เร่งถกขึ้นค่าแรง 492 บาท นายจ้างหวั่นทุบลงทุน-เจ๊ง

กระทรวงแรงงานรับลูก คสรท.-สรส. สั่งศึกษาด่วน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาทต่อวัน “สุชาติ ชมกลิ่น” แจงหลักการละเอียดยิบ เร่งประชุมไตรภาคี ด้านสภาองค์การนายจ้าง แจงเหตุผล 492 บาทต่อวัน สูงไป หวั่นกระทบการลงทุน ต่างประเทศไม่มา ธุรกิจไปไม่รอด วอนต้องช่วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ประกอบการยังเจ็บจากผลกระทบโควิด-19

จากปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนใช้แรงงานให้ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

และเป็นที่มาของความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ได้มีการยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ

ทั้งกรณีของแรงงานในระบบและนอกระบบ เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ตามอัตภาพที่เพียงพอ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุด มีผลเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2563 จากอัตรา 308-330 บาทต่อวัน เป็น 313-336 บาทต่อวัน จังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุด 336 บาทต่อวัน ได้แก่ ชลบุรี และภูเก็ต ขณะที่ กทม.และปริมณฑล ได้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน

ชง รมว.แรงงาน ขอปรับค่าแรง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ผ่านมา คสรท.และ สรส.ได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวให้รัฐบาลไป เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 หลังจากเห็นว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำใหม่

ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นหลาย ๆ อย่างได้ โดยที่ผ่านมาสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันหลาย ๆ อย่างได้ทยอยปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำภายใน 2 เดือน

โดยอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำดังกล่าวเป็นการสำรวจจากแรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ประมาณ 3,000 คน โดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายรายวัน อาทิ ค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือน ที่ประกอบด้วย ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัว บุพการี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 นายสาวิทย์ แก้วหวาน ตัวแทน คสรท. และ สรส. และคณะ ได้เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเรื่องความคืบหน้าการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

โดย คสรท.ได้สรุปประเด็นการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้ 1.เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำมีการยืนยันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่า ปรับแน่ แต่ตัวเลขจะเป็น 492 บาท ตามที่ คสรท.เสนอหรือไม่นั้น หรือเป็นเท่าไหร่ยังตอบไม่ได้ แต่จะเร่งให้เร็วที่สุด

2.สำหรับเรื่องการทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ จะพยายามไปหาแนวทางให้ แล้วจะมีการสั่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการเรื่องโครงสร้างค่าจ้าง เพื่อจะได้เลิกถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า จากนั้นจะปรับขึ้นโดยอัตโนมัติทุกปี

3.จะสั่งการให้ข้าราชการหาตัวเลขลูกจ้างในภาคราชการทุกกระทรวงทั่วประเทศว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้มีค่าจ้างที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ คสรท.เสนอว่า ลูกจ้างภาครัฐเกือบทั้งหมดเป็นลูกจ้างชั่วคราว เหมางาน แต่ได้ค่าจ้างต่ำ ไม่มีสวัสดิการใด ๆ โดยเมื่อไปเรียกร้องผลักดันหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอ้างว่า ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายแรงงานทุกฉบับ

และ 4.เรื่องการเบิกจ่ายเงินลาคลอดบุตรที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเพิ่มขึ้นจาก 90 วัน เป็น 98 วันนั้น ตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมแล้ว และส่งให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า และจะเสนอต่อรัฐสภาเพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป

โดยสาระคือ สำนักงานประกันสังคมจ่าย 4 วัน นายจ้างจ่าย 4 วัน ส่วนการให้สามีลาช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตร 15 วันนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขอเวลาไปศึกษา

รมว.แรงงานสั่งศึกษาด่วน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะสูงเกินไป และเกรงว่าถ้าขึ้นไปถึงจำนวนนี้จะกระทบโรงงานและอาจปิดตัว

ซึ่งปีที่แล้วให้คณะกรรมการค่าจ้างหารือกับคณะภาคีแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย ภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ไปศึกษา ซึ่งผลปรากฏว่ากว่า 50 จังหวัดไม่ขอขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด และสามารถจ้างงานได้ต่อ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถึงเวลาสมควรที่ต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จึงให้คณะกรรมการค่าจ้างหารือกับไตรภาคีแต่ละจังหวัดกลับไปศึกษาอีก และเชื่อว่ารอบนี้มีการปรับค่าแรงแน่นอน แต่จะกี่เปอร์เซ็นต์ต้องมาดูตามความเหมาะสม

แต่จะไม่ใช่การปัดขึ้นเป็นตัวเลข จาก 300 กว่าบาท ไปเป็น 400 กว่าบาท และคงให้ขึ้นอัตราเดียวกันทั่วประเทศคงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่หลักการคิดที่ถูกต้อง โดยจะคิดปรับขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ เพราะต้องจะพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ และผลประกอบการของโรงงานในพื้นที่นั้น ๆ

“แม้จะไม่สามารถขึ้นได้ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเสนอมา แต่จะปรับให้ตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด โดยจะมีประชุมไตรภาคีเร็วที่สุด” นายสุชาติกล่าว

นายจ้างโอด 492 บาทรับไม่ไหว

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า โอกาสการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปถึง 492 บาทต่อวัน สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและไม่สามารถใช้ปัจจัยการผลิตอื่นทดแทนแรงงานน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้น้อย

เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมมีอัตราการเติบโตที่ลดลง และผู้ประกอบการก็อยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างลำบาก

นอกจากนี้หากมีการปรับอัตราค่าจ้างขึ้นไปสูงถึง 492 บาทต่อวัน อาจจะมีผลกระทบอื่น ๆ ตามมา เช่น นักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนหรือขยายกิจการในไทยอาจไม่มา เพราะค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น หรืออีกด้านหนึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งตัดสินใจปิดกิจการไป เหมือนอย่างที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต และผลที่จะตามมาคือ การเลิกจ้างงานลอยแพลูกจ้าง หรืออีกด้านหนึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

“อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวก็อยากให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน เพราะเข้าใจลูกจ้างว่ามีภาระที่มากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าช่วงนี้ต้องช่วยกันทั้งนายจ้างลูกจ้าง ที่เจ็บตัวทั้ง 2 ฝ่ายเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นควรปรับค่าจ้างตามความเหมาะสม ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป” นายเอกสิทธิ์กล่าว