อภิปรายไม่ไว้วางใจ รีวิว 4 ปี ถึงครั้งสุดท้าย รัฐบาลประยุทธ์

อภิปรายไม่ไว้วางใจ รีวิว 4 ปี ถึงครั้งสุดท้าย รัฐบาลประยุทธ์

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 – 22 กรกฎาคมนี้ เป็นการอภิปรายไม่ไว้ใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนเลือกตั้งใหญ่ ในช่วงต้นปีหน้า

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 4 โดยที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย วิปฝ่ายค้าน วิปรัฐบาล และตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เป็นเวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565

แบ่งสัดส่วนเวลาให้ฝ่ายค้านอภิปราย 45 ชม. หรือ วันละ 11 ชม. และ ฝ่ายรัฐบาล รัฐมนตรี และ ส.ส. ชี้แจง 19 ชม. (วันละ 2 ชม.) และลงมติในวันที่ 23 กรกฎาคม 2565

ไม่วางใจ 11 คน 6 ประเด็น

ขณะที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านล็อกเป้ารุมถล่ม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 11 คน ประกอบด้วย

    1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    2. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
    3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
    4. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
    5. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
    6. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
    7. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
    8. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
    9. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
    10. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
    11. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

การอภิปรายอยู่ภายใต้กรอบข้อกล่าวหาหลัก 6 ข้อ ได้แก่

    1. ความผิดพลาดบกพร่องล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน
    2. จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และกระทำผิดต่อกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม
    3. ทุจริต ส่อทุจริต เอื้อประโยชน์
    4. ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา
    5. ละเมิดสิทธิมนุษยชน
    6. ทำลายระบอบประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เตรียมขุนพลเกือบ 50 ชีวิต  ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย เล่นใหญ่ ปล่อยทั้งโปสเตอร์-ทีเซอร์ตัวอย่าง ให้ประชาชนทางบ้านระทึกใจ พร้อมเตรียมขุนพลไว้ถึง 26 คน

ขณะที่พรรคก้าวไกล เตรียมขุนพลอภิปรายไว้ถึง 14 คน ส่วนพรรคประชาชาติ เตรียมผู้อภิปรายไว้ประมาณ 3 คน พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ อย่างน้อยจะมีขุนพลอภิปรายพรรคละ 1 คน เพื่อร่วมถล่มนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ทั้ง 11 คน

ประยุทธ์ พร้อม!

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ว่าได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งหัวหน้าเลขาธิการพรรค และคณะรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ให้เกิดความชัดเจน สามารถชี้แจงได้

“ผมก็เชื่อมั่นทุกคนว่า สามารถชี้แจงตอบคำถามได้ในทุกประเด็นที่มีความสำคัญ และเป็นข้อเท็จจริง ก็มีเท่านั้น” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

รีวิวอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้ง รัฐบาลประยุทธ์ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

หลังจัดตั้งรัฐบาลบัตรเขย่ง เมื่อปี 2562 ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 -27 กุมภาพันธ์ 2563 และลงมติในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563

เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังผ่านการเลือกตั้งและร่วมจัดรัฐบาล เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จำนวน 6 คน ได้แก่

  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
  • วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
  • พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อภิปรายครั้งแรก แจ้งเกิดดาวสภาดวงใหม่

การอภิปรายครั้งนั้น มีไฮไลต์เด็ดแจ้งเกิดดาวสภา และไวรัลไปทั้งโซเชียลในหลายประเด็น อาทิ การแจ้งเกิดนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ จากการอภิปรายไม่วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยการเปิดโปงขบวนการปฏิบัติการด้านข่าวสาร “ไอโอ” ของรัฐบาล

อีกไฮไลต์สำคัญคือวิวาทะร้อนระอุ “วีรบุรุษนาแก vs สหายแสง” ระหว่างนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานรัฐสภาในฐานะประธานการประชุม ได้ตอบโต้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ยืนกรานจะอภิปราย พล.อ. ประยุทธ์ เกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนการเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วน แต่นายศุภชัยไม่อนุญาต หากอภิปรายต่อจะให้ออกจากห้องประชุม

จากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุว่า หากท่านจะเอาจริง ก็เจอกันนอกสภาฯ ผมไม่กลัว จากนั้นนายศุภชัย ได้กล่าวขึ้นว่า หากมีคนบอกว่าท่านคือ วีรบุรุษนาแก ผมก็เป็น สหายแสง อย่ามาขู่กัน ไม่เคยกลัว เช่นกัน

ขณะเดียวกันเกิด “วาทะดัง” ที่เป็นไวรัลอยู่ในโลกออนไลน์ถึงปัจจุบันนี้ “มันคือแป้ง” วาทะเด็ดจากปากของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา และรัฐมนตรีมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ถูกนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ อภิปรายว่า ร.อ.ธรรมนัส มีความเกี่ยวกับประเด็นยาเสพติด ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือไม่

แต่ ร.อ.ธรรมนัสตอบโต้กลับว่า “สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบยาเสพติดของรัฐนิวเซาท์เวลส์ อ้างว่าเป็นเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัมนั้น มันคือแป้ง” ขณะเดียวกัน “มันคือแป้ง” เป็นวาทะแห่งปีที่สื่อประจำรัฐสภาได้มอบให้ในการตั้งฉายาของรัฐสภาปี 2563

การอภิปรายครั้งนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เปิดเผยสัดส่วนการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคต่าง ๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ พรรคเพื่อไทย 18 คน, อดีตพรรคอนาคตใหม่ 16 คน, พรรคเสรีรวมไทย 3 คน, พรรคประชาชาติ 2 คน, พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย พรรคละ 1 คน รวม 42 คน

ขณะที่ วิปรัฐบาลก็ได้เตรียมทีม “องครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรี” ไว้ถึง 30 คน ทำให้ตลอดการอภิปรายมีการลุกขึ้นประท้วงตลอดการอภิปรายของฝ่ายค้าน จนแจ้งเกิดดาวสภา และดาวประท้วงมากมาย ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายรัฐบาล ที่ประชาชนต่างเฝ้าจอรอการรับการอภิปรายครั้งนี้

ดาวสภาฝ่ายค้าน ได้แก่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีน่าน ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย, นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. เพื่อไทย, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เป็นต้น

ขณะที่ ดาวประท้วงในฝ่ายรัฐบาล แจ้งเกิดแก่ ปรีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พลังประชารัฐ, ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, สิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ, สายันต์ ยุติธรรม ส.ส.  นครศรีธรรรมราช พลังประชารัฐ, นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พลังประชารัฐ เป็นต้น

ทว่า ผลการลงมติอภิปรายไม่วางใจ นายกรัฐมนตรีและ 5 รัฐมนตรี ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมติเอกฉันท์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้คำแนนไว้วางใจมากที่สุด 272 คะแนน ส่วน ร.อ.ธรรมนัส ได้คะแนนรั้งท้าย 269 คะแนน

รายนามรัฐมนตรี ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง ไม่ลงคะแนน ผู้เข้าร่วมประชุม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 272 49 2 323
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 277 50 2 329
นายวิษณุ เครืองาม 272 54 2 328
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา 272 54 2 328
นายดอน ปรมัตถ์วินัย 272 55 2 329
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 269 55 7 331

 

อภิปรายไม่วางใจปีที่ 2 ครั้งที่ 2 กำเนิด “ตั๋วช้าง”

ครั้งที่ 2 เมื่อ วันที่ 16 -19 กุมภาพันธ์ 2564 ฝ่ายค้านได้อภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 คน

  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
  • อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  • สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  • ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มีหลายไฮไลต์ได้ให้ประชาชนได้ติดตาม โหมโรงด้วย พล.ต.ต. เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย “พี่น้อง 3 ป.” เกี่ยวกับการปราบปรามบ่อนพนัน

ช่วงหนึ่งมีการประท้วงหนักจาก ส.ส. ดาวประท้วงฝ่ายรัฐบาล นำโดย นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะนายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม.พรรคพลังประชารัฐ มีตอบโต้ไปมาหลายครั้ง จนเป็นสาเหตุให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวสวนนายสิระว่า “เฮ้ย นั่งลงไอ้นักโทษ” จากกรณีที่นายสิระ เป็นอดีตนักโทษถูกจำคุกข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ จ่ายเช็กไม่มีเงิน 4 คดี

วาทะถัดมา คือ เรื่องหนู ๆ ของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณสุข ผู้กำกับดูแลความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ล่าช้า

“ประเทศไทยเราไม่มีหนูลองยา แต่เราเจอแต่ ‘หนู’ ดองยา และดองมานานแล้วด้วย ไม่ยอมหาวัคซีนให้กับประชาชนสักที” นายวิโรจน์กล่าวและว่า “วันนี้ต้องขออนุญาตใส่แมสก์ (หน้ากากอนามัย) 2 ชั้น เพราะอีกสักพักจะมี ‘หนู’ ตายคลุ้งสภา”

จากนั้น นายอนุทิน ที่ชื่อเล่นว่า “หนู” ได้ลุกขึ้นโต้แย้ง นายวิโรจน์ทันทีว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล และคนที่เข้าคุณสมบัตินี้มาใช้สภาอันทรงเกียรตินี้กล่าวโกหกคำโตเพื่อให้เกิดความสับสนกับพี่น้องประชาชน

อีกทั้งในช่วงท้ายของการชี้แจง นายอนุทิน ยังวกกลับมาระบุว่า “กลิ่นหนูตายเน่าพอ ๆ กับกลิ่นปากเหม็นไม่ต่างกัน แต่ผมเชื่อว่าผมยังทำประโยชน์ให้บ้านเมืองและประเทศได้มากกว่า เอาไว้ท่านมีโอกาสเข้ามาก่อน ค่อยมาพิสูจน์กัน”

และไฮไลต์การอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันสุดท้าย ด้วย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วาง พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร กรณีแต่งตั้งตำรวจโดยมิชอบ หรือที่เรียกว่า “ตั๋วช้าง” 

ขณะที่ วิปรัฐบาลก็ได้เตรียมทีม “องครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์” ไว้เช่นเดิม ทำให้ตลอดการอภิปรายมีการลุกขึ้นประท้วงตลอดการอภิปรายของฝ่ายค้าน

ดาวประท้วงฝ่ายรัฐบาลยังคงมีชื่อ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ติดกลุ่มอันดับหนึ่ง ตามด้วยนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพ พรรคพลังประชารัฐรวมถึง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่ ดาวประท้วงฝ่ายค้าน อันดับหนึ่งได้แก่ นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทยและ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย

ผลการลงมติอภิปรายไม่วางใจ สรุปว่า นายกรัฐมนตรีและ 9 รัฐมนตรี ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมติเอกฉันท์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้คำแนนไว้วางใจมากที่สุด 274 คะแนน ส่วนนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้คะแนนรั้งท้าย 258 คะแนน

รายนามรัฐมนตรี ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง ไม่ลงคะแนน ผู้เข้าร่วมประชุม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 272 206 3 481
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 274 204 4 482
นายอนุทิน ชาญวีรกูล 275 201 6 482
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 268 207 7 482
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา 272 205 3 482
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 258 215 8 482
นายสุชาติ ชมกลิ่น 263 212 5 1 482
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ 268 201 12 1 482
นายนิพนธ์ บุญญามณี 272 206 4 482
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 274 199 5 1 482

 

อภิปรายครั้งที่ 3 กับคำครหา ส.ส. หัวละ 5 ล้านบาท

ครั้งที่ 3 เมื่อ วันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายน 2564 ฝ่ายค้านได้อภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 6 คน

  1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  2. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  3. สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  4. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  5. ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  6. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไฮไลต์สำคัญ สำคัญของการอภิปรายครั้งนี้ อยู่ท่ามกลางศึกในของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เอง ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ ร.อ. ธรรมนัส เลขาธิการพรรค ขณะนั้น ซึ่งเปรียบเป็นเกม House of Cards เกมแห่งการเขย่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยมีการกล่าวหาด้วยค่าถุงขนม 5 ล้านบาท 

ตลอดช่วงวันการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีข่าวฝุ่นตลบเกมเลื่อยขาเก้าอี้นายกฯ ยังอบอวลไปทั้งอาคารรัฐสภา แต่อีกด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ก็เรียก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แต่ละกลุ่มไปเคลียร์ใจ ที่ห้องรับรองชั้น 3 อาคารรัฐสภา โดยยืนยันว่าจะไม่มีการ “ยุบสภา“ แต่ห้องรับรองนายกฯ ชั้น 3 มิได้เป็น “เขตหวงห้าม” ดังนั้น ใครไป – ใครมา พวกที่มีหูตาเป็นสับปะรดย่อมรู้ความเคลื่อนไหว

ทำให้นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย หยิบไปอภิปรายในสภาว่า ที่ห้องดังกล่าวกำลังมีการจ่ายเงินให้ ส.ส. หัวละ 5 ล้านบาท  “คนที่อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ตอนนี้สง่างามหรือไม่ ขอท่านชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ที่เป็นเสาหลักให้ประชาชนคนไทยด้วย ผมขอประกาศไปทั่วโลกว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์กำลังจ่ายเงินให้ ส.ส.คนละ 5 ล้านบาท ที่ห้องทำงานชั้น 3 ทำอย่างนี้อุกอาจมาก”

“ทุจริตต้องการอยู่ในตำแหน่งจนถึงต้องให้ ส.ส.ไปรับเงินกลางสภาฯ จะอยู่บนความตายของประชาชนแบบนี้หรือ ลงเถอะครับ หน้าไม่อาย ถึงเวลาผมคิดว่าวิญญาณทั้งหลายจะต้องสาปแช่งท่าน ทำอย่างนี้ได้อย่างไรในสภาฯ”

คำอภิปรายดังกล่าว ทำให้องครักษ์พิทักษ์นายกฯ ออกปฏิบัติการประท้วงกันวุ่นวาย

จากนั้นวันที่ 2 กันยายน 2564 ช่วงเวลา 18.05 น. พล.อ. ประยุทธ์ ได้อภิปรายชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ของฝ่ายค้านที่เกิดขึ้นตลอดช่วงบ่าย โดยใช้เวลา 20 นาที โดยนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตอบข้อกล่าวหาเรื่องการแจกเงิน 5 ล้านให้แก่ ส.ส.

ทำให้นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวว่า “นายกฯ เป็นนักการเมืองเต็มตัว แม้ก่อนหน้านี้จะเคยตำหนิว่าเป็นบ่อโคลนตม เหม็นโสโครก แต่หลังจากตนพูดไปแล้ว มันย้ายจากชั้น 3 ไปชั้น 2 อีก ตอนนี้สงสารนายกฯ ประเทศจีนมีเกมเปลี่ยนหน้า แต่ประเทศไทยในสภาเรากำลังมีเกมเปลี่ยนหัว ขอว่าเรื่องนี้อย่าให้เป็นจริง เพราะสงสารประชาชน”

พล.อ. ประยุทธ์ จึงลุกขึ้นตอบอีกครั้งว่า “คงไม่ตอบ เมื่อกี้ที่มีการกล่าวอ้างต่าง ๆ แล้วมีข่าวว่ามีคนมาพบผม ๆ ไม่ใช่คนแบบนั้น ทุกคนก็มาพบผมเพื่อมาทักทาย ไม่ได้เจอเขา ก็มาคารวะ มาเป็นกำลังใจให้นายกฯ ผมไม่ทำบ้า ๆ บอ ๆ แบบนั้น ไม่ทำถุงขนมอยู่แล้ว” พล.อ. ประยุทธ์กล่าวทิ้งท้าย

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงในสภา ว่า “ที่กล่าวหามีคนมาพบ ไม่ใช่คนแบบนั้น มีคนมาพบเพราะไม่ค่อยได้เจอกัน มาคารวะให้กำลังใจ ผมไม่ทำบ้า ๆ บอ ๆ ไม่ทำถุงขนมอยู่แล้ว”

ช่วงหัวค่ำ 19.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากสภา แสร้งหัวเราะ ฮ่ะ ๆ ๆ เมื่อถูกถามเรื่องปมถุงขนม “ก็เป็นการพูดในสภาก็พูดไป คุยกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาแล้วบอกว่าไม่มีอะไรนี่ ขออย่าไปออกข่าวอะไรที่เสียหาย เราบอกท่านชวนให้ตรวจสอบว่ามีอะไรหรือไม่ แต่ท่านชวนบอกว่ามีกล้องอยู่แล้ว ไม่มีใครไปทำอะไรหรอก มันทำไม่ได้”

แต่เมื่อถูกถามว่า ได้คุยกับ ร.อ.ธรรมนัส แล้วหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า ไม่รู้สิ ผมไม่ได้เจอเขานี่ ก็เป็นเรื่องของพี่ป้อม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐจะดูแล

ตัดกลับมารุ่งเช้า 3 กันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ตอบประเด็น 5 ล้านบาทที่ “วิสาร” พูดกลางสภา ว่า “เป็นการพูดที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีหลักฐาน ไม่มีความน่าเชื่อ และจะสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายเกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป พร้อมกับขอให้ประชาชนพิจารณาว่านายวิสารมีราคาหรือไม่ และชั่งน้ำหนักว่าระหว่างเขากับนายวิสาร ใครน่าเชื่อถือกว่ากัน”  

จากนั้นช่วงค่ำของวัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันสุดท้ายว่ารัฐบาล ยินดีรับฟังทุกข้อมูล ทุกความเห็น ทุกข้อเสนอแนะแนวทางให้กับรัฐบาล โดยรัฐบาลจะนำไปปรับปรุง แก้ไขเพื่อลดจุดอ่อนในการทำงาน 

“เราชาวไทยเชื่อว่า ฟ้าหลังฝน ย่อมสดใสเสมอ แม้จะไม่มีใครบอกได้ว่าวิกฤตโควิดจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ แต่ “ความหวัง” จะเป็นพลังสำคัญให้เราก้าวข้ามความยามลำบากในวันนี้ พร้อมกับความรัก ความสามัคคีของคนในชาติจะเป็นแรงขับเคลื่อนบ้านเมืองของเราไปสู่จุดหมายร่วมกันโดยสวัสดิภาพ ทุก ๆ คน”

อย่างไรก็ตาม แม้ตลอดช่วงวันเวลาที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีคลื่นความไม่สงบทางการเมืองมากนัก แต่ผลการลงมติอภิปรายไม่วางใจ สรุปว่าทั้ง 6 รัฐมนตรีผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมติเอกฉันท์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับคะแนนไว้วางใจสูงสุด 270 คะแนน ส่วนนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน ได้คะแนนน้อนที่สุด 269 คะแนน

รายนามรัฐมนตรี ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง ไม่ลงเสียง ผู้เข้าร่วมประชุม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 264 208 3 0 475
นายอนุทิน ชาญวีรกูล 269 196 11 0 476
นายสุชาติ ชมกลิ่น 263 201 10 1 475
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ 269 195 10 1 475
นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ 267 202 9 0 478
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน 270 199 8 1 478