อภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก “ประยุทธ์” ถึงสภาแต่เช้า พร้อมสู้ศึกซักฟอก

ประยุทธ์ จันทร์โอชา สภา
FILE PHOTO : THAI ROYAL GOVERNMENT /

พล.อ.ประยุทธ์ ถึงสภาแต่เช้า “พยักหน้า” รับพร้อมสู้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก เพื่อไทยล็อกเป้ารัฐมนตรีภูมิใจไทย นโยบายกัญชาเสรี พร้อมแบ่งเวลาให้พรรคธรรมนัสอภิปราย 

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 08.08 น.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางถึงอาคารรัฐสภา เพื่อเข้าร่วมประชุมการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในวันแรก โดยนายกฯเดินทางออกจากบ้านพัก เวลา 07.40 น.

เมื่อเดินทางมาถึง นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่เดินทางมาถึงก่อนไม่นานได้ทักทายสวัสดี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยกมือรับไหว้ พร้อมแตะแขนทักทาย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีความพร้อมรับศึกอภิปรายในครั้งนี้หรือไม่ นายกฯได้พยักหน้าด้วยสีหน้าเรียบเฉย

จากนั้น นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาถึงรัฐสภา พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในหลายประเด็น โดยเฉพาะท่าทีของ 16 พรรคเล็กว่า เรื่องนี้ปล่อยให้เป็นไปตามครรลองของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ส่วนท่าทีของพรรคเศรษฐกิจไทยที่มี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นหัวหน้าพรรคนั้น นายอนุชาระบุว่า เป็นไปตามที่ปรากฏในข่าว

ล็อกเป้า “อนุทิน” นโยบายกัญชา

จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันแรกว่า วันนี้อภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นวันแรก โดยจะเริ่มต้นการอภิปรายด้วยรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย อยากให้ติดตามโดยเฉพาะเรื่องของกฏหมาย เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้อภิปรายที่เราคัดเลือกและมั่นใจในการทำหน้าที่ ขอให้คิดตามได้เลย

เมื่อถามว่า ผู้ที่อภิปรายเด่นของเพื่อไทยมีใครบ้าง นพ.ชลน่านกล่าวว่า จากตัวรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย คือ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน

เมื่อถามว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ฝ่ายค้านมีใบเสร็จ เช็กบิลได้เลยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า คำว่าใบเสร็จทางการเมือง คือ ข้อมูลข้อเท็จจริงทางกฏหมาย และผลการกระทำต่อประเทศชาติบ้านเมือง และพี่น้องประชาชน

รัฐมนตรีส่วนใหญ่ที่เรากล่าวหา ความผิดพลาดความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการจงใจฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและตามกฏหมาย ฝ่าฝืนจริยธรรม ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ เรามีข้อมูลหลักฐานที่จะชี้ให้เห็น

เมื่อถามถึงหมัดเด็ดที่จะอภิปรายจะมุ่งไปที่นโยบายกัญชาเสรีหรือไม่ นพ.ชลน่านระบุว่า เรื่องที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในภาพกว้างและส่งผลในอนาคตเป็นเรื่องที่เราให้ความสนใจ ซึ่งเรื่องกัญชาเสรีเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราให้ความสนใจมาก

ขอให้ติดตาม รับรองการอภิปราย 4 วันนี้จะมีเรื่องที่ตื่นเต้นทุกวัน โดยเฉพาะวันสุดท้ายจะเป็นวันที่สนุกที่สุด ประธานวิปฝ่ายค้านจะสรุปข้อมูลทั้งหมด ตามยุทธการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน ถ้าไม่ตายในสภา ก็ตายในสนามเลือกตั้ง นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามว่า กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ขอเวลาอภิปราย นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ร.อ.ธรรมนัสยังไม่มีการประสานมา เราเปิดกว้างในการตรวจสอบรัฐบาล เรายินดีหากจะเข้ามาร่วมในนามของพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือจะเป็นฝ่ายค้านอิสระแล้วก็ยินดี

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไปดูว่าจะจัดสรรเวลาได้อย่างไร เนื่องจากขณะนี้เราจัดสรรเวลาไว้ลงตัวแล้ว แต่หากมีข้อมูลที่ดีหรือมีประเด็นที่จะทำให้เห็นข้อผิดพลาดของรัฐบาลชุดนี้ และสามารถเอารัฐบาลชุดนี้ออกไปจากพี่น้องประชาชนได้ เรายินดี

ฝ่ายค้านพร้อมแบ่งเวลาพรรคธรรมนัส

จากนั้น นายสุทิน คลังแสง  ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย  และประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ว่ามีกรอบเวลา โดยที่ฝ่ายค้านต้องจัดการอภิปรายให้ได้วันละ 11 ชั่วโมง จะอภิปรายรัฐมนตรีโดยประมาณ 5-6 คน

เริ่มต้นที่นายอนุทิน โดยที่ตนเองจะเป็นผู้อภิปรายเอง ต่อด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และแทรกด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดีอีเอส และปิดท้ายด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

ขณะที่การอภิปรายในวันพรุ่งนี้จะประเดิมด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ เป็นหลัก นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเข้าคิวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงกลางดึกของการอภิปรายในวันที่ 2 จะเริ่มอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยจะใช้เวลาในการอภิปรายนายกรัฐมนตรี 2 วันครึ่ง โดยประมาณ

เมื่อถามถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ได้ส่งสัญญาณขอเวลาในการอภิปราย นายสุทินระบุว่า ตอนนี้ยังไม่มีการส่งสัญญาณใด ๆ เข้ามา ยังไม่ได้รับการติดต่อเข้ามา ยังรออยู่ตลอด ได้มีการเตรียมเพื่อแบ่งเวลาให้ โดยสามารถแบ่งเวลาให้ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ต้องรีบแจ้งความจำนงภายในวันนี้

เมื่อถามถึงกรณีฝ่ายรัฐบาลออกโปสเตอร์ฆ่าไม่ตาย นายสุทินกล่าวว่า เป็นสีสันที่ลอกธีมของฝ่ายค้าน แม้พยัคฆ์ร้ายฆ่าไม่ตาย แต่จะน่วม

เมื่อถามถึงกรณีมีภาคประชาชนชุมนุมหน้ารัฐสภาระหว่างการอภิปราย เป็นการกดดันรัฐบาลอีกทางหรือ ไม่ นายสุทินกล่าวว่า ถือเป็นความคิดที่ดี เพราะมือในสภาอาจไม่ใช่อย่างเดียว ต้องฟังนอกสภาด้วย และการชุมนุมไม่ได้ผิดกฎ

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 4 โดยที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย วิปฝ่ายค้าน วิปรัฐบาล และตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เป็นเวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565

แบ่งสัดส่วนเวลาให้ฝ่ายค้านอภิปราย 45 ชม. หรือวันละ 11 ชม. และฝ่ายรัฐบาล รัฐมนตรี และ ส.ส. ชี้แจง 19 ชม. หรือวันละ 2 ชม. และลงมติในวันที่ 23 กรกฎาคม 2565

ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านล็อกเป้ารุมถล่ม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 11 คน ประกอบด้วย

  1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  2. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  4. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
  5. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  6. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  7. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  8. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  9. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  10. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  11. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

การอภิปรายอยู่ภายใต้กรอบข้อกล่าวหาหลัก 6 ข้อ ได้แก่

  1. ความผิดพลาดบกพร่องล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน
  2. จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และกระทำผิดต่อกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม
  3. ทุจริต ส่อทุจริต เอื้อประโยชน์
  4. ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา
  5. ละเมิดสิทธิมนุษยชน
  6. ทำลายระบอบประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา