สารพัดพรรคแนวร่วม “ประยุทธ์” แบกรัฐบาล ไม่ยุบสภา ยื้อครบวาระ

ประยุทธ์
รายงานพิเศษ

 

การเมืองชุลมุนในสภาผู้แทนราษฎร ส่อเค้าองค์ประชุมล่มแทบทุกสัปดาห์ จนกว่าจะปิดสมัยประชุมสิ้นเดือนกุมภาพันธ์

ในจังหวะที่เสียงของรัฐบาลขี่กับพรรคฝ่ายค้านเพียงแค่หลักหน่วย หลังจากทีมผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า แยกตัวออกจากพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่รู้ออกหัว-ออกก้อย จะย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทยโดยสมบูรณ์ หรือเกมพลิกเกิดอุบัติเหตุไปอยู่พรรคใหม่ไม่ได้ต้องพ้น ส.ส.ทั้งยวง เหตุขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นายกรัฐมนตรีนอกสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

แต่อีกฟากหนึ่งพรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย เมื่อเห็นว่าพรรคแกนนำรัฐบาลไม่เป็นเอกภาพ จึงเล่นเกม “ล้มสภา” หวังต่อยอดให้เกิด deadlock กระบวนการออกกฎหมาย นำไปสู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจเลือกไพ่ใบสุดท้าย “ยุบสภา” ก่อนถึงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนพฤษภาคม

บนสมมุติฐานของพรรคเพื่อไทยว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ชิงยุบสภา เมื่อพรรคฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถยุบสภาได้ อาจจะถูกน็อกคาเวทีสภา แพ้เสียงโหวตไม่ไว้วางใจ

กกต.ตัดสินอนาคตกลุ่มธรรมนัส

เมื่ออุบัติเหตุการเมืองอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แม้เปอร์เซ็นต์ที่รัฐบาลจะพลิกคว่ำแหกโค้งในช่วงเวลานี้จะยากยิ่งนัก

เพราะแม้แต่พรรคเศรษฐกิจไทยที่ดำเนินการโดย ร.อ.ธรรมนัสยังมิอาจพร้อมลงเลือกตั้งในแบบปัจจุบันทันด่วน จึงเขย่ารัฐบาลได้ไม่เต็มกำลัง

แค่รอการรับรองมติของพรรคพลังประชารัฐเรื่อง การขับ 21 ส.ส.พ้นพรรค จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ถูกต้องอย่างเป็นทางการ เพื่อนำไปเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยโดยสมบูรณ์ ซึ่ง กกต.นัดประชุมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ยังทำให้หัวใจ 21 ส.ส.ที่ออกจากพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงคนในพรรคพลังประชารัฐเองยังรอลุ้นด้วยใจระทึก

เพราะจู่ ๆ มีสมาชิกพรรคพลังประชารัฐกว่า 100 คน ไปแย้งกับ กกต.ว่ามติการขับ 21 ส.ส.ไม่ชอบ หัวขบวนที่ไปร้อง กกต. คือ “สมัย รามัญอุดม” อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ใช่ว่าจะไม่มีหัวนอนปลายเท้า “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วิเคราะห์ว่า 1.การวินิจฉัยของ กกต.ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ออกได้ 2 ทาง คือ ทางแรก มติของพรรคที่ให้ ส.ส.ทั้ง 21 คนออกจากพรรค เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วในกรณีนี้ไม่เป็นปัญหา

โดย ส.ส.ทั้ง 21 คนต้องหาพรรคใหม่สังกัดใน 30 วัน และ 18 คนที่สมัครเข้าพรรคเศรษฐกิจไทยตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 มีผลทำให้ชื่อไปอยู่พรรคใหม่โดยสมบูรณ์ 2.ทางที่สองในกรณีที่ กกต.มีวินิจฉัยว่าการลงมติไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 42 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง หากพบว่ามติของพรรคขัดต่อกฎหมาย ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนมติดังกล่าวได้ โดยการเพิกถอนมติหมายถึง มติดังกล่าวไม่มีผลบังคับ นั่นหมายความถึง 21 คนยังมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอยู่

3.ความยุ่งยากอยู่ที่ 18 คนได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยแล้วเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ตามหนังสือตอบของ กกต.ที่มีต่อการสอบถามจากเลขาธิการสภาผู้แทนฯลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ส.ส. 18 คนดังกล่าวจึงอาจมีสถานะการเป็นสมาชิกพร้อมกันสองพรรคในวันที่ กกต.วินิจฉัย (14 กุมภาพันธ์ 2565)

4.มาตรา 26 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดว่า หากนายทะเบียน (เลขาธิการ กกต.) พบว่ามีการซ้ำซ้อนของสมาชิกพรรคการเมือง ให้แจ้งกลับหัวหน้าพรรคให้ลบชื่อผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกพรรคโดยเป็นการแจ้งเมื่อพบ ซึ่งหมายความว่า ต้องแจ้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 หาก 18 คนนั้นมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยด้วย

5.การลบชื่อสมาชิกที่ซ้ำซ้อน ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. มิใช่การลงมติขับที่เปิดโอกาสให้หาพรรคใหม่ใน 30 วัน แปลว่า 18 คนอาจหลุดจาก ส.ส.โดยไม่เข้าเงื่อนไขถูกขับตามมาตรา 101 (9) ของรัฐธรรมนูญ เป็นการหลุดจากการเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนสองพรรค

6.เกมการให้พรรคขับนั้นคมยิ่ง แต่เกมที่ให้คนร้องว่ามติไม่ชอบก็คมไม่แพ้กัน คนวางหมาก แก้หมากแต่ละฝ่ายล้วนไม่ธรรมดา เป็นคมที่เฉือนคม จึงต้องรอดูว่าการวินิจฉัยของ กกต.ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จะเป็นอย่างไรและทางแก้ของแต่ละฝ่ายจะเป็นเช่นไร

“7.ศึกธรรมนัสยังไม่จบ จึงอย่าเพิ่งนับศพใคร เพราะศพที่ระเนระนาดอาจเป็นศพที่เรี่ยราดของฝ่ายตัวเองได้”

เกมของ 18 ส.ส.ในนามพรรคเศรษฐกิจไทย กว่าจะเขย่ารัฐบาลได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามข้อเรียกร้อง ยังต้องร้องเพลงรอ เผลอ ๆ อาจจะถูกปิดเกมตั้งแต่หัววัน หากคำตัดสินของ กกต.เป็นไปอย่างที่ “สมชัย” วิเคราะห์

แกะชื่อพรรคหนุนประยุทธ์

เมื่อการยุบสภายังไม่อาจเกิดขึ้นโดยง่ายในความเป็นจริง จึงปรากฏความเคลื่อนไหวเล็ก ๆ แต่ไม่อาจมองข้าม-ไม่ให้ราคา

คือการที่ “แรมโบ้” เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ย้ายพรรคมาอยู่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” อีก 1 พรรค ที่ถูกจับตามองว่าอาจเป็นพรรคสำรองของ พล.อ.ประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

การปรากฏตัวของ “รวมไทยสร้างชาติ” เท่ากับเพิ่มพรรคการเมืองที่ยืนยันตัวตนว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งอุดมการณ์อยู่ฝ่ายอนุรักษนิยม เฉกเช่นเดียวกับพรรคการเมืองเกิดใหม่จำนวนหนึ่งที่มีแนวโน้มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อาทิ

สร้างอนาคตไทย ที่มี “อุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” 2 กุมารในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงกลางปี 2563 ผันตัวมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคใหม่สร้างอนาคตไทย แม้มีจุดยืนไม่ขวา-ไม่ซ้าย อยู่ตรงกลาง แม้จะไม่ชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่โดยบุคลิกก็เป็น “พรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” ตรงข้ามเพื่อไทย-ก้าวไกล

พรรคกล้าที่มี “กรณ์ จาติกวณิช” เป็นหัวหน้าพรรค ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ ที่ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคลงสนามไปแข่งกับสุรชาติ เทียนทอง ของพรรคเพื่อไทยนั้น อรรถวิชช์ประกาศว่า ถ้าเข้าไปในสภาจะเพิ่มเสียงให้รัฐบาล

“โหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าไม่มีการทุจริตอะไร โหวตให้นายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว เพราะยังไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางศึก เช่นเดียวกับการอภิปรายงบประมาณประจำปี ต้องโหวตเห็นด้วยแน่นอน”

“พรรคไทยภักดี” ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่มี “ถาวร เสนเนียม” ทาบทามอยู่เบื้องหลังพรรคในการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ ชูแคมเปญขอเป็น 1 เสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งเคยปรากฏเป็นข่าวบ้างประปราย อาทิ พรรคไทยชนะ (ทช.) วันที่จัดตั้ง 31 สิงหาคม 2564

ยุบสภา Impossible

ขณะที่ขั้วพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 และ 3 วิเคราะห์สถานการณ์ตรงกันว่า รัฐบาลจะยุบสภาหรือจะอยู่-อยู่จนครบวาระ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีทางยุบสภาอยู่แล้ว เป็นเรื่อง impossible เพราะกฎหมายหลาย ๆ ตัวยังไม่เสร็จ ทั้งกฎหมายการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง

สภาพกระท่อนกระแท่นแต่ไปได้ รัฐบาลจะอยู่จนเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปก เพราะวาระและโครงการที่ออกมายาวไปถึงมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2566 เรื่องยุบสภาก่อนกฎหมายลูกเสร็จเป็นไปไม่ได้ กฎหมายลูกจะเสร็จอย่างช้าในเดือนกรกฎาคม

และกฎหมายลูกจะผ่านหรือไม่เป็นเรื่องของรัฐสภา ความตั้งใจของรัฐบาลต้องการอยู่ให้ครบวาระ แต่อุบัติเหตุทางการเมืองไม่มีใครทราบล่วงหน้าได้ เป็นเรื่องไม่คาดฝัน เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ ปมวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี

“ฝ่ายที่ต้องการล้มรัฐบาลต้องการเขย่าพรรคร่วมรัฐบาลให้สั่นสะเทือนครบทุกพรรค แต่หลักการการยุบสภา คือ รัฐบาลมีความขัดแย้งกับสภา จึงจำเป็นต้องให้ประชาชนต้องตัดสิน แต่เมื่อสภาปิดสมัยประชุมปัจจัยการยุบสภาก่อนเดือนพฤษภาคมย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่วาระทางการเมืองที่จะปะทุขึ้นมาระหว่างรัฐบาลจะครบวาระก็เกิดขึ้นได้”

วันนี้แนวร่วม “พล.อ.ประยุทธ์” ยังคงเหนียวแน่น ทั้งพรรคเก่าและพรรคเกิดใหม่