้าราคาแพง ขอปรับค่าแรง และให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า โดยช่วงหนึ่งของเนื้อหาได้ชี้แจงถึงที่มาในการขอปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท และได้หยิบยกข้อมูลการสำรวจคนงานในพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุมทุกภูมิภาค ทั่วประเทศประมาณ 3,000 คน

ประกอบไปด้วยการสำรวจตัวเลข ค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือน ได้แก่ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งพบว่ามีอัตราค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 492 บาทต่อวัน

คสรท. ยังระบุว่า แต่หากจะให้มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัวได้ตามหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะอยู่ที่ 712 บาทต่อวัน (ข้อมูลปี 2560)

“ประชาชาติธุรกิจ” ลองคำนวณอัตราค่าเฉลี่ยรายจ่ายจาก คสรท.จำนวน 492 บาท กับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำล่าสุด ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดที่ถูกกำหนดไว้ คือ 336 บาท เมื่อนำมาคำนวณกับอัตราค่าเฉลี่ยรายจ่าย 492 พบว่า ห่างกันถึง 156 บาท หรือ คิดเป็น 46.42%

แต่หากเป็นอัตราค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ที่ 331 บาทต่อวัน ห่างจากอัตราค่าเฉลี่ยรายได้จ่าย 492 บาท อยู่ที่ 161 บาท หรือคิดเป็น 48.64%

อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ปี 2563

นอกจากนี้ คสรท. และ สรส. ยังระบุเหตุผลการขอปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ ว่า ด้วยสถานการณ์การปรับขึ้นราคาของสินค้าอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภค สาธารณูปการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้ เสนอตัวเลขการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 เป็นวันละ 492 บาท ให้เท่ากันทั้งประเทศและให้รัฐบาลประกาศโครงสร้างค่าจ้างเพื่อสะท้อนการปรับค่าจ้างในแต่ละปีอย่างเป็นระบบ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงาน ระบุไว้ในเอกสาร เรื่อง การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมาตรฐานการใช้แรงงานที่สำคัญของประเทศประการหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน ซึ่งลูกจ้างคนเดียวควรจะได้รับและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ณ ปัจจุบัน ทั้งนี้ ค่าจ้างที่ได้รับจะต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างที่กฎหมายกำหนด

การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ข้อ 2.4.2 ยังระบุว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 84 กำหนดให้การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิตราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ในแต่ละท้องถิ่น และสภาพการณ์โดยทัว่ไปของประเทศในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหารือร่วมกับ คสทร. และ สรส. นั้น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ถึงเวลาสมควรที่ต้องมีการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ แต่อาจไม่ใช่การปรับจาก 300 บาท ไปเป็น 400 บาท และคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ปรับเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศอย่างแน่นอน