ประชัน 5 นโยบายหาเสียง ผู้ว่าฯ กทม.

รมว.ท่องเที่ยวฯ หารือผู้ว่าฯกทม. เลื่อนเปิดกรุงเทพฯ ดีเดย์ 15 ต.ค. นี้
ภาพจาก pixabay

คำปรามาสที่ว่า ใครมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. กรุงเทพฯ ก็เหมือนเดิม สมรภูมินโยบายของว่าที่พ่อเมืองเสาชิงช้าคนที่ 17 จึงเต็มไปด้วยความหวัง-ความฝัน เพื่อซื้อใจคนเมือง

5 แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.งัดนโยบายเด่น-เด็ดดวง ขายไอเดียในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งปลายเดือนพฤษภาคม

“รัฐมนตรีที่แข่งแกร่งที่สุดในปฐพี” ปล่อยหมัดชุด “200 นโยบาย” ผ่านการร่อนตะแกรง 300 ครั้ง มุ่งเส้นเลือดฝอย และแนวคิด “กรุงเทพฯ 9 ดี” เข้ากับมอตโต้ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

ยกตัวอย่างเช่น ซ่อมแซมทางเท้า 1,000 กิโลเมตร เพิ่มรถเมล์สายหลักและสายรองราคาถูก-ราคาเดียว จัดทีม “นักสืบฝุ่น” ศึกษาต้นตอ PM 2.5 จัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรกลาง command center จัดพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่

แก้ปัญหาพื้นที่ต่ำ 50 เขต 250 ซอย ขุดลอก-ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,000 กิโลเมตร บ้านมั่นคง ที่อยู่อาศัยชั่วคราว (housing incubator) สำหรับนักเรียนนักศึกษาจบใหม่อายุ 18-25 ปี เช่าในราคาต่ำ ระยะเวลา 5 ปี

ขณะที่ “จั้ม-สกลธี” อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. จุดเด่น ไม่ต้องทดลองงาน-ขาย “ทีมเวิร์ก” สานต่อ “กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้” ต่อยอดงานใหม่-สานต่องานเก่า เช่น การปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับรถมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า

“ดร.เอ้-สุชัชวีร์” ชูความ สด-ใหม่ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” เน้นแก้ปัญหาซ้ำซาก เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหารถติด ปัญหาฝุ่น ปัญหาพื้นฐานที่ซุกอยู่ใต้พรมก้อนมหึมาอย่างปัญหาการศึกษา สาธารณสุข-คุณภาพชีวิต

ปักธงให้เป็น “กรุงเทพฯ เมืองสวัสดิการ” เช่น โรงเรียนใกล้บ้าน 50 เขต 50 โรงเรียนต้นแบบ เพิ่มหมอเฉพาะทาง 3 วันต่อสัปดาห์ อินเทอร์เน็ตฟรี 1.5 แสนจุด ยกระดับศูนย์บริการอนามัยชุมชน 68 ศูนย์ เป็นศูนย์การแพทย์เครื่องมือทันสมัย

“วิโรจน์-ก้าวไกล” เน้นนโยบายแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ตามสไตล์ “ถึงลูกถึงคน” เช่น แก้ปัญหาส่วยบนดิน ตรวจสอบสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายแล้ว

ยังมีนโยบาย Affordable Housing ที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชน 20,000 ยูนิต เฟสแรก (4 ปี) 10,000 ยูนิต งบประมาณ 15,000 ล้านบาท

เป็นนโยบายที่ “พุ่งเป้า” ไปที่บ้านพักกองทัพ-แฟลตนายพล “ใจกลางเมือง” โดยใช้ “พื้นที่เดิม” ของ “ทหาร” สร้างบ้านให้กับ “พลเรือน” รวมถึง “เปิดหน้าดินใหม่” ที่ดินราชพัสดุ-สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และที่ดินตาบอด

นโยบาย “รัฐสวัสดิการ” ที่ต่อเนื่องมาจากนโยบายของอดีตพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มสวัสดิการคนกรุงเทพฯ เช่น เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท เพิ่มเงินเลี้ยงเด็กเล็ก 0-6 ขวบ เดือนละ 1,200 บาท เพิ่มเบี้ยคนพิการคนละ 1,200 บาท งบประมาณ 7,300 ล้านบาทต่อปี แหล่งที่มาของงบประมาณจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 10,000 ล้านบาท

“รสนา” ใช้ความคล่องตัวความเป็น “อิสระ” จากพรรคการเมือง-กลุ่มการเมือง เคลื่อนนโยบายลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ แก้หนี้สิน ใช้หน่วยงานในสังกัด กทม. เช่น กรุงเทพธนาคม ตลาดสด โรงรับจำนำ มาผลักดันนโยบาย

เช่น จัดสรรพื้นที่ใน กทม.ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้ทำมาหากิน เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ จัดหากองทุน-แหล่งเงินทุนสำหรับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย นอกจากจะให้สามารถเข้าหาแหล่งเงินทุนได้แล้ว ยังแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ จัดการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียน 12 ปี และศูนย์ดูแลเด็กเล็ก จัดอาหารให้กับเด็กเล็กวัย 0-6 ขวบ

นโยบาย 5 แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. โดนใจ ไม่หนีกัน สุดท้ายชี้ขาดกันที่ “จริตคน กทม.” ว่า อยากได้สไตล์การทำงาน “พ่อเมือง-แม่เมืองเสาชิงช้า” แบบไหน