วิโรจน์เปิดตัว 12 นโยบาย ปลุกคนกรุง โดมิโนตัวแรก สร้างเมืองที่คนเท่ากัน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

วิโรจน์คิดออก 12 นโยบาย สร้างเมืองที่คนเท่ากัน ชี้เป็นโอกาสของคนกรุงเทพฯ ล้มคนขโมยฝันประชาชน

วันที่ 27 มีนาคม 2565 ที่อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 7 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล เปิด 12 นโยบายกรุงเทพฯ สร้างเมืองที่คนเท่ากัน โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมเปิดงานด้วย

นายวิโรจน์กล่าวว่า ได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้าน พบว่าปัญหาเมื่อ 10 ปีกับตอนนี้ไม่ได้ต่างกัน ซึ่งสะท้อนว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่าปัญหาคืออะไร ทั้งนี้ ได้มีโอกาสขึ้นไปดีเบตกับผู้สมัครหลายคน และหลายคนก็พูดถึงการแก้ปัญหากรุงเทพฯ เพียงสั้น ๆ โดยเมื่อสาวเท้าเข้าไปจะพบว่าปัญหาที่แท้จริงคือ นายทุน เกือบศตวรรษแล้วที่เราเอาส่วยไปประเคนให้นายทุน ซึ่งการบริหารเมืองภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ สุดท้ายก็จบที่ขออาสาสมัคร ขอให้ประชาชนเสียสละ และคนกรุงเทพฯ ก็จะเหลือแค่เนื้อข้างแคร่ จึงทำให้ต้องมี 12 นโยบายที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เท่ากัน ได้แก่

1.สวัสดิการคนเมืองเพื่อโอบอุ้มเด็ก คนชรา และผู้พิการ คือการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จากเดิมที่ได้ 600-1,000 บาทต่อเดือน ให้ได้รับสวัสดิการ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือนเท่ากัน และเพิ่มสวัสดิการคนพิการจากเดิมที่ได้ 800-1,200 บาทต่อเดือน จะเพิ่มให้คนพิการได้รับสวัสดิการ 1,200 บาทต่อเดือนทุกคน รวมถึงการเพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กเล็ก 0-6 ขวบ จากเดิมที่ได้ 600 บาท เฉพาะเด็กที่ยากจน แต่เราจะเพิ่มให้เด็กทุกคนได้รับสวัสดิการ 1,200 บาทต่อเดือนทุกคนในกรุงเทพฯ ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การช่วยเหลือ แต่เป็นรัฐสวัสดิการ

2.วัคซีนฟรีจากภาษีประชาชน โดยจะทำให้การเข้าถึงวัคซีนโรคทุกชนิดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนกรุงเทพฯ ตั้งเป้ายกระดับศูนย์สาธารณสุขชุมชนของกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนฟรีเพื่อให้ทุกชุมชนสามารถเข้าถึงวัคซีน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้วัคซีนที่คนกรุงเทพฯ ต้องเข้าถึงฟรี ได้แก่ วัคซีนโรคปอดอักเสบ วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโรคไข้เลือดออก 3.หยุดระบบอุปถัมภ์ด้วยงบฯที่คนกรุงเทพฯ เลือกเองได้ โดยจะนำงบประมาณของ กทม.ประมาณ 5% หรือ 4 พันล้านบาท โดยกระจายสู่ชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนและชุมชนตัดสินใจว่าจะใช้อย่างไร

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า 4.การตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง 10,000 ยูนิต ตลอดอายุเวลา 4 ปี โดยจะลงทุนสร้างและบริหารที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 3,500-9,000 บาทต่อเดือน และให้เช่าระยะยาว ซึ่งต้องอยู่ใจกลางเมืองที่ระบบขนส่งคมนาคมเข้าถึง 5.ลดค่าครองชีพด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว โดยตั้งเป้าสนับสนุนการให้บริหารขนส่งสาธารณะเพื่อลดค่าครองชีพของคน กทม. ในทุกรูปแบบของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ เรือโดยสาร และรถไฟฟ้า

6.ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่และนำเงินไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน ปรับปรุงจุดทิ้งขยะทั่วกรุงเทพฯ เก็บค่าจัดการขยะจากนายทุนตามจริง โดยนายทุนต้องจ่ายค่าจัดการเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 เท่าของที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เราไม่ต้องนำภาษีของประชาชนไปอุ้มนายทุน รวมถึงมีแอปพลิเคชั่นเรียกรถซาเล้งรับซื้อของเก่าให้มารับซื้อขยะรีไซเคิลที่หน้าบ้านในเวลาที่ประชาชนสะดวก

7.ลงทุนพัฒนาศูนย์เด็กเล็กศูนย์ละ 5 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งครูและพี่เลี้ยงต้องได้สัญญาจ้างงานประจำ มีครูสำหรับเด็กพิเศษที่พัฒนาการช้า คอยให้คำแนะนำทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาการเด็ก และเพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็ก 8.สร้างการศึกษาที่ทุกคนวิ่งตามฝันชองตนเองได้ โดยเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาโดยตัดวิชาที่ไม่จำเป็นออกและเพิ่มเวลาเรียนรู้นอกห้องเรียน พัฒนาศูนย์เรียนรู้หรือห้องสมุดศูนย์ดูแลเด็ก เพื่อให้เด็กมีที่เรียนรู้หลังเลิกเรียนและพัฒนาสวัสดิภาพเด็กโรงเรียน กทม.

9.การลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง จบปัญหาน้ำรอระบาย โดยการขยายท่อระบายน้ำ ขุดลอกท่อและคูคลอง แยกระบบท่อน้ำฝนและท่อน้ำเสียเพื่อให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ 10.เปลี่ยนที่รกร้างเป็นที่สาธารณะ ด้วยการร่วมมือกับเจ้าของที่ดินเอกชน เพื่อนำที่มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะให้กับประชาชนและเปิดพื้นที่สาธารณะของ กทม.ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการชุมนุม

11.ทางเท้าดีเท่ากันทั้งกรุงเทพฯ โดยการออกแบบทางเท้าใหม่ให้สวยงามคงทนและเป็นทางเท้าที่แคบกว่า 3.2 เมตร ห้ามตั้งแผงลอย แต่ กทม.จะหาพื้นที่ใกล้เคียงให้ค้าขาย พร้อมทั้งมีการทาสีตีเส้นทางม้าลายให้ชัด ทำเส้นชะลอความเร็วและการติดตั้งไฟสัญญาณคนข้ามถนนในจุดที่จำเป็นทันที ทำให้ทางม้าลายปลอดภัย

และ 12.นโยบายเจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ กทม. โปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น โดยนำกรุงเทพฯเข้าร่วมภาคีความร่วมมือรัฐ เปิดเผยสร้างช่องทางแจ้งปัญหา ร้องเรียนต่อผู้ว่าฯ กทม.โดยตรงและทำตามกฎหมายเพื่อป้องกันข้าราชการเตะถ่วงการขออนุญาตและเรียกร้องรับผลประโยชน์จากประชาชน

นายวิโรจน์กล่าวว่า เป็นการสร้างเมืองแห่งความหวังของทุกคน เป็นเมืองที่เราอยู่แล้วเรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัย เป็นเมืองที่ให้เราเป็นผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ผู้ถูกปกครอง เป็นเมืองที่ให้โอกาสเราสร้างตัว มีคุณภาพชีวิตที่ดี เชื่อว่าท่ามกลางความขัดแย้งที่ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ

คนกรุงเทพฯต้องการผู้ว่าฯที่ยืนอยู่ข้างประชาชน ไม่ใช่การอ้างตัวเป็นกลาง ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่กลาง แต่เป็นการปล่อยปละละเลยให้ประชาชนถูกย่ำยีโดยไม่คิดจะแยแสอะไรเลย ทั้งที่อำนาจของคุณมาจากประชาชน ซึ่งวันที่ 22 พฤษภาคม เมื่อ 8 ปีก่อนเป็นวันที่อำนาจของประชาชนถูกปล้นไป เป็นจุดเริ่มต้นของความสิ้นหวัง เป็นจุดเริ่มต้นของการเสียเวลาชีวิต เสียโอกาสอย่างมหาศาลของทั้งคนกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ

“และวันที่ 22 พฤษภาคม ที่กำลังจะถึง ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่คนกรุงเทพฯ จะเป็นโดมิโนตัวแรกที่ประกาศฉันทามติใหม่ร่วมกันว่า ไม่มีมันผู้ใดมาขโมยความฝันของประชาชนไปได้อีก ให้ผมและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ของพรรคก้าวไกลทั้ง 50 เขตไปขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 12 นโยบาย คืนเมืองที่คนกรุงเทพฯ เท่ากันให้คนกรุงเทพฯ ทุกคน และวันที่ 22 พฤษภาคม เลือกวิโรจน์ เป็นผู้ว่าฯ ออกไปกาให้คนเท่ากัน” นายวิโรจน์กล่าว