ก้าวไกล มั่นใจอภิปรายงบฯสถาบัน ไม่ร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรค

พรรคก้าวไกล

ก้าวไกล ไม่กลัวถูกยุบพรรค ยัน ส.ส.อภิปรายงบประมาณได้ทุกหมวด – ประชาชนได้ประโยชน์

วันที่ 29 มีนาคม 2565 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แถลงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหนังสือถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค เพื่อเชิญไปให้ถ้อยคำกรณี น.ส.เบญจาอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ว่า

คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงของ กกต.ได้ทำหนังสือถึงนายพิธาเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงที่ถูกร้อง และเชิญไปให้ถ้อยคำในวันที่ 29 มีนาคม แต่เนื่องจากนายพิธาติดเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งที่ 2 จึงได้แจ้งเลื่อนการไปให้ถ้อยคำออกไปก่อน และจะไปให้ถ้อยคำโดยเร็วหลังจากที่หายดีแล้ว เบื้องต้น ตนในฐานะเลขาฯพรรคขอชี้แจงว่า

1. ตามบันทึกการแจ้งข้อเท็จจริงและรับทราบข้อเท็จจริงที่ กกต.ได้ส่งมาถึงนายพิธาเพื่อให้โต้แย้งประเด็นที่ถูกร้องนั้น ได้มีการระบุถึงเนื้อหาการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายส่วนราชการในพระองค์ของ น.ส.เบญจา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 รวมถึงการนำข้อมูลการอภิปรายดังกล่าวไปเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของพรรค

แต่กลับไม่ได้มีการระบุให้ชัดเจนว่าข้อความ หรือการกระทำใดเข้าข่ายเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92(2) เราจึงเห็นว่าการแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวมีแต่ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้

2. พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าการอภิปรายงบส่วนราชการในพระองค์เป็นการทำหน้าที่ตามปกติที่ผู้แทนราษฎรพึงกระทำในการตรวจสอบและเสนอแนะ เพื่อทำให้การจัดสรรงบประมาณในทุกหมวด ทุกกระทรวง ทุกหน่วยรับงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนมีความโปร่งใส เหมาะสม และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

เรามั่นใจว่าการกระทำของ ส.ส.พรรค ไม่ใช่การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่ถูกกล่าวหา และไม่สามารถเป็นเหตุอันชอบธรรมที่นำไปสู่การยุบพรรคได้

“การทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล มีแต่ทำให้เกิดผลประโยชน์กับประชาชนในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด และยังทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพ ดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย มีพระราชสถานะดำรงไว้ดังเช่นนานาอารยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ“ ชัยธวัชกล่าว

ขณะที่ น.ส.เบญจากล่าวว่า ขอยืนยันว่ากระบวนการพิจารณางบประมาณประจำปีและหน้าที่ในการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่สภาจะมีส่วนร่วมในการพิจารณา ตรวจสอบ แก้ไข และปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ซึ่งตนอภิปรายตามรายการที่แสดงเป็นชื่อโครงการและหน่วยงานรับงบตามที่ปรากฏในเอกสารงบประมาณทั้งสิ้น

เมื่อหน่วยราชการของบประมาณมา ถ้าเราเห็นงบประมาณไม่เหมาะสมเช่นนี้ เรามีหน้าที่ตัด จัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เเละภายหลังจากการอภิปรายเสร็จเเล้ว ในการลงพื้นที่ตนได้รับกระเเสตอบรับจากประชาชน เป็นกำลังใจให้กับพรรคก้าวไกล เเละเห็นด้วยกับการตัดลดงบส่วนราชการในพระองค์

“ถ้าเรามีจิตใจที่เป็นธรรม และไม่สนใจชื่อหน่วยงานรับงบ แต่มีหน่วยงานรับงบ ที่ขอจัดสรรงบเข้ามาอธิบายให้เหตุผล ตัวเลขเพิ่มขึ้นและลดลงของงบไม่ได้เลย ไม่มีเอกสารประกอบในการขอจัดสรรงบ เชื่อว่าถ้าเห็นงบประมาณที่ขอจัดสรรโดยไม่เหมาะสมเช่นนี้ เราคงต้องทำหน้าที่เสนอตัดงบตามสมควรแน่นอน การที่ กกต.เชิญไปชี้แจงนั้น ยังมั่นใจในกรณีนี้ และในฐานะ ส.ส.จะยังทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบงบประมาณต่อไป” น.ส.เบญจากล่าว

ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้คือการทำให้ ส.ส.และสภาไม่สามารถทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น หากมองอย่างเป็นธรรม การมีหน่วยงานของบประมาณจากประชาชนก็ต้องพิจารณาในสภาอยู่แล้ว การที่เราอภิปรายว่าควรจะตัดลดงบประมาณอย่างไรนี่คืออำนาจที่เรามี ถ้าไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เราจะมีสภาผู้แทนราษฎรและ ส.ส.ไว้ทำไม เพราะสุดท้ายการตัดลดงบประมาณไม่สามารถทำได้เลย


“เมื่อพยายามจะทำก็โดนร้อง โดนดำเนินคดี เพื่อนำไปสู่การยุบพรรค นี่คือการสร้างความกลัว ไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกล แต่คนที่ร้องคน ที่เป็นผู้กำกับต้องการแสดงไปถึง ส.ส.ทุกคน พรรคก้าวไกลจะไม่ยอมให้เกิดความกลัวนี้ต่อไป จะยังคงเดินหน้าทำหน้าที่อย่างตัวตรงเพื่อเป็น ส.ส.ของประชาชนอย่างแท้จริง” นายรังสิมันต์กล่าว