ซ้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประยุทธ์ ฝ่ายค้านจองกฐิน 5 รัฐมนตรี

รอง

แม้เป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 แต่ฝ่ายค้านหมายมั่นปั้นมือใช้เวทีซักฟอกเรียกคะแนนจากคนดูว่าชกสมศักดิ์ศรี

เพราะการอภิปรายแบบไม่ลงมติ ไม่ได้เปิดให้ฝ่ายค้านใช้ซักฟอกรัฐบาลเพียงอย่างเดียว หากแต่เปิดช่องให้ฝ่ายค้านโชว์กึ๋น เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาให้รัฐบาลในแต่ละเรื่องด้วย

รัฐบาลให้เวลาฝ่ายค้านแค่ 2 วัน ในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 30 ชั่วโมง จากที่ขอไปตอนแรก 36 ชั่วโมง

ฝ่ายค้านได้เวลาทั้งสิ้น 22 ชั่วโมง รัฐบาลได้เวลาชี้แจง 8 ชั่วโมง

แบ่งให้ยิบย่อยขึ้นอีก คือ พรรคฝ่ายค้านอภิปรายวันละ 11 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลตอบคำถามวันละ 4 ชั่วโมง

เป้าหมายของ 6 พรรคฝ่ายค้าน ชี้ให้สังคมภายนอกเห็นถึงจุดเสื่อมของรัฐบาล ในจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มเสื่อมมนต์ขลังทางการเมือง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประกาศว่า “การอภิปรายครั้งนี้จะไม่มีการลงมติ แต่สิ่งที่เราเสนอข้อเท็จจริง และปัญหาให้รัฐบาลรับทราบในสิ่งที่รัฐบาลมองไม่เป็นปัญหา ข้อเสนอฝ่ายค้านในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เชื่อมั่นว่าฝ่ายค้านแต่ละพรรคจะตบท้ายด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรพิจารณาลาออก หรือคืนอำนาจให้ประชาชนได้แล้ว ถ้าอยู่ต่อไปจะเลวร้ายไปกว่านี้ ประเทศชาติจะเสียหายมากกว่านี้”

ตั้งธีมไว้ 4 หัวข้อหลัก 1.เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน ค่าแรงถูก ฝ่ายค้านเตรียมหยิบวิกฤตปัญหาน้ำมันปาล์ม หมูแพง สารพัดของแพง ฟาดหางไปยัง “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแล คนที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ คือ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์

2.เรื่องโรคระบาดโควิด-19 ที่ระบาดในคน และโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ฝ่ายค้านตั้งประเด็นชี้ให้เห็นรัฐบาลไม่จริงใจกับประชาชน และปกปิดความจริงในการแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ว่าในคน-ในสัตว์

แยกเป็น โรคระบาดในคน คือ โควิด-19 นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบไปเต็ม ๆ สำหรับการดูแลในภาพรวม คนที่ถูกฝ่ายค้านล่อเป้า หนีไม่พ้น “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข แต่ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาวัคซีนไม่มาตามนัดแบบรอบก่อน

แต่เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับความล่าช้าในการตัดสินใจรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกโอมิครอน ที่กว่าจะตัดสินใจ โอมิครอนก็ทะลัก แพร่ไปทั่วประเทศ

ส่วนโรคระบาดในสัตว์ เป้าใหญ่อยู่ที่ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ฝ่ายค้านตั้งประเด็นเรื่องปกปิดการแพร่ระบาดของโรค ASF ส่งผลกระทบให้หมูตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะโยงไปถึงภาพใหญ่เรื่องหมูแพง

3.วิกฤตทางด้านการเมือง ในยุคการเมืองใช้เงินเป็นหลัก money politic หลังจากบุคคลที่เป็นเป้าหมายคือ พล.อ.ประยุทธ์ จากข่าวลือปมถุงขนม 5 ล้านบาท แลกกับการไม่โหวตคว่ำนายกฯ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่พรรคฝ่ายค้านจะเอามาอภิปรายต่อยอด คู่ขนานกับการปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลวไม่เป็นท่ามาตลอด 8 ปี และทำให้การเมืองไทยถอยหลังลงคลอง

พรรคฝ่ายค้านปักหมุดว่า อายุรัฐบาลเหลืออีกแค่ 1 ปี ไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้แล้ว รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ล่าช้า

4.ความล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน คนที่รับบทหนักต้องฟังฝ่ายค้านอภิปรายคือ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะกรณีเหมืองทองอัครา ที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสงสัยว่ามีการเสนอผลประโยชน์สัมปทานให้บริษัทเอกชน แลกกับการไม่ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 3 หมื่นล้าน สังเวยคำสั่งมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2559

การปล่อยให้เกิดปัญหายาเสพติดระบาดไปทั่วประเทศ ภาวะฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มาพร้อมกับความหนาว โดยไม่มีการแก้ไข ผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องปัญหาประมง ประเด็นการค้า การลงทุน

สรุปเบื้องต้นมี 5 รัฐมนตรีที่ถูกจองกฐินไว้แล้ว คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

แม้อภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลใด ๆ ในสภา เพราะไม่มีการ “ลงมติ” ให้ พล.อ.ประยุทธ์หัวใจเต้นระทึก แต่มีอีกหลายประเด็นฝ่ายค้านกุมเอาไว้ใช้ตอนอภิปราย


ก็อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ที่กำลังขาลง เอามือก่ายหน้าผากก่อนนอนได้เหมือนกัน