เปิดรายชื่อพรรคใหม่ แตกแบงก์พันตั้งพรรคสำรอง หนุนอำนาจ “ประยุทธ์”

เปิดรายชื่อพรรคใหม่ แตกแบงค์พันตั้งพรรคสำรอง หนุนอำนาจ

การยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ยังเป็นไปไม่ได้ แต่ระหว่างนี้มีการขยายเครือข่ายอำนาจ ด้วยสูตร “แตกแบงก์พัน” เพื่อเป็นฐานในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ไม่ควรลืมว่า การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กรุงเทพมหานคร ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 มีพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 3 พรรค ที่รณรงค์หาเสียง “ชู-ประยุทธ์” เป็นผู้นำคนต่อไป

นอกจากพลังประชารัฐ ยังมีทั้งพรรคกล้า โดยกรณ์ จาติกวณิช, พรรคไทยภักดี ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

คล้อยหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ถึง 1 สัปดาห์ ปรากฏชื่อ  “แรมโบ้” เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ในทีมนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยหนังสือลงวันที่ 27 มกราคม 2565 ประกาศตัวย้ายพรรคมาอยู่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”

เช่นเดียวกับนายปรพล อดิเรกสาร ที่ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้าสวมพรรคใหม่ รวมไทยสร้างชาติ

พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จดทะเบียนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 กลายเป็นพรรคที่ถูกจับตามองว่าอาจเป็นพรรคสำรองของ พล.อ.ประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะนอกจากคนใกล้ตัวอย่าง “เสกสกล” ยังมีบุคคลเบื้องหลังที่ไม่เปิดหน้ามาหนุน อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ พล.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่ถอนตัวจากการลงเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. เข้าสังกัดทีมพลังประชารัฐก่อนหน้านี้

เหนือสิ่งอื่นใด มีการกล่าวอ้างอิงถึงอดีตผู้บริหารเหล่าทัพ ที่พ้นจากตำแหน่ง วุฒิสมาชิก ครบ 2 ปี ในเดือนตุลาคม 2565 ตามกฏหมาย สามารถเข้าสู่สนามการเมืองได้ หากสถานการณ์สุกงอม

ไม่เพียงแต่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่เปิดตัวผู้สมัครสมาชิกใหม่ ประกาศท่าทีสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้อุดมการณ์ในฝ่ายอนุรักษนิยม เฉกเช่นเดียวกับพรรคการเมืองเกิดใหม่จำนวนหนึ่งที่มีแนวโน้มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อาทิ

พรรคสร้างอนาคตไทย ที่มี “อุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” 2 กุมารในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงกลางปี 2563 ผันตัวมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคใหม่สร้างอนาคตไทย แม้มีจุดยืนไม่ขวา-ไม่ซ้าย อยู่ตรงกลาง แม้จะไม่ชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่โดยบุคลิกก็เป็น “พรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” ตรงข้ามเพื่อไทย-ก้าวไกล

พรรคกล้าที่มี “กรณ์ จาติกวณิช” เป็นหัวหน้าพรรค ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ ที่ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคลงสนามไปแข่งกับสุรชาติ เทียนทอง ของพรรคเพื่อไทยนั้น อรรถวิชช์ประกาศว่า ถ้าเข้าไปในสภาจะเพิ่มเสียงให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

พรรคไทยภักดี  ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่มี “ถาวร เสนเนียม” ทาบทามอยู่เบื้องหลังพรรคในการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ ชูแคมเปญขอเป็น 1 เสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งเคยปรากฏเป็นข่าวบ้างประปราย อาทิ พรรคไทยชนะ (ทช.) วันที่จัดตั้ง 31 สิงหาคม 2564

แม้กระทั่ง พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นหัวขบวนร่วมกับ 20 ส.ส.ที่ถูกขับพ้นพลังประชารัฐ ก็ทำสัญญากับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไว้ว่า จะต้องโหวตไว้วางใจไปทิศทางเดียวกับฝ่ายรัฐบาล

พรรครวมพลังประชาชาติไทย มี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรค ด้วยการก่อตั้งของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เมื่อปี 2561 ปัจจจุบัน มี ส.ส. 5 คน และ 1 ตำแหน่ง คือนายเอนก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

พรรคไทยสร้างสรรค์ มีคณะกรรมการบริหารพรรค 10 คน มีนายธำรงค์ เรืองธุระกิจ เป็นหัวหน้าพรรค และมี น.ส.ญาณิศา จันทรเรือง เป็นเลขาธิการพรรค แต่ขณะเดียวนักการเมืองสนทนากันว่า มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ร่วมอยู่ด้วยแต่ไม่ได้เปิดหน้าโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งรับจดทะเบียนพรรคไทยสร้างสรรค์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ถ.สุโขทัย เขตดุสิต กทม.

นักการเมืองเก๋าเกมระดับแกนนำหนุนเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย วิเคราะห์ตรงกันว่า ยังไม่มีเหตุและเงื่อนไขได ๆ ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจยุบสภา หรือลาออก

เพราะมีภาระ-เครื่องหลัง ทั้งกฎหมายสำคัญที่แต่ละพรรคปักธงไว้ยังไม่ผ่าน ไม่นับรวมกฎหมายการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง ที่จะเป็นเครื่องมือในการเลือกตั้งสมัยหน้า ที่คาดหมายกันว่าอาจจะจบภายในกรกฎาคม 2565

แนวร่วม แนวหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ยังอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งพรรคเกิดใหม่ สไตล์แตกแบงก์พัน และพรรคเกิดก่อน ที่พร้อมเป็นพันธมิตร เพื่อผดุงอำนาจของกันและกัน