ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

บทบรรณาธิการ

มติคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี ที่นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน เมื่อ 6 ธันวาคม 2562 ที่เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563 ในอัตรา 5-6 บาท/วัน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 แทนบัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้มาตั้งแต่ 1 เมษายน 2561

เป็นของขวัญปีใหม่ทำให้ผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้นบ้าง แม้อาจยังไม่พอใจที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเฉลี่ยทั่วประเทศเพียง 1.6% ไล่ไม่ทันราคาสินค้า ค่าครองชีพที่พุ่งสวนทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาท/วัน ที่พรรคแกนนำรัฐบาลชูเป็นนโยบายหาเสียงกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

ขณะที่เสียงสะท้อนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนนายจ้าง ผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่มองว่าการปรับขึ้นค่าจ้าง 5-6 บาท/วัน เหมาะสมและยอมรับได้ แม้นายจ้างบางกลุ่มอย่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี กับภาคการเกษตรอาจยากลำบากมากขึ้น

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยปัจจัยลบ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยเหลือดูแลเอสเอ็มอี และนายจ้างในภาคการเกษตรเป็นพิเศษ พร้อมเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันรับการปรับเปลี่ยนของกระแสโลก

ส่วนผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างนั้น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระค่าใช้จ่ายที่พุ่งขึ้นไม่หยุดแล้ว รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมากระเตื้อง แม้ไม่สามารถคาดหวังได้ว่าการปรับขึ้นค่าแรง 5-6 บาท/วัน จะพลิกเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้

ขณะเดียวกัน ภารกิจท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้าหลังการปรับขึ้นค่าแรง คือ การผลักดันนโยบายรื้อสูตรค่าจ้างขั้นต่ำ ตามแนวทางของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยต้องอิงฐานข้อมูลจากการศึกษา และปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกมิติมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

จากที่ผ่านมาเน้นการเจรจาต่อรองระหว่างตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง ที่นั่งเป็นกรรมการในบอร์ดไตรภาคี ให้ได้ข้อยุติที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นแต่ละครั้งไม่ได้เป็นอัตราที่เหมาะสม หรือควรจะเป็น ทำให้ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งขาดอำนาจต่อรอง ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

จึงต้องจับตาดูพิสูจน์ผลงานและคำมั่นว่า ถึงเวลาขึ้นค่าแรงรอบใหม่ปีหน้า หากเศรษฐกิจกลับมาเป็นบวก หลายปัจจัยเอื้อให้ สูตรคำนวณค่าจ้างขั้้นต่ำมิติใหม่จะถูกนำมาใช้ ควบคู่กับนโยบายค่าแรง 400-425 บาท/วัน ที่ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานถือเป็นคำตอบสุดท้าย จะได้ไม่ต้องทวงสัญญาซ้ำซาก