เคลียร์ปมขุมทรัพย์ท่อส่งน้ำ อธิบดีธนารักษ์ลั่นพิทักษ์ประโยชน์รัฐ

ธนารักษ์ ท่อส่งน้ำ

ขุมทรัพย์การบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก กำลังจะเปลี่ยนมือไปอยู่ภายใต้การบริหารของ “บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด” หลังจากอยู่กับ “บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ Eastwater” มาอย่างยาวนาน โดยการที่ต้องเปิดประมูลกันถึง 2 รอบ กว่าจะได้ผู้ชนะ

ทำให้เกิดข้อพิพาทกันขึ้น ที่มาที่ไปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร “ประภาศ คงเอียด” อธิบดีกรมธนารักษ์ เคลียร์ประเด็นต่าง ๆ รวมถึงแนวทางที่จะดำเนินการในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน

ที่มาที่ไปขุมทรัพย์จัดการน้ำ

“ประภาศ” อธิบายว่า ระบบท่อส่งน้ำหลักมีด้วยกัน 3 โครงการ คือ ท่อส่งน้ำดอกกราย เกิดขึ้นสมัยที่มีการจัดตั้งอีสท์วอเตอร์ขึ้นมาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2535

โดยตอนนั้นมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จากนั้นในปีถัดมาก็มีการเซ็นสัญญาระบบท่อส่งน้ำดอกกราย เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2566 นี้ ผลตอบแทนที่จ่ายให้แก่รัฐ คือ 1% ของรายได้จากการบริหารท่อส่งน้ำ

ต่อมา กรมโยธาธิการได้ดำเนินการโครงการท่อน้ำส่งอีก 2 โครงการ คือโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2 ซึ่งต่อมาได้ส่งมอบให้กรมธนารักษ์ในปี 2540 แต่ยังไม่มีสัญญาระหว่างกันจนถึงปัจจุบัน

“เนื่องจากช่วงปี 2538-2539 อีสท์วอเตอร์ปรับโครงสร้างทุน ทำให้พ้นจากสถานะรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องดำเนินโครงการภายใต้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

ซึ่งเรื่องยืดเยื้อออกมา ระหว่างนั้นก็มีการให้อีสท์วอเตอร์บริหารจัดการไปพลางก่อน และให้ผลประโยชน์ตอบแทน 3% ของยอดรายได้ ในช่วงแรก ก่อนที่ต่อมาในปี 2558 มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7% จนถึงปัจจุบัน”

ทั้งนี้ การเปิดคัดเลือกผู้บริหารท่อส่งน้ำรอบนี้ เนื่องจากต้องทำตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ ที่กำหนดไว้ว่า จะต้องเปิดการคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาบริหารจัดการท่อส่งน้ำ ก่อนสิ้นสุดสัญญาอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งกรมได้นำทั้ง 3 โครงการมารวมเป็นโครงการเดียวกัน แล้วเปิดประมูล

สาเหตุต้องเปิดประมูล 2 รอบ

“ประภาศ” กล่าวว่า เนื่องจากการเปิดประมูลครั้งแรก เกิดปัญหาเรื่องขอบเขตของงาน (TOR) ไม่ชัดเจน ในการระบุกรอบศักยภาพท่อส่งน้ำ ที่ตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดว่าศักยภาพของท่อส่งน้ำควรจะอยู่ที่ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี

ซึ่งในการประมูล มีการยื่นข้อเสนอ 2 ด้าน คือ ด้านเทคนิค และด้านราคา โดยอีสท์วอเตอร์ได้เสนอศักยภาพ 350 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี แต่ได้รวมท่อของอีสท์วอเตอร์เองเข้ามาด้วย

ขณะที่อีกบริษัทมีข้อเสนอทางเทคนิคอยู่ในกรอบ 150 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี แต่เมื่อพิจารณาผลตอบแทนที่รัฐจะได้ พบว่าอีสท์วอเตอร์เสนอให้รัฐกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่อีกบริษัทเสนอให้รัฐ 6,000 ล้านบาท

“การเสนอด้านเทคนิค ต้องเสนอเฉพาะศักยภาพท่อส่งน้ำของธนารักษ์ จะเอาศักยภาพอื่นมารวมไม่ได้ คณะกรรมการที่ราชพัสดุจึงได้ยกเลิกการประมูลครั้งแรกไป แล้วเปิดประมูลใหม่

โดยมีการกำหนดชัดเจนใน TOR ถึงศักยภาพด้านเทคนิค ซึ่งหลังเปิดประมูลครั้งที่ 2 ทั้ง 2 บริษัทก็เสนอศักยภาพส่งน้ำที่ 150 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีเท่ากัน ส่วนผลตอบแทนที่ให้รัฐ อีสท์วอเตอร์เสนอ 24,000 ล้านบาท ส่วนวงษ์สยามฯเสนอที่ 25,000 ล้านบาท”

ฟ้องศาล 3 ครั้ง ยกคำร้องรวด

สำหรับกรณีอีสท์วอเตอร์ยื่นฟ้องศาลว่า การยกเลิกการประมูลครั้งแรกไม่ชอบธรรมและขอให้ดำเนินการคัดเลือกครั้งแรกต่อไป ซึ่งคดีหลักที่พิพาทกันอยู่ยังไม่มีคำพิพากษา และทางอีสท์วอเตอร์ยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้คุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้กระบวนการคัดเลือกหยุดเพื่อรอคำตัดสินของศาล

แต่ศาลปกครองสั่งยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีเหตุที่จะคุ้มครอง จากนั้นอีสท์วอเตอร์ยังได้ยื่นศาลให้คุ้มครองการอุทธรณ์อีก ซึ่งตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง มีระเบียบที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดกำหนดไว้ว่า กรณีที่ศาลมีคำสั่งยกคำฟ้อง จะห้ามอุทธรณ์ ดังนั้น การฟ้องในครั้งที่ 2 ศาลจึงสั่งไม่รับคำอุทธรณ์

“ล่าสุดวันที่มีการประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ คณะกรรมการได้เห็นชอบเลือกบริษัทผู้ชนะประมูลแล้ว ทางอีสท์วอเตอร์จึงไปยื่นฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติม โดยฟ้องคณะกรรมการที่ราชพัสดุเข้าไปด้วย แล้วก็ยื่นคำร้องฉุกเฉินขอคุ้มครองชั่วคราวอีก ซึ่งศาลได้สั่งยกฟ้องเป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากไม่มีเหตุ”

เดินหน้าเซ็น “วงษ์สยามฯ”

“ประภาศ” กล่าวว่า ตอนนี้ต้องถือว่ากระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้ามาบริหารท่อส่งน้ำในพื้นที่ตะวันออกจบแล้ว เพราะคณะกรรมการที่ราชพัสดุได้เห็นชอบผลการคัดเลือกตามที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอแล้ว ดังนั้น จากนี้จะเดินหน้าต่อเพียงอย่างเดียว

โดยจะเซ็นสัญญากับวงษ์สยามฯ วันที่ 3 พ.ค.นี้ โดยกรมได้ส่งหนังสือแจ้งอีสท์วอเตอร์ไปแล้วว่า ขอให้เตรียมการทำรายการทรัพย์สิน และส่งมอบให้กรมภายใน 60 วัน หรือภายในปลายเดือน พ.ค. 2565 เนื่องจากอัยการสูงสุดให้ความคิดเห็นมาว่า ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา รายการทรัพย์สินจะต้องชัดเจน และอีสท์วอเตอร์ต้องให้ความยินยอมด้วย จึงจะลงนามได้

อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังมีข้อพิพาทกันอยู่ กรมจึงทำหนังสือไปถามอีกรอบ ซึ่งอัยการปลดล็อกให้สามารถลงนามในสัญญาก่อนได้ โดยวันแรกที่เซ็นสัญญา วงษ์สยามฯจะต้องจ่ายให้กรมธนารักษ์ 500 ล้านบาท

และเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินแล้วจะจ่ายให้อีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 1,500 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อีสท์วอเตอร์จ่ายให้รัฐเพียง 550 ล้านบาทเท่านั้น

“เราไม่ได้กังวลในการดำเนินการในครั้งนี้ เพราะสัญญาใหม่ รัฐจะได้ 1,500 ล้านบาท และสมมุติว่าสุดท้ายธนารักษ์เป็นผู้แพ้คดีหลัก ทางอีสท์วอเตอร์ก็มีสิทธิเพียงไปฟ้องร้องค่าเสียหาย

โดยจะต้องไปพิสูจน์ว่า บริษัทเสียหายอะไรเพียงเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าการชดใช้ค่าเสียหายไม่น่าจะสูงถึง 1,500 ล้านบาท จากประโยชน์ที่รัฐได้มา”

สัญญาเน้นความสำคัญ 3 เรื่อง

อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวว่า สัญญาที่จะทำ กรมคำนึงถึง 3 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.ขั้นตอนการคัดเลือกเป็นไปโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย 2.คุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งหากเซ็นสัญญาครั้งนี้รัฐจะได้เงิน 1,500 ล้านบาทและได้ผลตอบแทน 2.5 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลา 30 ปี

และ 3.คุ้มครองผู้ใช้น้ำ ซึ่งในสัญญาใหม่นี้ กรมได้กำหนดไว้ว่า การเรียกเก็บค่าน้ำจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะภาคอุตสาหกรรมหรือครัวเรือน ต้องไม่เกิน 10.98 บาทต่อ ลบ.ม. ตลอด 30 ปี รวมถึงต้องดูความพร้อมของเอกชนรายใหม่ที่จะเข้ามาดูแลความต่อเนื่องในการใช้น้ำ โดยประชาชนจะต้องไม่ได้รับความเดือดร้อน

สุดท้ายแล้วว่า การเปลี่ยนมือผู้กุมขุมทรัพย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก จะยังมีปัญหาอุปสรรคอีกหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป