ประยุทธ์ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ เผยความรู้สึกเวลาถูกไล่

ประยุทธ์ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ

ประยุทธ์ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ เปิดใจคนไทยในอเมริกา ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อตระกูลจันทร์โอชา เข้ามาเป็นนักการเมืองด้วยความจำเป็น โอดเปิดโซเชียล คนด่าเกือบครึ่ง เมิน อยากไล่ก็ไล่ไป จะทำให้ดีที่สุด

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ห้อง George Washington โรงแรม St.Regis พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้พบปะชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกาและกล่าวตอนหนึ่ง ว่า ยินดีที่ได้มาพบกันในวันนี้ ต้องการมาขอกำลังใจ เพราะนายกฯต้องไปประชุมสุดยอดเอเซียน-สหรัฐ อีกหลายวงประชุม เพื่อหารือที่จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปข้างหน้าได้

ผมเองเข้ามาทำงานมาอยู่หลายปี ผ่านวันเวลาเหล่านั้นมาอย่างอดทน อดทนเพื่อให้ทุกอย่างมันดีขึ้น สุดแล้วแต่ประชาชนจะว่าจะยัง ผมพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด พยายามจะต้องไม่ทุจริต จะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ จะต้องไม่ทำอะไรที่มันผิด นั่นคือเป้าหมายของผม ผมทำเพื่อใคร ก็เพื่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ไม่ได้เพื่อตัวผม เพื่อตระกูลผม หรือเพื่อใครสักคนหนึ่ง ผมไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ผมรับราชการมาจนเกษียณอายุราชการมาด้วยความภาคภูมิใจของผม แต่เข้ามาเป็นนักการเมืองด้วยความจำเป็น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบคนไทยในสหรัฐ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้มาประชุมอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ หลายคนก็จับตามองว่า นายกฯจะมาพูดอะไร จะอยู่ข้างใคร จะไปอยู่อะไรกับใคร เราไม่อยู่ข้างใคร เราต้องทำให้ดีที่สุด ทำอย่างไรให้ประเทศไทยไม่เสียหาย หลักการของเราคือ ไม่ขัดแย้งอะไรกับใครทั้งสิ้น ว่าไปตามสถานการณ์

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ความคิดแตกต่างกัน ผมห้ามใครไม่ได้อยู่แล้ว แต่เราต้องมีภูมิต้านทาน มีภูมิคุ้มกันในการที่จะเสพ ในการที่จะฟัง ในการที่จะเชื่อ ในการที่จะอ่าน เช้ามาเนี่ย ผมพอเปิดมา มันด่าผมครึ่งหนึ่ง ผมก็สบายใจของผม ใครอยากจะด่าก็ด่าไป ผมไม่ได้เป็นอย่างที่เค้าว่า ไอ้ที่ผมทำไม่เห็นชมผมเลย ผมไม่ต้องการคำชมเชย แต่ผมต้องการให้เห็นว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างไรแล้วตอนนี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลแก้กฎหมายไปแล้ว 139 ฉบับ แต่ยังเหลืออีก 100 กว่าฉบับที่ต้องแก้ ต้องเข้าสภา กว่าจะเข้าได้ กว่าจะออกมาได้ นานพอสมควร เพราะมัวแต่ทะเลาะกันเรื่องอื่น ไทย ๆ เล่าให้ฟัง ผมอยู่มาหลายปี ผมรู้ว่ามันเป็นยังไง เป็นความน่ารักของประเทศไทย ไม่เหมือนไม่ประเทศอื่นเค้าหรอก เดี๋ยวก็เลิกกัน ได้แสดงอารมณ์กันนิดหน่อย ผมพยายามไม่มีอารมณ์ร่วมกับเค้าเท่านั้นแหละ ไม่โกรธ ไม่งอน

“เรื่องโควิด-19 ดูแลตัวเองกันให้ดีนะ อยู่กับโควิดให้ได้นะ นี่คือ โลกยุคใหม่ new normal ต้องอยู่ให้ได้ วันนี้ประเทศไทยต่างประเทศก็ได้รับการชื่นชม อันดันต้นของโลก บางเรื่องอันดับ 1 ของโลก แต่ในประเทศด่าผมทุกวัน ด่าว่าผมไปห้ามโน่น ห้ามนี่ แล้วถ้าไม่กำกับดูแล มันจะปลอดภัยมั๊ยล่ะ ก็หาว่าเข้มงวดเกินไป นี่คือ มนุษย์ คือ คน ไม่มีอะไรที่คนพอใจ แต่ทำให้ได้มากที่สุด ให้ดีที่สุด พอผมมาบูรณาการ ก็หาว่าผมเผด็จการอีก”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เราต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี คนไม่ดีก็มี วันนี้นายกฯก็ปลด ไล่ออกไปเยอะแล้ว มันก็ต้องมีทั้งคนดี คนชั่ว ไม่ดีก็ไม่เอาไว้ ถ้าตราบใดผู้นำไม่ทุจริต ทำได้หมด ใครจะพูดอะไร จะว่า จะไล่ก็ไล่ไป วันนี้ต้องการทำให้ดีที่สุด

“ขอบคุณทุกคนที่มาพบกันในวันนี้ ใครยังไม่ได้กลับไปประเทศไทยนานแล้ว ลืมยัง ลืมบ้าน ลืมทางเข้าบ้านยัง อย่าลืม แผ่นดินนี้แผ่นดินเกิด อย่างน้อยไม่ต้องไม่ลืมชาติกำเนิด ทุกประเทศปลูกฝังอย่างนี้ทั้งสิ้น อย่าไปฟังพวกที่ไม่มีชาติ”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังจะมาชวนคนไทยที่มีศักยภาพสูงกลับไปช่วยพัฒนาประเทศไทย ขณะเดียวจะได้พบกับนักธุรกิจสหรัฐและจะเชิญชวนไปนักลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย

ดูแลคนไทยในต่างแดนให้ดีที่สุด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มาพบชาวไทยทุกคนในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมแรกในการเดินทางมาสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกาเป็นชุมชนไทยที่ใหญ่ที่สุดในต่างประเทศ และเป็นที่ชื่นชมในความเข้มแข็งที่มีชาวไทยที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญประกอบอาชีพแตกต่างหลากหลายกันไป

โดยการเดินทางมาในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเดินทางมาพร้อมกับรองนายกรัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย และรองนายกรัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ และคณะ เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ตามคำเชิญของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือหลากหลายมิติ โดยหวังว่าจะสามารถเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหรัฐ เพื่อนำประโยชน์มายังคนไทยทุกคน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบภาคเอกชนของสหรัฐ

โดยครั้งนี้ยังจะมีโอกาสได้พูดคุยกับคณะนักธุรกิจสหรัฐ เพื่อเสริมสร้างโอกาสการลงทุนในประเทศไทย กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างงานและอาชีพที่จะมีความยั่งยืนสำหรับคนไทย ซึ่งนักธุรกิจสหรัฐก็เล็งเห็นถึงโอกาสและให้ความสนใจกับการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะกิจการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการผลิต และการพัฒนาบุคลากร การจ้างงาน และประเทศไทย รวมทั้งจะได้มีโอกาสพูดคุยกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบทั่วโลก และเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นนโยบายหลักของชาติ

นอกจากนี้ ยังจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นต่อทั้งภาครัฐและเอกชนของสหรัฐต่อการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ความพร้อมทางทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยทิศทางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้นในไทย ซึ่งเป็นผลจากการทำงานอย่างเต็มที่ของบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และทุกภาคส่วน จนทำให้การรับมือและการบริหารจัดการของไทยเป็นที่ยอมรับ และชื่นชมไปทั่วโลก โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้เดินหน้าเปิดประเทศอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาครึกครื้นในไม่ช้า ด้วยความเป็นมิตรที่ดี ความเป็นเจ้าบ้านที่ดี กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกของคนไทย นอกจากนี้ ไทยยังมี soft power ที่เป็นเสน่ห์และจุดแข็งที่สามารถดึงดูดชาวต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีหวังว่าชุมชนไทยทุกคนจะช่วยสื่อสารสร้างความเข้าใจในเอกลักษณ์และความงดงาม เสมือนเป็นทูตวัฒนธรรมตัวแทนประเทศไทย เชื่อมโยงให้เกิดมิตรภาพและความร่วมมือในระดับประชาชน อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ และความร่วมมือต่าง ๆ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปี 2565 ไทยมีภารกิจสำคัญในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.) เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG โดยชาวไทยจะได้ต้อนรับผู้แทนเขตเศรษฐกิจที่มาเข้าร่วมประชุมตลอดทั้งปี รวมทั้งผู้นำเขตเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นเกียรติภูมิของประเทศแล้ว จะเป็นโอกาสให้ได้พูดคุยกับประเทศต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันโดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นโอกาสในการผลักดันให้มีผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำว่า ให้ความสำคัญกับการดูแลคนไทยในต่างประเทศ และพยายามพบปะพูดคุยทุกครั้งที่ได้มีโอกาสเดินทาง จึงหวังที่จะเห็นความสมัครสมาน สามัคคี และการช่วยเหลือเอื้ออาทร โดยยินดีที่ชุมชนไทยในสหรัฐ จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลพร้อมจะให้ความช่วยเหลือดูแลชุมชนไทยอย่างเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณชุมชนไทยที่ให้กำลังใจและร่วมกันจนเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และหวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการพบปะพูดคุยในวันนี้ พร้อมขอให้เชื่อมั่นว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลยังคงเดินหน้าทำงานขับเคลื่อนประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทุกคน

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกามีชาวไทยอาศัยอยู่ประมาณ 316,000 คน (ข้อมูลตาม U.S. Census 2020) ซึ่งถือเป็นชุมชนไทยในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียและภาคตะวันตกของสหรัฐ โดยกรุงวอชิงตันและบริเวณรัฐใกล้เคียง (แมริแลนด์ และเวอร์จิเนีย) มีชาวไทยอาศัยอยู่รวมประมาณ 21,400 คน

ร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันผู้นำอาเซียน

ต่อมาในเวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ณ รัฐสภาสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้นำอาเซียน โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เป็นเจ้าภาพ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในงานเลี้ยง ซึ่งนายธนกร สรุปสาระสำคัญของคำกล่าวนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้พบผู้นำจากฝ่ายรัฐสภาสหรัฐ ผู้ทรงเกียรติและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ซึ่งครบ 45 ปีในปีนี้ โดยไทยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการพลิกฟื้นให้โลกกลับมาเข้มแข็ง มีสันติสุข และประชาชนมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตในยุค Next Normal

ร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันผู้นำอาเซียน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันถือเป็นจุดแข็งหลักของอาเซียน-สหรัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนกว่า 1 พันล้านคนของอาเซียนและสหรัฐ โดยสหรัฐเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน เป็นคู่ค้าอันดับ 2 และนักลงทุนอันดับ 1 ของภูมิภาค ความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การผลักดันการค้าเสรี และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

จึงเป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศต้องดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยเฉพาะการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกครั้งที่ 4 ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ จึงให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ เป็นลำดับต้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของโลก และคาดว่าจะเติบโตเป็นอันดับ 4 ภายในปี ค.ศ. 2030 อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจ และสร้างงานให้กับชาวอเมริกันได้อีกมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสาขาใหม่ ๆ

อาทิ พลังงานสะอาด อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล และนวัตกรรมการแพทย์ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐเป็นความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งดำรงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1833 โดยเริ่มจากความตกลงด้านมิตรภาพและพาณิชย์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรและการมีผลประโยชน์ร่วมกันในทุกด้าน ปัจจุบันสหรัฐมีการลงทุนในไทย 17 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาคเอกชนไทยมาลงทุนใน 26 รัฐของสหรัฐคิดเป็นจำนวนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า บรรยากาศแห่งความสงบ สันติสุข จะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นฟูและพัฒนาไปสู่การมีอนาคตที่มั่นคง โดยหวังจะเห็นบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐผ่านความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายใน 4 สาขาภายใต้กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของสหรัฐในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก บนพื้นฐานของหลักความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากรัฐสภาสหรัฐด้วย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำว่า ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างอาเซียนกับสหรัฐมีความสำคัญต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของสองฝ่าย และของภูมิภาค และหวังว่า รัฐสภาสหรัฐจะให้การสนับสนุน และผลักดันความร่วมมือต่าง ๆ ในทางบวกให้ก้าวหน้าต่อไป เพื่อประโยชน์อันยั่งยืนและสมดุลของประชาชนของอาเซียนและสหรัฐ

พบรัฐมนตรีพาณิชย์-ผู้แทนการค้าอเมริกา

หลังจากนั้นเวลา 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ณ โรงแรม Willard InterContinental กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมผู้นำและผู้แทนชาติสมาชิกอาเซียนพบปะผู้นำภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา โดยมี นางจีน่า เรมอนโด (Gina M.Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา และนางแคทเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมด้วย โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร สรุปสาระสำคัญของคำกล่าวนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มาพบหารือในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีโอกาสพบปะและพูดคุยกับสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (USABC) ในหลายโอกาส พร้อมชื่นชมภาคเอกชนสหรัฐที่สนับสนุน และมีส่วนร่วมที่แข็งขันในการการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน จึงทำให้ต้องกลับมาทบทวนเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยไทยให้ความสำคัญกับการสร้าง “พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” เพื่อให้ภูมิภาคมีการเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุค Next Normal ต่อไป ซึ่งประเด็นหลักที่อาเซียนกับสหรัฐฯ สามารถร่วมกันผลักดันมี 3 เรื่อง หรือ “3R” ได้แก่

“Reconnect” ส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงนี้ ผ่านการลงทุนขยายฐานการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่อาเซียนมีศักยภาพและทรัพยากรรองรับ ซึ่งไทยมีพื้นที่ EEC ที่พร้อมเปิดโอกาส ให้ภาคเอกชนสหรัฐเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐ รวมถึงจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการเชื่อมโยงธุรกิจกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยสาขาอุตสาหกรรมที่สามารถร่วมมือกันได้ คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

สำหรับสาขาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำที่แข็งแกร่ง และมีบริษัทเอกชนสหรัฐเข้ามาลงทุนแล้วหลายราย จึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน อาทิ ต้นน้ำของเซมิคอนดัคเตอร์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีนโยบายมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต EV และผู้พัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง อาทิ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านและสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ได้ด้วย

R ที่สอง คือ “Rebuild” ในยุค 4IR ควรมุ่งพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งมีศักยภาพในการขยายตัวได้ถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2030 พร้อมกล่าวเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐ ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในอาเซียน เช่น โครงข่ายอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีคลาวด์ในอุตสาหกรรมการผลิต ดาต้าเซ็นเตอร์ และการให้บริการคอนเทนท์ ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาและบ่มเพาะธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ ไทยมีไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเลย์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EECi ที่ภาคเอกชนสหรัฐสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจดิจิทัล และขยายไปสู่ภูมิภาคได้

และสุดท้าย “Rebalance” เป้าหมายของทุกภาคส่วนในเวลานี้คือ การเร่งฟื้นฟูวิถีชีวิตของผู้คนและสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำมาโดยตลอดว่า หัวใจสำคัญ คือ การรักษา “สมดุล” ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐมีศักยภาพในการเข้ามาขยายการลงทุน และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในสาขาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำและพลังงานสะอาดในอาเซียนได้

สำหรับประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ จะมุ่งเน้นการสนับสนุนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในบริบทโลกหลังโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุลแบบองค์รวมระหว่างทุกสรรพสิ่ง โดยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดพื้นฐาน ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN. CONNECT. BALANCE.” ซึ่งไทยมุ่งผลักดันประเด็นสำคัญ 3 ด้าน

ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อภาคเอกชน ทั้งนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า เพื่อขับเคลื่อนวาระนี้อย่างต่อเนื่องและให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่า ภาคเอกชนสหรัฐจะร่วมกันผลักดันประเด็นในข้างต้น โดยไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมที่จะสนับสนุนการขยายโอกาสทางธุรกิจ และขจัดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเพื่อให้ภาคเอกชนสหรัฐได้รับความสะดวกและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเศรษฐกิจของอาเซียนและสหรัฐฯ จะได้ก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หารือรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ-ไบเดน เลี้ยงอาหารค่ำ

เวลา 16.00 น. ณ กระทรวงกลาโหม กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ ได้พบหารือกับ นาย Lloyd J. Austin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ในโอกาสการเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐของนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีขอบคุณสำหรับการต้อนรับ และยินดีที่ได้มาเยือนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หลังจากเคยมีโอกาสได้หารือผ่านระบบโทรศัพท์ทางไกลเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมายาวนานกว่า 189 ปี และขอบคุณรัฐบาลสหรัฐที่สนับสนุนความช่วยเหลือแก่ไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งถือได้ว่าโรคระบาดถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่

นาย Lloyd J. Austin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ชื่นชมบทบาทของนายกรัฐมนตรี ในการนำพาประเทศไทย ต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความสามารถของกองทัพและกำลังพล การฝึก/ศึกษาทางทหาร การฝึกร่วม/ผสม ความร่วมมือด้านไซเบอร์และอวกาศ และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตลอดจนได้หารือถึงการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายและการปราบปรามการค้ามนุษย์

ในส่วนของความร่วมมือในระดับภูมิภาค ไทยยินดีที่สหรัฐให้ความสำคัญกับการเพิ่มปฏิสัมพันธ์และการดำเนินบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งยินดีที่สหรัฐสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) ที่มุ่งเน้นความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยฝ่ายสหรัฐได้ย้ำความพร้อมดำเนินบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป และทั้งสองฝ่ายหวังจะได้สานต่อความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเสร็จสิ้นการพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐแล้ว นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปยังทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสหรัฐเพื่อร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำโดยประธานาธิบดีสหรัฐเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำอาเซียน