ยุบสภา ครั้งที่ 15 บิ๊กป้อมชิงประกาศตัดหน้า ชินวัตร-เพื่อไทยแลนด์สไลด์

หาก พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาตามข้อเสนอของบิ๊กป้อม จะเป็นการส่งสัญญาณถึงนักธุรกิจ-การเมือง ให้เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองล่วงหน้า 9 เดือน

การยุบสภาในรอบ 84 ปี ถ้าเกิดขึ้นตามคำพยากรณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บุคคลที่มีบารมีทางการเมืองคับฟ้า เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี ผู้จัดการรัฐบาล และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศไทม์ไลน์ล่วงหน้าถึง 9 เดือน

โดยกำหนดวัน ว. เวลา น. ไว้ชัดเจนว่าจะมีการยุบสภาช่วงปลายปี 2565 หลังการประชุมเอเปกที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565

ประกาศตัดหน้าช่วงที่พรรคเพื่อไทย และครอบครัวชินวัตร เตรียมสรรพกำลังเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า พร้อมยิ่งกว่าพร้อม สำหรับรับกระแสและกระสุนดินดำในการต่อสู้กับการเลือกตั้งครั้งที่ดุเดือดที่สุด ชิงชัยให้เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล และดันคนในตระกูลชินวัตร ขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ

ไม่ควรลืมว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 108 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นได้ก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีเสนอเท่านั้น”

ส่วนในวรรคสอง บัญญัตแนวการปฏิบัติไว้ว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา พระราชกฤษฎีกาจะใช้บังคับเมื่อใดแล้วแต่กำหนดไว้ในนั้นเอง แต่ต้องหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ

หากยึดไทม์ไลน์ของ พล.อ.ประวิตร ผนวกกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อาจคาดการณ์ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะอยู่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเกือบครบวาระรัฐบาล 4 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 24 มีนาคม 2562

ถือเป็นการยุบสภาที่คาดการณ์ทำนายผลได้ล่วงหน้า โดยยังไม่ได้คำนวณกรณีอุบัติเหตุทางการเมืองเป็นปัจจัยประกอบ

ต่างไปจากการตัดสินใจยุบสภา 14 ครั้งที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่เกิดจากปมปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล และการชุมนุมของประชาชนนอกสภา ปัจจัยการยุบสภาแต่ละครั้งมีดังนี้

การยุบสภาครั้งแรก ในยุคพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผลมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในญัตติเรื่องการจัดทำรายละเอียดงบประมาณแผ่นดิน เมื่อ 11 กันยายน 2481

ครั้งที่ 2 ยุคหม่อมพี่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี การยุบสภาเกิดขึ้นเพราะยืดอายุมาต่อเนื่อง และสมควรแก่เวลา เกิดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2488

ครั้งที่ 3 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเมื่อ 16 ธันวาคม 2516 ด้วยปัญหาสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติลาออก จนฝ่ายบริหารไม่สามารถทำหน้าที่ได้

ครั้งที่ 4 ยุคหม่อมน้อง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ต้องยุบสภาเพราะปัญหาขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีมากกว่า 10 พรรค ในวันที่ 12 มกราคม 2519 ก่อนที่ช่วงปลายปีจะเกิดเหตุการณ์ “ตุลาวิปโยค”

ครั้งที่ 5 ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี 3 สมัย มีการยุบสภา 3 รอบ เริ่มจากรอบแรก เกิดประเด็นปัญหาสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 นำไปสู่การยุบสภา 19 มีนาคม 2526

ครั้งที่ 6 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ยุบสภารอบที่ 2  เพราะรัฐบาลแพ้เสียงในสภา ในการออกพระราชกำหนดการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529

ครั้งที่ 7 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยุบสภารอบที่ 3 เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล หลังจาก ส.ส.ส่วนหนึ่งลงมติไม่สนับสนุน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ที่รัฐบาลเสนอ ทำให้กฏหมายดังกล่าวไม่ผ่านการเห็นชอบของสภาในวันที่ 29 เมษายน 2531

ครั้งที่ 8 ยุคนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการยึดอำนาจ หลังเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” และยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2535

ครั้งที่ 9 ยุคของชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีคณะรัฐมนตรีบางคนจากพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ทำให้พรรคพลังธรรมงดออกเสียง นำไปสู่การยุบสภาวันที่ 19 พฤษภาคม 2538

ครั้งที่ 10 สมัยของนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกฝ่ายค้านนำโดยประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลกดดันทางการเมืองให้ลาออก แต่นายบรรหารชิงยุบสภาในวันที่ 27 กันยายน 2539

ครั้ง ที่ 11 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 เมื่อจบภารกิจทางการเมือง และบริหารปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ 2540 จึงยุบสภาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543

ครั้งที่ 12 ยุคนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยแรกอยู่จนครบวาระ แต่เมื่อขึ้นสู่สมัยที่ 2 เกิดปมปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และมีการชุมนุมเผชิญหน้ากันหลายฝ่าย นำไปสู่การยุบสภาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

ครั้งที่ 13 ยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเข้ามาคลี่คลายปัญหาความแตกแยกทางการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมือง แล้วยุบสภาในวันที่ 10 พฤษภาคม 22554

ครั้งที่ 14 ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เผชิญหน้ากับการชุมนุมยืดเยื้อ ของกลุ่ม กปปส. คัดค้านการออกกฏหมายนิรโทษกรรม พ.ศ. 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจแถลงข่าวประกาศยุบสภาวันที่ 9 ธันวาคม 2556

การยุบสภา ครั้งที่ 15 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามข้อเสนอของ พล.อ.ประวิตร ด้วยการประกาศล่วงหน้าถึง 9 เดือน ส่งสัญญาณให้นักธุรกิจและนักการเมือง เตรียมการบริหารจัดการ วางแผนลงทุนโครงการต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องแบบไร้รอยต่อ หากผลการเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นไปตามกลุ่มอำนาจ 3 ป. คาดการณ์ไว้

หากเพื่อไทยโดยทีมทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวเพื่อไทย ไม่ชิงชัยชนะแบบหิมะถล่ม-แลนด์สไลด์ไปเสียก่อน

ไม่ควรลืมว่า ทั้งทักษิณและเพื่อไทย วางกำลังจัดฐาน ส.ส.ไว้ล่วงหน้าทุกเขตทั่วประเทศไว้แล้ว ก่อนที่ พล.อ.ประวิตรจะชิงจังหวะประกาศยุบสภา