ประยุทธ์ กลับทิศแก้พิษเศรษฐกิจ ปักธงสภาความมั่นคง คุมทุกองคาพยพ

ประยุทธ์ สมช.

การปักหมุดสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นองค์กรแก้วิกฤตเศรษฐกิจ พลังงาน-อาหาร นอกเหนือไปจากอำนาจและหน้าที่-ภารกิจด้านความมั่นคง กลายเป็นหมู่บ้านตำบลกระสุนตก

การคว้าหน่วยงานที่คร่ำหวอดอยู่กับภัยความมั่นคง-ภัยคุกคามมาตลอดชีวิต ขึ้นมาเป็น special task forces แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ-ความมั่นคงทางพลังงานและอาหารในช่วงบั้นปลายอายุขัยของรัฐบาลถูกตั้งคำถามอย่างแหลมคม

ปักหมุด สมช.คุมเศรษฐกิจ

2 คณะกรรมการเฉพาะกิจด้านพลังงาน-ความมั่นคงทางอาหาร ถูกตั้งลูกขึ้นมาจากที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม “นั่งหัวโต๊ะ” ประกอบด้วย

1.คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน 2.คณะทำงานเพื่อติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอการแก้ปัญหาทุกมิติ โดยมี “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง เป็น “หัวหน้าทีม”

สำหรับโครงสร้างของ “คณะกรรมการเฉพาะกิจแก้วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน พล.อ.ประยุทธ์ เกริ่นนำออกมาว่าคล้ายกับ “ครม.เศรษฐกิจ”

ศบค.ชุดเล็ก ประสานสิบทิศ

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาสุขภาพ “คู่ขนาน” ไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผ่าน “หอคอยคู่” อย่าง “ศบค.ชุดใหญ่” กับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ “กุมบังเหียน” ต้องอาศัยบริการเสริมจาก “ศบค.ชุดเล็ก”

ศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ “ศบค.ชุดเล็ก” ที่มีเลขาธิการ สมช.เป็นผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. เป็น “แกนหลัก-แกนกลาง” ในการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ เลขาธิการ สมช.ที่สวมหมวกผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. ยังรับหน้าที่ “หนังหน้าไฟ” เป็นหน้าด่านรับข้อเสนอ-ข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนและภาคประชาชน

ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอของ “ศบค.ชุดเล็ก” ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร และ นพ.อุดม คชินทร เป็น “ที่ปรึกษาหมอ” คอยให้คำปรึกษาก่อนชงเข้า “ศบค.ชุดใหญ่”

ส่วนกรรมการเป็น “มือรอง” ระดับรองปลัดจากทุกกระทรวง รวมถึงรองปลัดกรุงเทพมหานคร เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

เสนาธิการทหาร รองผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)

ส่วน ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน มี 2 ที่ปรึกษาหมอที่อยู่ใน ศบค.ชุดเล็ก คือ หมอปิยะสกล-หมออุดม ตามมาให้ปรึกษา

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ที่ปรึกษาหมอโดยตำแหน่ง คือ นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีทุกกระทรวงเป็นกรรมการ ถูกจัดวางให้เป็น “พระอันดับ”

ศบศ.ไม่ Active

ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์นั่งเป็นเบอร์ 1 คุมเศรษฐกิจ มี “เสนาบดีกระทรวงเศรษฐกิจ” นั่งอยู่ในคณะกรรมการ ศบศ. ไม่สามารถทุบโต๊ะเศรษฐกิจได้

กลายเป็นคณะกรรมการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ-โควิดที่มีไว้เพียง “ตรายาง” รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ-สถานะมาตรการเยียวยา

มิหนำซ้ำยังเป็นเพียง “คณะกรรมการกลั่นกรอง” ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น หลายวาระเศรษฐกิจสำคัญ ถูกเตะส่งกันไป-มา ไม่มีข้อสรุป สุดท้ายเป็นเวทีดีเบต-ประลองกำลัง ระหว่างรัฐมนตรีโควตา 3 ป.-โควตาพรรคการเมือง

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังแต่งตั้ง “คณะที่ปรึกษา” เช่น คณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

อย่างไรก็ตาม “คณะที่ปรึกษา” ทั้งหมด ถูกตั้งขึ้นมาลอย ๆ แต่ไม่เด่นเข้าไปมีบทบาทในการตัดสินใจของ ศบค.ทั้งชุดเล็ก-ศบค.ชุดใหญ่ เป็นเพียงแท็กติกเพื่อให้เข้ามาพูดกันในทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น

เลขาฯ สมช.ลมใต้ปีก

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ก้าวขึ้นสู่หัวหน้า คสช.-ผู้นำรัฐบาล ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ข้ามห้วยมาจากกองทัพ มาประจำการกองบัญชาการตึกแดง เปรียบเสมือนเป็น “ลมใต้ปีก” ของ พล.อ.ประยุทธ์

เลขาธิการ สมช. แต่ละคนมีภารกิจใหญ่-ภารกิจสำคัญ เปรียบเสมือนเป็นลมใต้ปีกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม อดีตผู้บัญชาการทหารพัฒนา ข้ามห้วยจาก “นายทหารม้า” ที่เข้ามาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาล คสช.สู่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์สมัยที่สอง

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หลังจากเกษียณอายุราชการ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งให้เป็น “หัวหน้าพูดคุยเพื่อสันติสุข” สานต่อโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

โดยเฉพาะเลขาธิการ สมช. 3 คนหลัง ที่ต้องมารับหน้าที่ต่อสู้กับภัยคุกคามจากโรคระบาดโควิด-19 โดยมีโจทย์ยากเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจเป็นภัยแทรกซ้อน

คนแรก คือ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ถูกรางวัลแจ็กพอต เพราะทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ต้องมารับมือกับ “โรคอุบัติใหม่”

คนที่สอง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ที่นั่ง “ทดลองงาน” เพื่อ “รับไม้ต่อ” ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งโควิด-19

คนที่สาม-คนปัจจุบัน เสธ.ไก่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม อดีตเสนาธิการทหารบก “นายทหารม้ารุ่นน้อง” เจ้าของสมญานาม “วีรบุรุษสมรภูมิร่มเกล้า” ที่มาควบคุมสถานการณ์โรคระบาดโควิด-1 ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

และกำลังจะได้รับบทบาทใหญ่ในคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยาสามัญประยุทธ์

เครื่องมือสำคัญที่เปรียบเสมือนเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” คือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารสถานการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นต้นธารของ ศบค. (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 7)

ปัจจุบันเลขาธิการ สมช. ชงขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้ว 19 ครั้ง และมาพร้อมกับคดีความที่ถูกฟ้องอยู่ สมช.หลายคดี มีทั้งโจทย์ที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ-นักการเมืองเขี้ยวลากดิน

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อฉบับใหม่…ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564

เป็นการโยกอำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-บทเฉพาะกาลมาไว้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการ ยังไม่สะเด็ดน้ำ และอยู่ระหว่าง พล.อ.สุพจน์ เลขาธิการ สมช.ตรวจร่างในขั้นตอนสุดท้าย