“อัศวิน ขวัญเมือง” เปิดผลงาน 5 ปี 5 เดือน บนเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

ผู้ว่าฯ อัศวิน
Photo : Facebook ผู้ว่าฯ อัศวิน

ส่องผลงาน 5 ปี ผู้ว่า กทม. “อัศวิน ขวัญเมือง” ทิ้งผลงานอะไรไว้ให้กรุงเทพฯ บ้าง

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ครองตำแหน่งมาตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ เพื่อลงเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. ซึ่งจะเลือกตั้งในราวเดือน พ.ค.นี้

“ประชาชาติธุรกิจ” พาส่งท้ายตำแหน่งผู้ว่า กทม. คนที่ 16 โดยรวบรวมประวัติผลงาน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบื้องหลังการพัฒนากรุงเทพฯ ตลอด 5 ปีดังนี้

จากมือปราบปิดจ๊อบสู่เก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หรือ บิ๊กวิน ปัจจุบันอายุ 71 ปี พื้นเพเป็นชาวสุพรรณบุรี เคยรับราชการตำรวจ และขึ้นชื่อว่าเป็นมือปราบ จากผลพวงการทำคดีสำคัญ อาทิ คดีล้อมจับโจ ด่านช้าง, ผลงานคลี่คลายคดีคาร์บอมบ์ลอบสังหาร ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงคดีปิดท้ายชีวิตราชการตำรวจ กับการทลายขบวนการยาเสพติด โจ๊ก-จิ๊บ ไผ่เขียว

ก่อนในเวลาต่อมาจะผันตัวเข้าสู่เส้นทางการเมืองผ่านการทาบทามจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นทีมงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 จนท้ายสุด พล.ต.อ.อัศวิน ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.

ขณะที่ในปี 2559 ช่วงเข้าสู่ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปีที่ 2 ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 สั่งปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากหลายโครงการใน กทม. ส่อทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น โครงการประดับไฟลานคนเมืองต้อนรับปีใหม่ 2559 มูลค่า 39.5 ล้านบาท โครงการปรับปรุงห้องผู้ว่าฯ กทม. และคณะบริหาร มูลค่า 16.5 ล้านบาท เป็นต้น

ประกอบกับการไม่สามารถจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ ตามนัยแห่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ยังบังคับใช้

แต่งานบริหารพื้นที่ กทม.ต้องเดินหน้า ชื่อของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้รับความไว้วางใจและมีสายสัมพันธ์อันดีกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ สุเทพ เทือกสุบรรณ และยังมีประสบการณ์ผลงานด้านการปราบปราม ซ้ำยังมีบทบาทสำคัญในการจัดระเบียบทางเท้าทั่ว กทม. ทวงคืนทางเท้าให้ประชาชน ปรับโฉมความเป็นระเบียบใน กทม. และทวงคืนพื้นที่ป้อมมหากาฬ เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ จึงกลายมาเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ผลักดันให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 16 ของไทย

ส่องงบฯ 5 ปี กทม.อู้ฟู่ 5.4 แสนล้าน

ย้อนกลับไปพิจารณางบประมาณ กทม. ตลอด 5 ปี นับแต่ปี 2559-2565 ข้อมูลจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาระบุ จำแนกได้ดังนี้

  • ปี 2559 งบประมาณ กทม. 70,424 ล้านบาท
  • ปี 2560 งบประมาณ กทม. 75,635 ล้านบาท
  • ปี 2561 งบประมาณ กทม. 79,047 ล้านบาท
  • ปี 2562 งบประมาณ กทม. 80,445 ล้านบาท
  • ปี 2563 งบประมาณ กทม. 83,398 ล้านบาท
  • ปี 2564 งบประมาณ กทม. 76,451 ล้านบาท
  • ปี 2565 งบประมาณ กทม. 79,885 ล้านบาท

งบประมาณ 5-6 ปี รวมทั้งสิ้น 545,285 ล้านบาท ทว่าในปีแรกที่รับตำแหน่งของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง คือปี 2559 เป็นการรับไม้ต่อจากผู้ว่าราชการคนเก่า แผนงานได้วางไว้จบก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้น หากจะดูผลงานของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ต้องเริ่มที่ปี 2560 เป็นต้นไป โดยมีงบประมาณผ่านมือแล้วไม่ต่ำกว่า 3.30 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปี 5 เดือน

ปักหมุดจุดก่อสร้างรอบกรุง

หากพิจารณาผลงานของ พล.ต.อ.อัศวิน จะพบว่าในยุคดังกล่าวเป็นยุคที่รอบพื้นที่กรุงเทพมีงานก่อสร้างจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำถนน อุโมงค์ และทางรอดต่าง ๆ อาทิ ทางลอดแยกมไหสวรรค์ การสร้างถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า การขยายถนน การก่อสร้างต่อเชื่อมถนนกาญจนาภิเษก-ถนนพุทธมณฑลสาย 2

ยังมีโครงการการปรับภูมิทัศน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคลองโอ่งอ่าง พัฒนาเป็นจุดแลนด์มาร์กใหม่ในการท่องเที่ยว ที่มีกิจกรรมดารขายของ งานสตรีทอาร์ต ไปจนถึงการพายเรือคายัค ซึ่งในปี 2563 ได้รับรางวัล 2020 Asian Townscape Awards รางวัลต้นแบบในการปรับปรุงภูมิทัศน์ จาก UN-Habitat Fukuoka ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ระดับโลก ซึ่งมีเพียง 6 สถานที่ในโลกเท่านั้นที่ได้รางวัล

การปรับปรุงภูมิทัศน์โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี โดยจุดเริ่มต้นโครงการฯ บริเวณถนนสุรวงศ์ถึงถนนพระรามที่ 3 ระยะทางรวมประมาณ 4.5 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 15 เมตร คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 70 ไร่

รวมไปถึงการนำสายสื่อสารและสายไฟลงดิน 21 เส้นทาง เช่น ถนนพระราม 4 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนวิทยุ เป็นต้น

น้ำรอระบาย ปัญหาเรื้อรัง กทม.

มาด้านความท้าทายที่สุดของผู้ว่าฯ กทม. ทุกราย คือการแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขังกรุงเทพฯ ที่แม้ฝนตกไม่หนักมาก แต่ก็พบปัญหาได้หลายจุดใน กทม.

หากพิจารณาแผนการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ยังไม่ความแตกต่างจากยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ มาก ทีเด็ดคือในช่วง ต.ค. ปี 61 เกิดเหตุน้ำท่วมบริเวณวงเวียนบางเขน แต่ ณ ขณะนั้นผู้ว่าฯ กทม. ให้เหตุผลน้ำท่วมขัง เพราะ กทม.หากุญแจสูบน้ำไม่เจอ

อย่างไรก็ดี ผลงานการแก้ไขน้ำท่วมของ กทม. ที่น่าสนใจ คือ ธนาคารน้ำใต้ดิน หรือ Water Bank สกัดน้ำท่วม กันกรุงเทพขมเมืองบาดาลซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554

โดยนำแนวคิดสำคัญของการระบบระบายน้ำมาใช้ ผ่านการทำวิศวกรรมเชิงโครงสร้าง เริ่มจากการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์ การสร้างท่องเร่งระบายน้ำ ที่ขาดไม่ได้คือการทำพื้นที่รองรับน้ำ เปรียบเสมือนธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อระบายน้ำท่วมขังบนถนนได้ดี และสามารถกักเก็บน้ำได้จำนวนมหาศาล ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 จุด ได้แก่ วงเวียนบางเขน และปากซอยสุทธิพร 2 ดินแดง

ผุดรถไฟฟ้าสายใหม่เชื่อมคมนาคม

ปิดท้ายด้วยอภิมหาโปรเจ็กต์โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว สายสีเทาช่วงวัชรพล-ท่าพระ รวมระยะทาง 39.91 กม. มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ที่ กทม. เร่งรัดการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นเส้นทางเชื่อมฝั่งตะวันออกของกรุงเทพเข้าสู่ใจกลางเมือง อำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง

โดยความคืบหน้าอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชน ก่อนที่จะเปิดประมูลอย่างเป็นทางการในปี 2566 นี้

สรุปได้ว่าผลงานที่ผ่านมาของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มีไม่น้อย ทว่าเส้นทางการเมืองในอนาคตของ พล.ต.อ.อัศวิน จะได้เป็นอย่างไร คงต้องรอลุ้นเสียงตอบรับของคนกรุงในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ที่จะถึงในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้

“อัศวิน ขวัญเมือง” เปิดผลงาน 5 ปี 5 เดือน บนเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.