ผ่าโครงสร้าง-งบประมาณ สลน.- สลค. ดราม่า จัดซื้อ iPad Pro ตัวท็อป

ผ่าโครงสร้าง สลน.- สลค. ปม ดราม่า iPad Pro ตัวท็อป

ประเด็นการกล่าวหาใครมั่ว – ใครโม้ กรณีที่มีข่าวเรื่องการ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) “ของบ” จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เพื่อซื้อ iPad ให้ข้าราชการ กลายเป็นเรื่องร้อนทางการเมืองขึ้นมา

เพราะ “จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ปูด iPad Pro ตัวท็อป ได้ ALL-IN-ONE

โดยตั้งข้อสงสัยเรื่อง การจัดซื้อ iPad Pro รุ่นล่าสุดซึ่งใช้ชิป M1 พร้อมอุปกรณ์เสริม อย่าง Apple Pencil Gen 2 และ Magic Keyboard คิดเป็นมูลค่าต่อชุด 60,000 บาท จำนวน 130 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท ของ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.)

“Iphone 12 จ๋อยไปเลย ปีนี้ สลน.ขอจัด Ipad Pro M1 ตัวท็อป 130 เครื่องเสริมงานเขียนสคริปท์นายก!!!”

“ปลายปีที่แล้ว คุณประยุทธ์แจก iphone 12 ให้ข้าราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 111 เครื่อง ด้วยเงินภาษีประชาชน 2.6 ล้านบาท”

“ยังไม่ทันได้อัพ iOS กันเลยในงบประมาณปี 2566 นี้คุณประยุทธ์จัด Ipad Pro M1 ตัวท็อปพร้อม Apple Pencil Gen 2 และ Magic Keyboard มูลค่ารวม ๆ 60,000 บาท ให้กับข้าราชการ สลน. 130 เครื่องร่วม 10 ล้านบาท “จากเงินภาษีประชาชน”

“ขออนุญาติไม่แสดงความเห็นครับ android เครื่องละ 9 พันกว่าบาทของผมมันไม่ให้พิมพ์คำหยาบ”

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำของบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเรื่องของส่วนราชการที่พิจารณาว่าเรื่องใดมีความสำคัญและจำเป็น จากนั้นเสนอของบประมาณผ่านสำนักงบประมาณ แม้จะเป็นงบประมาณของ สลน. แต่นายกฯไม่ได้เป็นผู้เสนอขอหรือจัดงบให้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการทางงบประมาณที่มีคณะกรรมการหลายชุดเป็นผู้พิจารณา

“นายจิรัฏฐ์ เอาข้อมูล 2 โครงการ ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน มาแต่งเป็นนิทานเรื่องใหม่ โดยโครงการแรกเป็นการขอจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ ALL-IN-ONE จำนวน 138 เครื่อง เพื่อทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน หรือ 7 ปีตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงบประมาณกำหนด”

ส่วนโครงการที่สอง คือ โครงการจัดทำฐานข้อมูลภารกิจด้านต่างประเทศของนายกฯ ที่มีรายการจัดซื้อแท็บเล็ตพร้อมอุปกรณ์เพียง 6 เครื่องเท่านั้น คิดเป็นค่าขอจัดซื้อคอมพิวเตอร์ (รวมค่าระบบปฏิบัติการ) และแท็บเล็ต

“รวมทั้ง 2 โครงการ 4.03 ล้านบาท ไม่ใช่ขอจัดซื้อแท็บเล็ตตัวท็อป 10 ล้านบาท ตามที่กล่าวอ้าง ดังนั้นสิ่งที่นายจิรัฐฏ์พูดนั้นจึงเป็นข้อมูลที่มั่วมาก โดยมุ่งหวังจะดิสเครดิตนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล แต่ความจริงกลับเป็นเรื่องโกหกพกลม จึงสมควรพิจารณาตัวเองไปทำหน้าที่อื่นเสียดีกว่า”

ในช่วงเย็นของวันที่ 14 กรกฎาคม นายจิรัฏฐ์ ชี้แจงเรื่องดังกล่าวอีกรอบว่า “ต้องขออภัย ผมพูดผิดจริงๆ เพราะหน่วยงานจัดซื้อไม่ใช่ สลน. (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) แต่เป็น สลค.(สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) ต่างหากที่ขอซื้อ ส่วนที่บอกว่าสั่งซื้อ iPad Pro ตัวท็อปก็ไม่ผิดแน่ ถูกต้องตามเอกสารทุกอย่าง 130 เครื่อง แถมเมื่อตรวจสอบเพิ่ม เหมือนจะมีมูลว่าจะไม่ใช่ 130 เครื่อง แต่เป็น 210 เครื่อง เพราะว่าเอกสารที่นำมาชี้แจงมี 2 ชุด ชุดหนึ่ง 130 เครื่อง ชุดหนึ่ง 210 เครื่อง”

ต้องขอบคุณนายธนากร ที่ออกมาตอบโต้ ตนจึงตรวจสอบไปทั้งสองหน่วยงานเลยจึงทำให้รู้ว่า สลน. เองก็มีการสั่งซื้ออุปกรณ์เช่นนี้เหมือนกันและมีความไม่ชอบมาพากลของโครงการด้วย เพราะโครงการเหล่านี้มีเจตนาที่จะซื้อ Ipad แน่ แต่เขียนโครงการว่า โครงการจัดหาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแทนระบบเดิม

“โครงการดังกล่าวอ้างว่าของเดิมใช้มา 5 ปีแล้ว แต่บรรทัดสุดท้ายของการจัดซื้อเขียนว่า จะใช้ไปอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี ใช้งบประมาณทั้งหมดในโครงการราว 38 ล้าน งบขนาดนี้ต้องถามว่าเพื่อใช้งาน 3 ปีเท่านั้นแล้วก็เอาใหม่อีกใช่หรือไม่

ในโครงการเขียนว่า แท็บเล็ตแบบที่ 1 แท็บเล็ตแบบที่ 2 แท็บเล็ตแบบที่ 3 โดยเฉลี่ยคือ 6 หมื่นบาท

ซึ่งสเป็คนี้มันก็มียี่ห้อเดียวในโลก ดังนั้นก็ควรเขียนว่า iPad ไปเลย ทุกคนจะได้รับรู้ตรงกัน และจะได้มีการพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยแทปเล็ตแบบที่ 1 สเป็คต้องมีการประมวลผล 8 core ความจำ 512 กิกกะไบค์ หน้าจอ 12-13 นิ้ว แบบก็เหลือไม่กี่ยี่ห้อแล้ว”

“การเขียนงบ แบบคลุมเครืออย่างแท็บเล็ตแบบที่ 1, 2 ,3 ทำให้ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรกันแน่ ไปซื้อของร้านสะดวกซื้อยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ ซึ่งมันส่อทุจริตและไม่โปร่งใส”

ทั้งนี้ ในเอกสารการจัดหาอุปกรณ์ไอทีที่นาย “นายจิรัฏฐ์” อ้างถึง ระบุการของบประมาณจัดซื้อ คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต แบบที่ 1 จำนวน 100 เครื่อง ราคาเครื่องละ 70,000 บาท คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต แบบที่ 2 จำนวน 30 เครื่อง ราคาเครื่องละ 75,000 บาท คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต แบบที่ 3 จำนวน 80 เครื่อง ราคาเครื่องละ 64,000 บาท แท่นที่วางคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต จำนวน 100 เครื่อง ราคาเครื่องละ 8,500 บาท

เทียบอำนาจ-หน้าที่ สลน.-สลค.

ยังคงตอบโต้กันไปมา วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 นายธนกร ออกมาชี้แจง-ตอบโต้ นายจิรัฏฐ์ อีกยก ว่า แท็บเล็ตของ สลค. 130 เครื่อง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 80 เครื่อง ใช้สำหรับ ครม. และผู้ร่วมประชุม มีหน้าจอขนาดใหญ่เพื่ออ่านไฟล์เอกสาร และเรียกดูข้อมูลแผนที่ วีดิทัศน์ มติ ครม.ย้อนหลังได้และรองรับการจัดเก็บข้อมูลไม่น้อยกว่า 4 ปี

กลุ่มที่ 2 จำนวน 25 เครื่อง ใช้สำหรับบุคลากร สลค. สามารถเรียกดูระเบียบวาระการประชุม ทำงานได้ทั้งในและนอกสถานที่ และใช้สืบค้น มติ ครม. ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2475 ข้อมูลราชกิจจานุเบกษา และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ใช้ระบบ m-VARA ที่เชื่อมโยงกับระบบ iOS ที่มีความปลอดภัยสูง จึงต้องใช้เป็น iPAD นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบา สะดวกต่อการขนย้ายไปประชุมนอกสถานที่ด้วย

กลุ่มที่ 3 จำนวน 25 เครื่อง ใช้สำหรับการประชุมภายในและการประชุมอื่นที่ สลค.เป็นฝ่ายเลขานุการ ใช้ได้ทั้ง iOS หรือ Android ลักษณะการใช้งานและสืบค้นใกล้เคียงกับกลุ่มที่ 2 รวมเป็นงบประมาณที่เสนอขอทั้งสิ้น 8,239,000 บาท ไม่ใช่ 10,000,000 บาท ตามที่นายจิรัฏฐ์กล่าวอ้าง

“นายจิรัฏฐ์ โพสต์เฟซบุ๊กด้วยความสะเพร่ามาก เป็นถึงผู้แทนแต่แยกไม่ออกระหว่าง สลค.กับ สลน. ทำให้ข้าราชการ สลน. เสียหาย และยังกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนรู้เห็นจัด iPAD ตัวท็อปให้กับข้าราชการ  สุดท้ายนายจิรัฏฐ์ได้ออกมาขอโทษว่าพูดชื่อหน่วยงานผิดและเขียนรายละเอียดไม่ชัดเจน”นายธนกรกล่าว

เมื่อกางพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 13 กำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (มาจากฝ่ายการเมือง) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และให้มีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองและรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการและจะให้มีผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้

“ให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นข้าราชการการเมือง และให้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร และผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ” มาตรา 13 วรรสองระบุ

ขณะที่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มาตรา 14 ระบุว่า สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และราชการในพระองค์ มีเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และให้มีรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ และจะให้มีผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้

“ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ” มาตรา 14 วรรคสองระบุ

ผ่าโครงสร้าง สลน.ฝ่ายการเมืองคุม

สำหรับโครงสร้างผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) มี “ดิสทัต โหตระกิตย์” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่มาจาก “ฝ่ายการเมือง”

  • เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายดิสทัต โหตระกิตย์)
  • รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร จำนวน 3 คน
  • ผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 คน
  • ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ จำนวน 6 คน

ผู้อำนวยการ จำนวน 12 คน 

    1. หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
    2. ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ
    3. ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ
    4. ผู้อำนวยการกองงานนายกรัฐมนตรี
    5. ผู้อำนวยการกองประสานงานการเมือง
    6. ผู้อำนวยการกองประสานนโยบายและยุทธศาสตร์
    7. ผู้อำนวยการกองพิธีการ
    8. ผู้อำนวยการกองสถานที่ ยานพาหนะ และรักษาความปลอดภัย
    9. ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
    10. ผู้อำนวยการสำนักโฆษก
    11. ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
    12. ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบภายใน

ผู้เชี่ยวชาญ ด้านต่าง ๆ 

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านประสานงานการเมือง
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านประสานนโยบายและยุทธศาสตร์
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบแผนพิธีการ

ผ่าโครงสร้าง สลค.ข้าราชการประจำหัว

ขณะที่โครงสร้างผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มาจากข้าราชการประจำทั้งหมด รวมถึง “ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์” เลขาธิการครม.

  • เลขาธิการคณะรัฐมนตรี มาจากข้าราชการประจำ
  • รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จำนวน 4 คน
  • ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จำนวน 2 คน
  • ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จำนวน 2 คน
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ จำนวน 1 คน

ผู้อำนวยการกอง จำนวน 7 คน 

  1. ผู้อำนวยการกองการประชุมคณะรัฐมนตรี
  2. ผู้อำนวยการกองนิติธรรม
  3. ผู้อำนวยการกองบริหารงานสารสนเทศ
  4. ผุ้อำนวยการกองพัฒนายุทธศาสตร์และติดตามนโยบายพิเศษ
  5. ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์เรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี
  6. ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานงานคณะรัฐมนตรี
  7. ผู้อำนวยการกองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  • นักวิชาการพัสดุชำนาญการพิเศษปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มงานดูแลและพัฒนาศักยภาพนักเรียนทุนพระราชทานในโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร
  • ผู้อำนวยการกลุ่มงานเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี
  • ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบภายใน
  • ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
  • หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
  • ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา
  • รองผู้อำนวยการสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา

ย้อนหลังงบ 9 ปี สลน. – สลค. ยุคประยุทธ์

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถูกตั้งไว้ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ ดังนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณในส่วนของแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ วงเงิน 604,018,300 บาท

ขณะที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี วงเงิน 2,734,179,300 บาท แบ่งออกเป็น 1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง จำนวน 2,342,623,200 บาท 2.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 381,696,400 บาท และ 3.แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จำนวน 9,859,700 บาท

หากย้อนหลังไปในยุคที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณตลอด 8 ปี โดยเฉพาะ “แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง” ของ “ผู้นำประเทศ”

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดังนี้ ปี 65 วงเงิน  4,001,037,500 บาท แบ่งออกเป็น 1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 3,522,971,900 บาท 2.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 468,065,600 บาท และ 3.แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 10,000,000 บาท

ปี 2564 วงเงิน 5,635,939,900 บาท แบ่งออกเป็น 1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง จำนวน 5,184,510,100 บาท และ 2.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 451,429,800 บาท

ปี 2563 วงเงิน 6,027,039,200 บาท แบ่งออกเป็น 1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง จำนวน 5,538,537,700 บาท และ 2.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 488,501,500 บาท

ปี 2562 วงเงิน 6,072,295,600 บาท แบ่งออกเป็น 1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 5,701,452,800 บาท 2.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 370,842,800 บาท

ปี 2561 วงเงิน 3,892,394,000 บาท แบ่งออกเป็น 1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 3,542,197,200 บาท และ 2.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 350,196,800 บาท

ปี 2560 วงเงิน 5,049,342,400 บาท แบ่งออกเป็น 1.แผนงานบุคลากรภาครัฐ 334,789,200 บาท 2.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ 4,343,176,600 บาท และ 3.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบริหารจัดการภาครัฐ 371,376,600 บาท

ปี 2559 วงเงิน 7,102,554,500 บาท แบ่งออกเป็น 1.แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 6,452,043,000 บาท และ 2.แผนงานพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน 650,511,500 บาท

ปี 2558 วงเงิน 6,798,573,700 บาท แบ่งออกเป็น 1.แผนงานเทินทูน พิทักษ์และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 5,561,838,800 บาท 2.แผนงานส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าภาคการเกษตร และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรอย่างเป็นระบบ 509,398,700 บาท และ 3.แผนงานพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน 727,336,200 บาท

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ดังนี้ ปี 65 วงเงิน 602,728,800 บาท ปี 64 วงเงิน 643,442,100 บาท ปี 63 จำนวน 729,560,700 บาท ปี 62 จำนวน 716,776,200 บาท ปี 61 จำนวน 842,177,200 บาท

ปี 2560 จำนวน 1,004,253,700 บาท แบ่งออกเป็น 1.แผนงานบุคลากรภาครัฐ 141,571,400 บาท และ 2.แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 862,682,300 บาท

ปี 2559 แผนงานพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน 960,045,700 บาท ปี 58 แผนงานพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน 901,246,800 บาท

ทั้ง สลน.-สลค. ขึ้นตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์