ลือยุบสภา เปิดรัฐธรรมนูญหาสาเหตุ “ประยุทธ์” ชิงจังหวะก่อนไม่ไว้วางใจ 

ข่าวลือ ข่าวปล่อยหนาหูเรื่อง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อาจประกาศ “ล้างไพ่” ยุบสภา ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 22 พฤษภาคม 2565 เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ 

เป็นจังหวะเดียวกับที่ 3 ป. ผู้ถือดุลอำนาจการเมืองสูงสุด คือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ตั้งใจแจกจ่ายภาพกินข้าวระหว่าง 3 ป. เผยแพร่ ให้เป็นข่าว 

แถมมีการรายงานบรรยากาศ ว่า “พล.อ.ประวิตร” ได้ตักกุ้งให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์” โดย พล.อ.ประวิตร ได้ลงทุนทำผัดผัดกุ้งกระเทียมโดยตนเอง ภายในครัวมูลนิธิป่ารอยต่ออีกต่างหาก 

อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานทางการเมืองเรื่อง “ยุบสภา” ถูกพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 

ที่วิเคราะห์กันว่า หลังเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ซึ่งกำหนดว่า เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติ รัฐบาลจะ “ยุบสภา” หนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ 

ประกอบกับ รอยร้าวในซีกรัฐบาล ช่วงปีสุดท้ายก่อนครบวาระ เริ่มปรากฏชัด 

โดยเฉพาะความแตกละเอียดภายในพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นพรรคหลักของรัฐบาล ที่กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แยกตัวออกไปอยู่กับพรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียง เป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาล

ดังนั้น หากนายกฯ เดินหน้าเข้าสู่กับดักอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อถึงนาทีเป็นนาทีตาย ตอนโหวต พรรคเศรษฐกิจไทยอาจพลิกไปโหวตไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ อาจถูกน็อกคาสภาได้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ เอาไม่อยู่

เพราะเรื่องการทำรัฐประหารในสภา เคยมีให้เห็นแล้ว เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส เดินเกมล้มนายกฯ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนกันยายน 2564 เพียงแค่ครั้งนั้น “ข่าวหลุด” ไปถึงหู พล.อ.ประยุทธ์ จึงวางแผนปราบกบฏ 

จากเป็นผู้ก่อการรัฐประหาร ร.อ.ธรรมนัส จึงกลายเป็น กบฏ ถูกปลดออกจากรัฐมนตรี ก่อนปิดฉากตัดสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐ เดินหน้าสู่เศรษฐกิจไทย เป็นหอกข้างแคร่เต็มตัว 

พลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบกับ “เจตนารมณ์” ที่ห้าม “ยุบสภา” เมื่อฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมีดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 151 ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ เมื่อได้มีการเสนอญัตติตามวรรคหนึ่งแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียง

เมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลง โดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ การลงมติในกรณีเช่นว่านี้มิให้กระทําในวันเดียวกับ วันที่การอภิปรายสิ้นสุดลง มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร 

รัฐมนตรีคนใดพ้นจากตําแหน่งเดิมแต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตําแหน่งอื่นภายหลังจากวันที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อตามวรรคหนึ่ง หรือพ้นจากตําแหน่งเดิมไม่เกินเก้าสิบวันก่อนวันที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อตามวรรคหนึ่ง แต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตําแหน่งอื่น ให้รัฐมนตรีคนนั้น ยังคงต้องถูกอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต่อไป

ขณะที่เจตนารมณ์คณะร่างรัฐธรรมนูญ บันทึก กรณีที่ “ห้ามยุบสภา” หลังฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอกไว้ว่า 

“เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีการตรวจสอบการใช้อานาจของรัฐมนตรี ตามหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อมีการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลงแล้ว ห้ามมิให้ลงมติในวันที่มีการอภิปราย ทั่วไปสิ้นสุดลง ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีเวลาไตร่ตรองก่อนลงมติ” 

เรื่องการห้ามรัฐบาล “ยุบสภา” หนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เริ่มต้นเป็นครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ในมาตรา 185 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าสองในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีญัตติ ดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 201 วรรคสองด้วย 

“และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือ การลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรคสาม”

ในหนังสือ “เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ” ของสถาบันพระปกเกล้า  “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า (ขณะนั้น)  วันที่ 10  ตุลาคม 2544 หน้า 57 ระบุ อยู่ใน “มาตรการควบคุมไม่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นเผด็จการ” ถ้าให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากเกินไป  

“การห้ามยุบสภาระหว่างที่มีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจแล้ว (มาตรา 185 วรรคหนึ่ง) เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีก่อน”  

และหลักการดังกล่าวก็ถูกนำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 158 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มี อยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี 

ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 171 วรรคสอง ด้วย และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ หรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรคสาม

ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายค้านจึงมองข้ามชอตว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจชิงยุบสภา ก่อนยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตีคู่กับข่าวลือว่า หลังมื้อเที่ยงที่ พล.อ.ประยุทธ์ – ประวิตร ได้พบกันเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ว่า … อาจชิงยุบสภา ก่อนที่ฝ่ายค้านจะยื่นซักฟอก!