กมธ.ติดตามงบฯ เรียกเลขาฯอีอีซี กรมธนารักษ์ แจงปมประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี

ไชยา พรหมา
ไชยา พรหมา

ไชยา เพื่อไทย ประธาน กมธ.ติดตามงบฯ เรียกเลขาฯอีอีซี-กรมธนารักษ์-สตง. แจงปมประมูลท่อส่งน้ำอีอีซีมีพิรุธ

วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จากการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ที่ส่อไม่โปร่งใส

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ทาง กมธ.ได้ทำหนังสือเพื่อเชิญบุคคลมาให้ข้อมูลและรายละเอียดในวันที่ 11 พฤษภาคม เวลา 09.30 น. โดยบุคคลที่เชิญมา เช่น เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กรมธนารักษ์ กรรมการผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการประกวดราคา รวมถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อสอบถามรายละเอียดและข้อมูลที่เกิดขึ้น

นายไชยากล่าวว่า การตรวจสอบของ กมธ. ยึดหลักความถูกต้อง ไม่ใช่ตรวจสอบเพราะสถานการณ์หรือเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายใด ทั้งนี้ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่มีการตั้งธงใด ๆ แต่การชี้แจงของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ที่ระบุถึงการชะลอโครงการออกไปก่อน โดยจะตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และรักษางบประมาณแผ่นดินนั้น พอฟังได้ แต่ในข้อเท็จจริงต้องตรวจสอบอีกครั้ง หากไม่มีประเด็นที่ถูกสังคมตั้งประเด็นสงสัยในความโปร่งใส ทำไมถึงต้องเลื่อนการลงนาม

นายไชยายังกล่าวอีกว่า ส่วนการตรวจสอบรัฐบาลด้านการใช้งบประมาณนั้น ยังมีประเด็นที่ กมธ.ติดตามต่อเนื่อง คือ การใช้งบฯกลาง ปี 2564-2565 เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยที่ผ่านมา กมธ.ได้เชิญเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณเข้าชี้แจง แต่ไม่มีความชัดเจนไม่มีเอกสารใด มาแสดงให้ที่ประชุมพิจารณา

ทั้งนี้เอกสารเกี่ยวกับการใช้เงินงบฯกลาง ตามอำนาจของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่งบฯลับและไม่ใช่เงินส่วนตัวของนายกฯ ดังนั้นจึงต้องเปิดเผยและตรวจสอบได้ ดังนั้นในวันที่ 18 พฤษภาคม กมธ.ทั้งคณะจะเดินทางไปที่สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอเอกสารที่เคยขอไป และพร้อมจะนั่งรอเพื่อให้ได้เอกสารตามที่ขอ

เพราะการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาลทั้งจากการใช้งบฯกลางและตาม พ.ร.ก.กู้เงินมีมูลค่ามหาศาล และทำให้ประเทศเป็นหนี้จำนวนมหาศาล แต่ผลสัมฤทธิ์ของการแก้ปัญหาที่ผ่านมาพบไม่สามารถแก้ไขได้ อาทิ การใช้งบประมาณเพื่อจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ ที่กระทรวงสาธารณสุขเคยชี้แจงว่าไม่ขาด มีในสต๊อก เดือนประมาณ 20 ล้านเม็ด

แต่ข้อเท็จจริงพบว่าชาวบ้านที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 แพทย์ไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ ทำให้ชาวบ้านต้องซื้อเองที่ร้านขายยา ทั้งที่ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ต้องใช้คำสั่งของแพทย์ รวมถึงการใช้เงินเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 แต่พบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นไม่ดีขึ้น

“การใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาโควิด และปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ฝ่ายค้านจะนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแน่นอน เพราะต้องการสอบถามถึงการใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อแก้ไขโรคระบาด แต่ผลสัมฤทธิ์นั้นไม่ดี เช่นเดียวกับการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่พบว่าล้มเหลว” นายไชยากล่าว