ประยุทธ์ ปลื้ม เปิดประตูเศรษฐกิจ ลงทุนครั้งใหญ่ เชื่อมไทย เชื่อมโลก

ประยุทธ์ ปลื้ม คณะนักธุรกิจฝรั่งเศส-คู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทยในอียูเข้าพบ ชวนลงทุนใน EEC  เดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-ลงทุนครั้งใหญ่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน-คมนาคม-โทรคมนาคม-สายส่งพลังงานให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เชื่อมไทย-เชื่อมโลก จ่อตั้งกลไกหารือไทย-ฝรั่งเศส ผลักดันทุกมิติ

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก ว่ารัฐบาลพยายามทุกวิถีทางที่จะแสวงหาโอกาสทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือกับทุกประเทศทั่วโลก อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประชาชนชาวไทย ในวันนี้ (1 ก.ค.65) ผมได้มีโอกาสพบปะหารือกับคณะนักธุรกิจจากประเทศฝรั่งเศส นำโดยนายฟรองซัวส์ กอร์แบง ซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ และในฐานะรองประธานสภานายจ้างฝรั่งเศสในต่างประเทศ (MEDEF International) ที่มีสมาชิกกว่า 7,100 บริษัท และมีผู้บริหารระดับ CEO ของบริษัทข้ามชาติของฝรั่งเศส เป็นสมาชิกจำนวนมาก โดยเราได้พูดคุยหารือและได้ตกลงกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศในหลายประเด็น ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ดังนี้

1.ภาคการผลิตและบริการเป้าหมายที่มีศักยภาพ 6 สาขาสำคัญ ได้แก่ (1) การเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง (2) การบริการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน (3) การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน (4) บริการทางการแพทย์และสุขภาพ (5) บริการขนส่งและโลจิสติกส์ และ (6) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการด้านดิจิทัล ซึ่งตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และฝรั่งเศสก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงของโลก ทั้งเทคโนโลยี องค์ความรู้ และบุคลากร

2.การลงทุนในภาคเศรษฐกิจหมุนเวียน และเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ BCG และการพลิกโฉมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของภูมิภาค รวมทั้งการปรับปรุงวิธีการผลิตเพื่อลดของเสีย เทคโนโลยีในการนำของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการบริโภค มาหมุนเวียนใช้ในการผลิต ซึ่งหลายบริษัทของฝรั่งเศส มีศักยภาพและแสดงความสนใจในการร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนไทยในธุรกิจ BCG ดังที่กล่าวมาด้วย

3.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการศึกษาและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตของไทย ได้แก่ (1) ภาคอุตสาหกรรม เช่น ยกระดับหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อผลิตแรงงานทักษะสูง ป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และป้อนกิจกรรมต่างๆ ของฝรั่งเศสที่ลงทุนในประเทศไทย ที่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคตตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” และ (2) ภาคเกษตรกรรม ทั้งในระดับอุตสาหกรรมและในระดับฐานราก ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายยกระดับให้เป็น “เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmers)” ซึ่งทางฝรั่งเศสมีความพร้อมและศักยภาพสูงทั้งด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และตอบรับที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก ในหลายด้าน เช่น 1.เป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทย ในสหภาพยุโรป ปัจจุบันมีบริษัทฝรั่งเศสลงทุนในไทยกว่า 280 บริษัท ในขณะที่ภาคเอกชนของไทยก็ได้มีการลงทุนในฝรั่งเศส มากเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มอาเซียน ซึ่งยังมีโอกาสที่เปิดกว้างในการขยายความร่วมมือระหว่างกันอีกมาก

2.ช่วงปี 2560-2564 ฝรั่งเศสได้รับการอนุมัติให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 88 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 11,983.49 ล้านบาท เฉพาะปี 2564 มีสถิติการลงทุนจริง จำนวน 15 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 2,327.60 ล้านบาท

3.ช่วงปี 2561-2565 (ณ มี.ค.65) ภาคธุรกิจฝรั่งเศสได้ให้ความสนใจในการลงทุนในพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่า 1,898.35 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในกิจการที่อยู่ในข่ายอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร เป็นต้น

4.ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายอันดับ 2 ในการท่องเที่ยวระยะไกลของนักท่องเที่ยวฝรั่งเศส รองจากสหรัฐอเมริกา และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก โดยนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่กลับมาซ้ำ ถึงร้อยละ 62 ซึ่งช่วงก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด มีนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสเดินทางมาไทย ปีละประมาณ 800,000 คน

5.ล่าสุดเมื่อ ม.ค.65 นิตยสาร Capital ของฝรั่งเศส เผยแพร่บทความการจัดอันดับ 10 ประเทศ/เมือง ที่น่าใช้ชีวิตหลังเกษียณมากที่สุด โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 5 มีคะแนนนำในตัวชี้วัดสำคัญๆ คือ (1) ค่าครองชีพ (2) อสังหาริมทรัพย์ และ (3) การแพทย์ไทย โดยเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศ/เมืองในเอเชีย ที่ได้รับการจัดอันดับ TOP 10 นี้

โดยในวันนี้ ผมได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ในการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ยกระดับศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งคมนาคม โทรคมนาคม และสายส่งพลังงาน ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เชื่อมไทย เชื่อมโลก ตลอดจนมุ่งดำเนินการเชิงรุกในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อพัฒนางานบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการทบทวนกฎหมายและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็น หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของประชาชน (โครงการ Regulatory Guillotine) ทั้งนี้ เพื่อเชิญชวนให้ฝ่ายฝรั่งเศสพิจารณาลงทุนใน EEC และพื้นที่อื่นๆ ของไทยให้มากขึ้น

จากนี้ไป จะมีกลไกหารือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเกิดขึ้นอีก ซึ่งจะช่วยสานต่อผลักดันเรื่องต่างๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ สำหรับคนไทย ในเร็ววัน และในอนาคต

ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีศักยภาพสูง ที่ผมและรัฐบาลได้เดินหน้าเจรจาสร้างความร่วมมือ ทั้งทางการค้า การลงทุน และสังคม เพื่อเป้าหมายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งได้มีการหารืออย่างเป็นทางการ และมีข้อตกลงระดับรัฐบาลไปแล้ว รวมทั้งซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน เป็นผลให้เกิดข้อตกลงใหม่ๆ ที่เปิดประตูทางเศรษฐกิจ และเพิ่มโอกาสการสร้างงานใหม่ๆ ตลอดทั้งปี เพื่อประโยชน์ต่อประเทศไทย และพี่น้องประชาชนทุกคนครับ