ศาลปกครองกลางยกฟ้อง ธาริต ร้อง ป.ป.ช.-เลขานายกฯ ไล่ออกราชการ

ศาลปกครอง

ศาลปกครองกลาง ยกฟ้อง “ธาริต” ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่ง “ป.ป.ช.-เลขานายกฯ” ปมไล่ออกราชการปี 60 ชี้ 4 ประเด็นที่ยกอ้างฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น

วันที่ 9 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดว่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่ำรวยผิดปกติ อันเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประเด็นที่นายธาริตยกมา ได้แก่

1.การดำเนินการของ ป.ป.ช.ขัดกับมาตรา 80 วรรค 1 (2) แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 แท้จริงแล้วไม่ใช่ การดำเนินการของ ป.ป.ช. เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 80 วรรค 1 (4) แห่งพ.ร.บ.ฉบับข้างต้นแล้ว

ซึ่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สามารถดำเนินการไล่ออกจากราชการได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด นอกจากนั้นพฤติกรรมการยักย้าย โอน แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินที่ได้มาผิดปกติ ถือเป็นพฤติการณ์แห่งการกระทำที่ร้ายแรงมาก

การนำคุณงามความดีในการป้องกันและปราบปรามทุจริต หรือประวัติการรับราชการที่ไม่เคยด่างพร้อย ก็ไม่เป็นเหตุที่จะต้องนำมาใช้ในการพิจารณาลดหย่อนโทษให้

เพราะนายธาริตเป็นผู้ถูกปลดออกจากราชการ และไม่ปรากฏว่าเลขาธิการนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจโดยไม่ชอบตามกฎหมาย แถมในระหว่างการพิจารณาศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของนายธาริตและภรรยารวม 341 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดินด้วย

2.การแจ้งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่ากำลังฟ้องเพิกถอนคำสั่ง ป.ป.ช.อยู่ ควรรอให้มีคำตัดสินก่อน โดยอ้างแนวคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ บ.226/2559 นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติไหนให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องรอให้คำพิพากษาถึงที่สุดก่อน แล้วค่อยดำเนินการ ข้ออ้างนี้จึงฟังไม่ขึ้น

3.การที่ ป.ป.ช. นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 มาอ้างอิงในการแจ้งข้อหาร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งนายธาริตอ้างว่า ไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วนั้น

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและพิจารณาวินิจฉัยว่าร่ำรวยผิดปกติ เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 80 วรรค 1 (4) ที่ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหา สั่งลงโทษ ไล่ออกหรือปลดออก

โดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ใช่ การไต่สวนข้อเท็จจริงและพิจารณาวินิจฉัยมีมติชี้มูลความผิดว่า กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้น จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียง ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

และ 4. การอ้างเอาคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สิน นายสมบัติ อุทัยสาง อดีต รมช.มหาดไทย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นางสุจิวรรณ อุทัยสาง กับพวกรวม 4 คน ตกเป็นของแผ่นดินในประเด็นว่า การชี้มูลในขณะที่ดำรงตำแหน่ง อธิบดีดีเอสไอ เข้านิยาม “ผู้บริหารระดับสูง” ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542

ซึ่งจะมีผลให้เข้ากับมาตรา 80 วรรค 1 (1) ของพ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน ที่จะต้องให้ประธาน ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น

ศาลเห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยถึงอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. เท่านั้น และกรณีที่จะต้องบังคับแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ไม่อาจตีความตามที่นายธาริตอ้างได้

สรุปแล้วข้อกล่าวอ้างของนายธาริตในฐานะผู้ฟ้องคดีไม่อาจรับได้ พิพากษายกฟ้อง