วิษณุ หวั่นไหว พ.ร.บ.งบ 66 ถูกคว่ำ ต้องลาออก-ยุบสภา โครงการใหม่สะดุด

วิษณุ เครืองาม
ภาพจาก thaigov.go.th

วิษณุ ถูกซัก พ.ร.บ.งบ 66 ส่อถูกคว่ำ ชักหวั่นไหว กางประเพณี รัฐบาลต้องลาออก-ยุบสภา ใช้ พ.ร.บ.งบปี 65 ไปพลางก่อน ป่วนอีกโครงการใหม่ไม่เกิด แย้ม 3 แนวทาง กฎหมายลูกเลือกตั้งแท้ง แต่ต้องลุ้น ก๊อกสอง ศาล รธน.สั่งเลือกตั้งโมฆะ แนะประยุทธ์เปลี่ยนสภาไปเลย

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระแรก หากไม่ผ่าน ว่ารัฐบาลก็ต้องลาออก หรือยุบสภา ระหว่างนั้นเมื่อถึงปีงบประมาณใหม่ในเดือนตุลาคมก็จะใช้งบประมาณปี 65 ไปพลางก่อน

ซึ่งปกติสำนักงบประมาณก็จะใช้ 75 เปอร์เซ็นต์ของปีงบประมาณ ไม่ให้ใช้เต็ม แต่ก็บริหารไปได้จนกว่าจะมีงบประมาณใหม่ เพียงแต่โครงการใหม่ ๆ มันจะเกิดไม่ได้ เพราะไม่มีโครงการใหม่ ๆ อยู่ในปีงบประมาณเดิมปี 65

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นข้อบังคับในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า รัฐบาลต้องยุบสภา นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นประเพณี

เมื่อถามว่า ไม่ปฏิบัติได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ควร เมื่อเป็นประเพณีก็ควรปฏิบัติ ลาออก หรือยุบสภา ไม่จำเป็นต้องยุบสภา ลาออกก็ได้ เพราะสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อไม่ผ่าน จอมพล ป.ลาออก สมัยพล.อ.เปรม ยุบสภา ถ้าลาออกก็มีพ้นให้คณะรัฐมนตรีพ้นทั้งคณะ แต่ยังคงรักษาการณ์ต่อไป แต่รัฐบาลไม่คิดว่า พ.ร.บ.งบปี 66 จะไม่ผ่าน

“กฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับก็ต้องชะงัก เพราะไม่มีสภา ก็ไม่มีการพิจาณา วุฒิสภาก็ประชุมไม่ได้ ถ้ากฎหมายลูกเลือกตั้งสะดุด จะใช้แบบไหนก็จะมีคนเถียง ข้อที่ 1 ออกเป็น พ.ร.ก. ข้อที่ 2 ให้ กกต.ประกาศไปเลย ข้อที่ 3 เลือกกันไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ (บัตรสองใบ) โดยที่ไม่ต้องไปมีระเบียบ แต่ทุกข้อจะถูกเถียงทุกอย่าง จะไปศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกใช้ไม่ได้ ที่เลือกมาก็ใช้ไม่ได้ทั้งหมด ทุกปัญหามีทางออก แต่ทางออกนั้น อาจจะมีผู้เสียประโยชน์ ไม่ยอมรับ ก็ต้องไปร้อง ถ้าเกิดร้องขึ้นมา เกิดศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยขึ้นมา เหมือนในอดีตที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะมาแล้วหลายครั้ง”

เมื่อถามว่า ระหว่างยุบสภากับลาออก วิธีการไหนสมูทกว่ากัน นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่ รัฐบาลแต่ละครั้งก็ต้องคิดว่า จะเอาอย่างไร เพราะถ้าไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน ต้องเสนอ พ.ร.บ.งบประมาณใหม่อยู่ดี

“ถ้าหากลาออกแล้วเป็นรัฐบาลใหม่มา กว่าจะได้รัฐบาลใหม่ กว่าจะเสนอเข้าสภา แล้วองค์ประกอบสภามันไม่เปลี่ยน รัฐบาลใหม่เสนอก็อาจจะไม่ผ่านอีก ถ้าคิดอย่างนั้นก็ยุบสภาเสียดีกว่า คือ เปลี่ยนสภาเสียเลย”

นายวิษณุกล่าวว่า การที่สภาไม่ผ่าน เท่ากับสภาไม่ไว้วางใจให้บริหาร เมื่อรู้ตัวก็ควรจะลาออก หรือควรจะยุบสภา เพราะถ้าลาออกแล้วเกิดรัฐบาลใหม่ขึ้นมา รัฐบาลใหม่เสนอ แต่สภายังอยู่ องค์ประกอบสภายังอยู่อย่างเก่า ก็อาจจะไม่ผ่านอีก ก็จะทำให้เกิดเหตุซ้ำซากและสุดท้ายงบประมาณก็ไม่ออกเสียที เขาก็เลยคิดว่าอย่ากระนั้นเลย ยุบสภาเสียดีกว่า

“รัฐบาลที่ผ่านมางบประมาณไม่ผ่านไม่มี สมัยจอมพล ป.กฎหมายย้ายเมืองหลวง ไม่ผ่าน จอมพล ป.ก็ลาออก สมัยป๋าเปรมออก พ.ร.ก. สภาไม่เห็นชอบ ป๋าเปรมก็ยุบสภา”

เมื่อถามว่า มั่นใจว่าผ่านใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ ตนไม่กล้าตอบ คุณถามมาก ๆ ตนชักหวั่นไหว