ทักษิณยอมรับโลภ โกรธ หลง โง่ เหตุชายแดนใต้ ความตายและการขายหุ้น

ทักษิณ ยอมรับโลภ โกรธ หลง โง่ เหตุชายแดนใต้ ความตายและการขายหุ้น
ภาพจากหนังสือ THE MAKING OF THE MODERN THAI ECONOMY

บทสัมภาษณ์ ทักษิณ ในหนังสือ 50 ปี กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร THE MAKING OF THE MODERN THAI ECONOMY เขายอมรับว่าโลภ โกรธ หลง โง่ ในโศกนาฏกรรมชายแดนใต้ ความตายและการทำร้ายชาวนา

ทักษิณ ชินวัตร วัย 72 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ดำรงตำแหน่ง 5 ปี 222 วัน ตั้งแต่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึง 19 กันยายน 2549 ต่อเนื่องสมัยที่ 2  เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก หลังรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (2540) บังคับใช้

เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ถือว่ามีอิทธิพลสูงสุด ทั้งแง่จำนวนเสียง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และมีเครือข่ายคอนเน็กชั่นพิเศษกับชนชั้นนำ ข้าราชการชั้นสูง พ่อค้าหน้าเก่า-ใหม่ และฐานเสียงระดับรากหญ้า 14 ล้านเสียง

แต่ความมั่งคั่งทางอำนาจ และการคุมเกมการเปลี่ยนแปลงทุกทิศทาง ทำให้ “ทักษิณ” มีจุดจบทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร และถูกยึดทรัพย์สินจากการร่ำรวยผิดปกติ ต้องหนีคดี-ใช้ชีวิตในต่างประเทศ

หนังสือครบรอบ 50 ปี กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร THE MAKING OF THE MODERN THAI ECONOMY ในบทที่ว่าด้วยการกอบกู้และก้าวต่อ (2001-2010) ได้สัมภาษณ์ “ทักษิณ ชินวัตร” ในฐานะ THE GAME CHANGER

“ประชาชาติธุรกิจ” ขอนำเสนอบางส่วนของบทสัมภาษณ์ ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนอำนาจ และการยอมรับผิดโดยดุษณี ของ “ทักษิณ ชินวัตร”

ทักษิณ ตอบข้อกังขาเรื่องขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป เมื่อปี 2549 ให้กับกองทุนเทมาเส็ก จำนวน 1,487 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินกว่า 73,271 ล้านบาท หลังซื้อมาจากบริษัท แอมเพิลริช จำกัด ในราคาเพียงหุ้นละ 1 บาท ว่า…

“ข้อกล่าวหาเรื่องการโอนหุ้นชินคอร์ปโดยไม่เสียภาษี จริง ๆ มันเป็นตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ กลุ่มชินคอร์ปขายโทรศัพท์มือถือ ขายบริการโทรศัพท์ เสียภาษีหมดแล้ว แต่ตอนขายหุ้น คุณเอาสตางค์ไปเสียภาษี กรมสรรพากรก็รับไม่ได้ เพราะเขายกเว้นการเสียภาษีของ capital gain”

ความเสียหายทางการเมือง-โศกนาฏกรรม ปี 2547 ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดอยู่ในใจ “ทักษิณ” ตลอดมา ครั้งนี้ เขาตอบหมดเปลือก ยอมรับหมดใจ ตามตัวอักษร และการขอโทษ สไตล์ทักษิณ ที่อ้าง “โลภ โกรธ หลง และโง่”

“ส่วนเรื่องกรณีกรือเซะ-ตากใบ ยอมรับว่าบางอย่างเราไม่รู้จริง เหตุการณ์กรือเซะเกิดการปล้นปืนจากค่ายทหาร ผมคิดว่าอันนี้คือ Militants แล้ว ดังนั้นก็เลยตัดสินใจเอาทหารพรานเข้าไปในพื้นที่ อันนี้ผมยอมรับว่าผิด เพราะเรื่องภาคใต้ควรใช้การเมืองนำการทหาร ความโลภโกรธหลงทำให้โง่ ผมโกรธที่ทหารถูกปล้นปืน เลยเข้าข้างทหารความจริงแล้วทหารอ่อนแอลง”

“ส่วนกรณีตากใบ ช่วงนั้นเป็นช่วงถือศีลอด แล้วก็มีการไปล้อมโรงพักเพื่อจะเอาผู้ต้องหาออกมา ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทหารจึงไปจับคนเหล่านี้ แต่แทนที่จับแล้วเอาไปไว้ใกล้ ๆ ปรากฏว่าย้ายไปไกลมาก ห่างตั้ง 30-40 กิโลเมตร เอาคนซึ่งอดอาหารไปซ้อนในรถจีเอ็มซี 7-8 ชั้น กลายเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก เสียชีวิตถึง 80 คน เรื่องนี้ผมโกรธมาก แต่ทำอะไรไม่ได้ ผมได้รับรายงานว่า มีการย้ายคนไปที่ค่าย แต่ไม่ทราบว่าเขาย้ายด้วยวิธีแบบนี้”

หากมีคนสังสัย ทักษิณ อยากย้อนหลังกลับไปแก้อะไร เพื่อแก้คำครหา เรื่องการบริหาร-การแต่งตั้งพวกพ้อง-ผลประโยชน์ทับซ้อน ในหนังสือเล่มนี้ มีคำตอบ

“ที่บอกผมแต่งตั้งแต่คนรู้จัก ถามว่าประเทศไทยมันใหญ่นักหรือ ก็รู้จักกันเกือบทั้งหมด แต่รู้จักกันก็ส่วนรู้จักกัน เรื่องของหน้าที่การงานมันก็คนละเรื่อง ผมพูดกับหัวหน้างานชัดเจนเลยว่ามันต้องไปอย่างนี้ด้วยกันนะ แต่ถ้าไปไม่ได้จริง ๆ มันก็ต้องเปลี่ยน เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ผมไม่ได้รังเกียจใครเลย ไม่เคยไปเปลี่ยนเพราะว่าผมไม่ชอบหน้า ไม่มีทางเป็นไปได้”

“มองย้อนหลัง ถามว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไร ผมคงอยากจะร้องเพลงของเบิร์ดว่า ผมรักทุกคน การเมืองมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกคนต้องการมีความสำคัญและเราทำงานขนาดนี้ เราไม่ได้มีเวลาที่จะละเอียดอ่อนให้กับทุกภาคส่วน ถ้ามองย้อนหลังก็ควรนอนน้อยลง ไปอยู่กับผู้คนมากขึ้น ให้เวลาอธิบายกับคนที่เขาวิจารณ์มากขึ้น”

“แต่ในขณะเดียวกัน เมืองไทยวันนี้มีบุคคลไร้อาชีพแต่มีรายได้ดีกว่ามีอาชีพ พวกนี้เกาะขั้วอำนาจ ให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญตัวเอง และก็ไปไถตรงนั้นตรงนี้ได้ทั้งที่ไม่มีอาชีพเป็นเรื่องเป็นราว เราปล่อยตรงนี้เยอะเกินไป ประเทศไทยวันนี้ต้องปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป องค์กรไหนจะใหญ่ขึ้น หรือองค์กรไหนควรจะเล็กลง ต้องปรับใหม่หมดเลย”

“ต้องมอง macro ก่อน แล้วกลับไปหา micro แมคโครที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ digitalization คือต้อง digitalization ระบบราชการ และการบริการอย่าให้มันยุ่งไปหมด”

เมื่อต้องมองไปข้างหน้า “ทักษิณ” ตอบด้วยวิสัยทัศน์ ประหนึ่งได้รับบทบาทบริหารประเทศอีกครั้ง ว่า “ผมอยากเห็นประเทศเราทันสมัยไม่ใช่ถูก manipulate โดยเศรษฐกิจโลกหรือ manipulate โดยอิทธิพลของประเทศใหญ่ ๆ ผมอยากเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยและคนไทย เพราะว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกวันนี้ โลกมันมีความเชื่อมโยงสูง เราไม่แข่ง เขาก็จับเราแข่ง เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องแข็งแรง ผมต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เพื่อคนไทยและประเทศไทย”

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ มีบทสัมภาษณ์ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในชื่อเรื่อง THE ADVISOR-หลังม่านนโยบายเศรษฐกิจจากยุคสู่ยุค ตอนหนึ่งเขาพูดถึงทักษิณ ว่า

“ผมมองว่านายกฯ ทักษิณ เป็นคนที่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจได้ง่าย อาจจะชอบต่อรองบ้าง ขอทำแบบครึ่ง ๆ ผมก็บอกนโยบายเศรษฐกิจไม่มีครึ่ง มีแต่เอากับไม่เอา ในที่สุดท่านก็ยอม แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านไม่ยอมถอยเลย คือ นโยบายจำนำข้าว ทั้งที่ผมต่อสู้เรื่องเปิดเสรีในการส่งออกข้าวมาตลอด เพราะว่าราคาข้าวต่ำกว่าราคาในต่างประเทศเท่าตัว จากนโยบายรัฐบาลที่จะช่วย แต่กลายเป็นทำร้ายชาวนา”

“เราแทรกแซงข้าวมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนบัดนี้ ยุคก่อน ๆ ใช้คำว่าประกันราคาข้าว ยุคท่านทักษิณหนักเลย คือนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ด แสดงว่าไม่ยอมรับกลไกตลาดโลก แต่เราเป็น price taker ไม่ใช่ price maker เราเป็นคนรับราคา ไม่ใช่คนทำราคา”

“ข้าวที่ผลิตในโลกนี้มีหลายร้อยล้านตัน เราส่งออกในยุคนั้นไม่ถึงสองล้านตัน ทฤษฎีที่ว่าเราส่งออกข้าวรายใหญ่ เราควรเป็นคนตั้งราคาตลาดโลก เป็นเรื่องหลอกชาวนามาโดยตลอด แต่ได้ผลทางการเมือง เพราะทำให้ราคาข้าวในกรุงต่ำ คนในกรุงชอบ ถ้าเลิกนโยบายเหล่านี้ ราคาข้าวจะแพงขึ้น และผมคิดว่าเราจะสามารถส่งออกข้าวได้สูงสุดประมาณ 10-11 ล้านตัน”

“จุดแข็งของท่านทักษิณ คือกล้าตัดสินใจ ไม่ใช่ผมเห็นด้วยหมด แต่หลายเรื่องที่ท่านทำได้ทะลุทะลวงนโยบายที่เป็นแบบแผนต่อกันมา ฉะนั้นดีกว่าพรรคอื่น ๆ”