เสริมทัพสร้างกลยุทธ์ เพื่อสร้างรายได้-การให้บริการอย่างยั่งยืน ของ ‘การบินไทย’

หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง หลายภาคธุรกิจต่างกลับมาพลิกฟื้นกิจการอีกครั้ง
การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ และหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย ก็พร้อมเดินหน้าส่งมอบความประทับใจและสร้างประสบการณ์ที่ดีครั้งใหม่แก่ลูกค้า 

โดยมีสองกำลังหลักที่คอยผลักดันและอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่ง
ก็คือ คุณกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ
คุณกิตติพงษ์ สารสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าและการตลาด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ถ่ายทอดแนวคิดและกลยุทธ์การให้บริการของการบินไทย พร้อมกับการสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรไทย และผู้ประกอบการรายย่อย ในการสร้างงานเสริมอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

‘ศึกษาเส้นทางการบิน-สังเกตพฤติกรรมลูกค้า-ใส่ใจการให้บริการ’ กลยุทธ์สำคัญ ‘การบินไทย’  

คุณกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ เล่าให้ฟังเป็นการปูพื้นก่อนว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หลายประเทศเริ่มคลายมาตรการป้องกันและเปิดรับนักท่องเที่ยว ผมมองว่า วิสัยทัศน์และพันธกิจ รวมถึงกลยุทธ์ เป็นแนวทางในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจในการวางแผนหารายได้ทั้งระยะสั้น และระยะยาว 

สิ่งที่การบินไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ สัดส่วนรายได้ โดยปัจจุบันการบินไทยขยายการดำเนินงานและประคับประคองการดำเนินธุรกิจจากภาวะวิกฤติที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้น กลยุทธ์การเติบโตจากภายใน (Organic growth) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างการบริหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการดำเนินงาน การกำหนดกลยุทธ์ การกำหนดราคาสินค้าและบริการที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของบริษัทไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มยอดขาย หรือการทำให้กำไรเพิ่มขึ้น เพื่อจะช่วยให้มูลค่าของบริษัทเติบโต โดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดความสามารถหลัก (core competency) ที่โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง เพราะนั่นหมายความว่าเราสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นใช้ทรัพยากร, บุคลากรภายในอย่างเต็มประสิทธิภาพ 

การที่การบินไทยมุ่งใช้ทรัพยากรภายในในช่วงแรกนั้นนำมาซึ่งยอดขายที่เพิ่มขึ้น ทั้งตลอดช่วงภาวะโควิด และหลังภาวะโควิด ข้อดีของการใช้การเติบโตแบบ Organic growth คือการพึ่งพาตนเอง หลีกเลี่ยงการก่อหนี้เพิ่มขึ้น, และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตแบบออร์แกนิก สามารถช่วยให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องที่ดีขึ้น รวมทั้งผลประกอบการที่ค่อยๆ ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ล้วนเป็นวิธีการเติบโตเชิงกลยุทธ์อย่างยั่งยืน

การเติบโตแบบกลยุทธ์ที่การบินไทยนำมาใช้และได้ผลจริง และบรรลุเป้าหมายการเติบโต คือ 

– Create Core Value and Create More Value สร้างสรรค์หารายได้จากธุรกิจหลัก เสริมเรื่องการบริการ, แก้ไขปัญหา และตอบสนองความต้องการของลูกค้า ร่วมถึงสร้างสรรค์การสร้างรายได้จากแหล่งอื่นไม่ว่าจะเป็น การสร้างรายได้จากการต่อยอดสินค้าและบริการที่มีอยู่แล้ว 

– Create Innovation, Selling multiple products บนช่องทางการขายใหม่ๆ ส่งเสริมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่, พัฒนาการขายสินค้าและบริการทุกรูปแบบพร้อมทั้งให้ความสำคัญกับโลกอนาคต เช่น มุ่งเน้นสร้างสรรค์ Metaverse โลกเสมือนจริงเพื่อสร้างโอกาสในการหารายได้ใหม่ๆ ควบคู่กับการสร้างรายได้ในโลกปัจจุบัน มุ่งเน้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยให้ความใส่ใจดูแลทุกจุด Touch point เพื่อยกระดับการบริการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคต และพัฒนาความคิดริเริ่มที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว 

Internal 

กลยุทธ์การเติบโตภายในองค์กร พยายามเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทางธุรกิจภายในเพื่อเพิ่มรายได้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและสร้างรายได้พร้อมทั้งวางเป้าหมายที่ชัดเจนในทุกๆ หน่วยงานอย่างมีจุดมุ่งหมายมากที่สุดเช่น ลดการใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง ลดขั้นตอนการดำเนินงานให้น้อยลงโดยทำให้ฟังก์ชันบางอย่างทำงานเร็วขึ้น มากขึ้น ปรับปรุงการทำงานและทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

Partnerships

เราจะร่วมมือกับพันธมิตร คัดสรรคู่ค้าที่จะสามารถส่งเสริมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้การบินไทยได้มากขึ้นอย่างยั่งยืนร่วมกันไปในระยะยาว รวมถึงการพัฒนา สินค้าและบริการทำการตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์การเดินทางทุกกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มเป็นยอดขายได้ในอนาคต 

เนื่องจากการบินไทยพึ่งพาตลาดต่างประเทศ อาทิ ตลาดยุโรป โดยการบินไทยได้ทำการบินในเส้นทางยุโรป และประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง นับว่าเส้นทางยุโรปเป็นแหล่งรายได้สำคัญของการบินไทยก็ว่าได้ 

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ได้มีตลาดแห่งใหม่ที่มีความพร้อมในการเดินทางเกิดขึ้นก่อนประเทศเป้าหมายอื่นๆ คือ ประเทศอินเดีย การบินไทยจึงเพิ่มเที่ยวบินเข้าไปในอินเดีย และทำการบินเกือบเทียบเท่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ปัจจุบันการบินไทยมีเที่ยวบินที่บินเข้า-ออกอินเดียกว่า 62 เที่ยว/สัปดาห์ เป็นการช่วยภาครัฐผลักดันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทย และยังแสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจและพร้อมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น  

ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ เล่าอีกว่า หลังจากการบินไทยประสบความสำเร็จในเส้นทางอินเดียแล้ว
อีกตลาดที่สำคัญไม่แพ้กันเลย คือ โซนเอเชียตะวันออก ที่ทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว นำโดยประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทย ดังนั้น การบินไทยจึงเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น เพื่อรองรับอัตราการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว 

“จะเห็นว่า ตลาดที่การบินไทยเจาะเข้าไปหลังการฟื้นตัวของโควิด จะเป็นตลาดที่ตอบสนองสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการเดินทางเข้ามายังไทย และนักเดินทางที่ต้องการเดินทางออกจากไทยไปยังประเทศกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และกลุ่มประเทศยุโรป เส้นทางบินบินตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญในการมุ่งหารายได้ของการบินไทย” 

คุณกรกฎ ชาตะสิงห์

ถึงอย่างนั้น การบินไทยก็ไม่ได้ละเลยที่จะทำการขายคาร์โก หรือการส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ช่วยการบินไทยมาโดยตลอดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดและผู้โดยสารไม่มีการเดินทาง แต่การบินไทยยังทำการขนส่งสินค้าทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การบินไทยมีรายได้หล่อเลี้ยงและสามารถเตรียมเส้นทางการบินไว้เมื่อตลาดเริ่มกลับมา

ไม่เพียงเท่านั้น การบินไทยได้พิจารณาและศึกษาว่าลูกค้าของการบินไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยจากการศึกษาพบว่า หลังสถานการณ์โควิดดีขึ้นกลุ่มลูกค้ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นการเดินทางไปต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจะเริ่มอยู่นานมากขึ้น หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย จะมีทั้งเดินทางมาพักผ่อนและปักหลักทำงานในเมืองไทยไปด้วย รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่ม baby boomers ที่มีเวลาหลังเกษียณ จึงออกเดินทางและหาประเทศที่มีค่าครองชีพไม่สูงมากนัก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งทิศทางของทุกกลุ่มที่กล่าวมา จะมีการเติบโตที่สูงขึ้นและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

เมื่อประเทศไทยถือเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เนื่องจากมีจุดขายหลายอย่างที่สามารถเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน แหล่งอารยธรรม รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก การบินไทยจึงดึงจุดแข็งด้านความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

จึงเป็นเหตุผลที่การบินไทยให้ความสำคัญเรื่อง emotional brand แต่ก็ไม่ได้ละเลยเรื่อง functional ทั้งเครื่องบินและอุปกรณ์ต่างๆ การบินไทยก็ไม่ได้หยุดนิ่งที่จะพัฒนาให้เครื่องบินของเรามีความสะอาด ทันสมัยอยู่เสมอ”

“ส่วนแนวคิด emotional โดยเฉพาะเรื่อง อาหาร ถือเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ของไทย ที่การบินไทยนำเอาความเป็นไทยเข้ามาให้บริการลูกค้า และแน่นอนว่าบนเที่ยวบินของการบินไทยจะต้องมีอาหารไทยพร้อมเสิร์ฟให้ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้มีความรู้สึกว่า เมื่อก้าวย่างขึ้นมาบนเครื่องบินของการบินไทย จะได้รับการต้อนรับแบบเสน่ห์ไทย เสมือนกับการเข้ามายังประเทศไทย”

คุณกรกฎ เผยความพร้อมของการบินไทย ที่พร้อมเป็นสื่อกลางนำพานักท่องเที่ยวมาสัมผัสประสบการณ์แสนประทับใจว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา ความอยากเดินทางของนักท่องเที่ยวเริ่มมีมากขึ้น จึงนับเป็นช่วงเวลาดีที่สายการบินไทย รวมถึงสายการบินในเครืออย่างสายการบินไทยสไมล์ สามารถกลับมาบินได้อย่างเต็มรูปแบบ สำหรับคนไทยการได้กลับมาบินท่องเที่ยวภายในประเทศนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง และพัฒนาไปสู่การเดินทางในประเทศเป้าหมาย
ที่ต้องการ

การบินไทยพร้อมรองรับและให้บริการนักท่องเที่ยวคนไทยที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ด้วยศักยภาพของการบินไทยในขณะนี้ การบินไทยได้นำเครื่องบินออกมาให้บริการเกือบ 60% ที่มีอยู่ ดังนั้น ปริมาณ ความถี่ และความจุในเส้นทางการบินที่สำคัญ สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวได้เพียงพออย่างแน่นอน 

“ปัจจุบันการบินไทยได้ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ เนื่องจากการบินไทยตระหนักดีว่า เมืองไทยพึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งการท่องเที่ยวของไทยมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและมีส่วนช่วยในการนำรายได้เข้ามายังประเทศไทยอย่างมหาศาล ดังนั้น
การบินไทยถือเป็นกลไกสำคัญที่จะนำพานักท่องเที่ยวเข้ามาเติมเต็มให้ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศ ให้ประเทศไทยมีรายได้อันเกิดจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสามารถเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน”     

“เป้าหมายที่ถูกกำหนดตามวิสัยทัศน์ขององค์กร นั่นคือการเป็นสายการบินคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้นั่นหมายความว่า ผมจะต้องสร้างความเชื่อใจ หรือ Trust ทั้งภายในและภายนอกองค์กร”

‘emotional brand’ กลยุทธ์มัดใจลูกค้า 

“สัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษ นั่งจิบกาแฟแบบพรีเมียมที่ได้รับการคัดสรรอย่างพิถีพิถัน บนคาเฟ่ลอยฟ้าที่มีความสูงกว่า 30,000 ฟุต พร้อมชมวิวทิวทัศน์นอกหน้าต่างที่งดงามเกินบรรยาย ดื่มด่ำคู่ใจไปกับช็อกโกแลตสูตรพิเศษ ร่วมสัมผัสโมเมนต์ที่น่าประทับใจ เปิดประสบการณ์ใหม่ให้การเดินทางของคุณเปลี่ยนไปจากเดิม”

นี่คือคำโปรยของบริการใหม่ที่ถูกจัดไว้บนเที่ยวบินของ การบินไทย สายการบินแห่งชาติของไทย ที่พร้อมให้บริการเสิร์ฟกาแฟสูตรพิเศษ Black Silk Blend และ ช็อกโกแลตกานเวลา ซึ่งเป็นการผนึกกำลังระหว่าง การบินไทย กับ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ แบรนด์ช็อกโกแลตกานเวลา
ที่การบินไทยร่วมส่งเสริมผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทยให้มีชื่อเสียงไกลไปทั่วโลก 

ทั้งนี้ เมื่อหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ก็มีความท้าทายควบคู่กันไป ซึ่ง คุณกิตติพงษ์ สารสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าและการตลาด บอกว่า เมื่อความต้องการบริโภคมากขึ้น แต่ทรัพยากรต่างๆ ไม่ได้มีมากนัก เหมือนช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด ดังนั้น หนึ่งในแนวคิดหลักที่การบินไทยต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า ตามพันธกิจที่มุ่งเน้นให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คือ การบินไทยต้องการสร้างความประทับใจให้ลูกค้าผ่าน emotional brand ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับเรื่องอารมณ์และความรู้สึก ผ่านสินค้าหรือบริการที่สามารถตอบสนองต่ออารมณ์ของลูกค้าได้

“ก่อนสร้างความประทับใจให้ลูกค้าผ่าน emotional เราต้องมองเรื่อง brand position statement เพื่อบอกพนักงานของการบินไทยว่า เราสัญญาอะไรกับลูกค้าเอาไว้ และต้องสร้างความประทับใจให้ลูกค้ามากที่สุด ตามสโลแกนของการบินไทยที่บอกลูกค้าว่า เมื่อคุณบินกับการบินไทย คุณจะรู้สึก ‘Smooth as Silk’ แต่ทั้งนี้ พนักงานของการบินไทยจะต้องมีวิธีสื่อสาร หรือเมสเสจที่ทำอย่างไร จึงจะสามารถส่งมอบประสบการณ์ Smooth as Silk ให้ลูกค้าได้อย่างประทับใจ”

กิตติพงษ์ สารสมบูรณ์

“เราใช้เวลาร่วม 1 ปี มาคิดใหม่ ทำใหม่ และประเมินตัวเองใหม่ ว่าสิ่งที่ควรเป็น brand position statement  ของการบินไทยคืออะไร โดยได้มีการศึกษาและร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์จากต่างประเทศ จนในที่สุดก็ได้ชุดความคิดนั้นกลับมา และนำสิ่งที่ได้สื่อสารกลับไปยังพนักงานของการบินไทย เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจว่า เราจะสัญญาอะไรกับลูกค้า เช่น หากเราสัญญาว่าเราจะส่งมอบความประทับใจให้ลูกค้า 100 แต่ถ้าเราทำได้ 100 หรือมากกว่านั้นก็ไม่มีการคอมเพลน แต่หากเราสัญญา 100 ส่งมอบได้แค่ 90 หรือ 80 นี่แหละคือการคอมเพลน” 

เมื่อการบินไทยดำเนินการสื่อสารและทำความเข้าใจกับพนักงานของการบินไทยสำเร็จแล้ว ก็พิจารณาต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้สามารถก้าวเดินต่อไปอย่างยั่งยืนและมั่นคง จึงถือกำเนิดแนวคิด emotional brand เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาประเทศไทย และใช้บริการสายการบินไทย

และหากถามว่าทำไมต้องเป็นแนวคิด emotional brand คุณกิตติพงษ์ ชวนเราให้ลองนึกภาพตามว่า การบินไทยและประเทศไทย เป็นของคู่กัน ดังนั้น จึงต้องดึงเอาความเป็นไทยออกมาเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชนทั่วโลก อาทิ อาหารไทย ผ้าไหมไทย การท่องเที่ยว ความนุ่มนวล ความมีน้ำใจ ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ของไทยทั้งสิ้น

“พอเราตกผลึกและประมวลผลความเป็นไทยออกมาแล้ว การบินไทยจึงได้ดำเนินการออกแบบการให้บริการลูกค้าใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการเดินทางที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า โดยมีแนวคิดแกนหลักว่า ประเทศชาติได้ประโยชน์ สังคมส่วนรวมได้ประโยชน์ และการบินไทยได้ประโยชน์ ที่เราคิดแบบนี้ เพราะการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ จึงต้องทำหน้าที่ให้สมกับเป็นสายการบินแห่งชาติ” 

เห็นได้จาก การบินไทยได้มีบริการเสิร์ฟกาแฟสูตรพิเศษ Black Silk Blend บนเครื่องบิน โดยร่วมมือกับโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คิดค้นสูตรพิเศษนี้ขึ้นมาสำหรับการบินไทยโดยเฉพาะ ซึ่งการให้บริการนี้ตรงกับแนวคิดหลักของการบินไทย ประการแรกคือ ประเทศชาติได้ประโยชน์ สามารถช่วยเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้และเป็นการสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน 

ประการต่อมา สังคมส่วนรวมต้องได้ประโยชน์  เพราะเกิดการสร้างงานและเสริมสร้างอาชีพ รวมถึงพัฒนาการท่องเที่ยวไทยอีกด้วย และสุดท้าย การบินไทยได้ประโยชน์ เพราะลูกค้าการบินไทยก็ได้กาแฟที่มีคุณภาพ รสชาติดี และรับรู้ได้ถึงสัมผัสทั้ง 6 (หลักอายตนะ 6) ได้แก่ สัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง และใจ

“มนุษย์จะมีความรู้สึกได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง แล้วนั้น ต้องมีการรับรู้ถึงใจด้วย ดังนั้น เมื่อกาแฟหอม รสชาติดี ก็เป็นแค่การรับรู้ความรู้สึกผ่านการชิมและได้กลิ่นเท่านั้น แต่หากได้รู้เรื่องราวเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นกาแฟสุดพิเศษนี้ ต้องผ่านกระบวนการคิด มีความตั้งใจ และสายการบินแห่งชาติช่วยสร้างงานเสริมอาชีพให้เกษตรกร ลูกค้าก็สามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกข้างในจิตใจ จึงจะสามารถเติมเต็มสัมผัสได้ครบตามหลักอายตนะ 6”

ดื่มบนดินสุดฟิน ดื่มบนฟ้าฟินยิ่งกว่า! ต้อง ‘กาแฟดอยตุง สูตรพิเศษ Black Silk Blend’ 

สายการบินทั่วโลกล้วนมีจุดเด่นของตัวเอง ด้านการให้บริการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพเยี่ยมแก่ลูกค้า ดังนั้น การบินไทยจึงต้องการสร้างจุดเด่นขึ้นมา ด้วยคอนเซ็ปต์ ‘Cafe in the Sky’ 

“ปัจจุบันยังไม่มีสายการบินใดให้บริการนี้ และเมื่อกล่าวถึงคาเฟ่ ก็ต้องมีการเสิร์ฟกาแฟ ซึ่งต้องเป็นกาแฟแบรนด์ไทย ที่เป็นสูตรพิเศษและอร่อย สามารถหาดื่มได้เฉพาะบนเครื่องบินของการบินไทยเท่านั้น” ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าและการตลาด เล่าด้วยความภูมิใจ แล้วบอกอีกว่า 

เมื่อได้คอนเซ็ปต์ ต้องเป็นกาแฟแบรนด์ไทยแล้ว การบินไทยเล็งเห็นว่า โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่สร้างงานเสริมอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้งกาแฟดอยตุง เป็นกาแฟที่รสชาติดี และมีคุณภาพเยี่ยม จึงเข้าหารือกับ ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้บริหารแบรนด์ดอยตุง และมีความคิดเห็นตรงกันว่า การร่วมมือกันครั้งนี้ ประเทศชาติและสังคมได้ประโยชน์ 

ครั้งนั้น คุณกิตติพงษ์ เอ่ยปากกับ ม.ล. ดิศปนัดดา ว่า อยากมีกาแฟที่เป็นสูตรพิเศษสำหรับการบินไทย เมื่อดื่มบนดินก็อร่อย แต่ดื่มบนอากาศต้องอร่อยมากขึ้น! 

“เราทดลองชิมกันจนลงตัว และเกิดเป็นกาแฟ Black Silk Blend พร้อมให้บริการเสิร์ฟเฉพาะชั้น First Class และ Royal Silk Class ความพิเศษคือ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะต้องทำกาแฟดริปทีละแก้ว เพื่อตั้งใจให้ผู้โดยสารได้ดื่มกาแฟที่หอม อร่อย และมีคุณภาพมากที่สุด”

กาแฟดอยตุง สูตรพิเศษ Black Silk Blend : ที่มา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

(https://home.maefahluang.org/17923621/black-silk-blend)

สำหรับเหตุผลที่การดื่มกาแฟบนดิน มีความแตกต่างจากการดื่มกาแฟบนท้องฟ้า เพราะการรับรู้รสชาติของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความสูง แรงดันอากาศ และความชื้น ทำให้ความสามารถในการรับรสของมนุษย์ลดลง ซึ่งดอยตุงให้ความใส่ใจในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะต้องการให้เป็นกาแฟสุดพิเศษที่ไม่เหมือนใครในโลก จึงได้ทำการทดสอบและพัฒนากันหลายรอบ จนในที่สุดก็ออกมาเป็นกาแฟสูตรพิเศษ Black Silk Blend       

นอกจากจะมีกาแฟดริปสูตรพิเศษนี้แล้ว ยังมีเครื่องดื่มสูตรอื่นๆ ที่มีความหลากหลาย เสริมเข้ามาให้ลูกค้าได้เลือกดื่มอย่างมีความสุขตลอดการเดินทาง อาทิ กาแฟโคลด์ บรูว์ กาแฟดำผสมน้ำส้ม และชาไทยเฉาก๊วย ที่เป็นซิกเนเจอร์ของการบินไทย ซึ่งมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี         

‘ช็อกโกแลตกานเวลา’ คราฟต์ช็อกโกแลตของเกษตรกรไทย สู่ของหวานปิดมื้ออาหารบนเครื่องบิน  

“เวลาดื่มกาแฟ บางคนอาจรู้สึกว่าต้องมีของหวานมาประกอบ จึงจะมีความเข้ากันและกลมกลืนกัน ผมและทีมงานของการบินไทย จึงระดมความคิดและศึกษาข้อมูลต่างๆ จนทราบว่า เมืองไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศเหมาะแก่การปลูกโกโก้ได้ดีเยี่ยม และสามารถผลิตช็อกโกแลตที่มีคุณภาพสูง หลากหลายแบรนด์ก็มีรางวัลการันตีอีกด้วย” คุณกิตติพงษ์ บอกถึงเหตุผล ว่าทำไมถึงเลือกช็อกโกแลตแบรนด์ไทยเสิร์ฟบนเครื่องบิน

ดังนั้น การบินไทยจึงเปิดให้ผู้ผลิตช็อกโกแลตรายย่อย หรือเกษตรกรรายย่อย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และหนึ่งในแบรนด์ที่สนใจร่วมมือกับการบินไทย คือ ‘ช็อกโกแลตกานเวลา’ ของ คุณธนา คุณารักษ์วงศ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตรายย่อยจากจังหวัดเชียงใหม่ มีรางวัลการันตีมากมาย 

คุณธนามีความมุ่งมั่นและต้องการให้ผลิตภัณฑ์แบรนด์กานเวลาโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งการบินไทยได้ยื่นข้อเสนอไปว่า ช็อกโกแลตที่จะนำมาเสิร์ฟนั้น ต้องทานคู่กับกาแฟ Black Silk Blend จึงต้องการช็อกโกแลตที่มีความเข้ากันและรับประทานคู่กับกาแฟได้อย่างลื่นไหล

ช็อกโกแลตบงบง และช็อกโกแลตบาร์ แบรนด์กานเวลา

ในที่สุดแบรนด์กานเวลา ก็ดึงเอาผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตบาร์แบบวีแกน ดาร์ก 72 เปอร์เซ็นต์ คลองลอยออริจิ้น เรียกตามชื่อของแหล่งปลูกต้นโกโก้ ณ หมู่บ้านคลองลอย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาทดสอบรับประทานคู่กันกับกาแฟ Black Silk Blend เมื่อลองชิมแล้วรู้สึกเข้ากันอย่างมาก เพราะเป็นช็อกโกแลตที่มีกลิ่นหอมของมะพร้าวคั่ว รวมถึงมีความลงตัวต่างๆ ซึ่งกันและกัน จึงได้นำไปให้บริการเสิร์ฟคู่กันบนเครื่องบิน

“เมื่อเกษตรกรที่ปลูกโกโก้ทราบว่า โกโก้ที่ตนเองได้ลงมือปลูกอย่างพิถีพิถัน ถูกนำมาแปรรูปเป็นช็อกโกแลต และนำขึ้นไปให้บริการเสิร์ฟบนสายการบินแห่งชาติ ทุกคนต่างรู้สึกภูมิใจที่ช็อกโกแลตของเขาซึ่งเป็นผลผลิตในชุมชนถูกนำขึ้นไปบนท้องฟ้า เหมือนเป็นการทำให้ความฝันของเกษตรกรที่หมู่บ้านคลองลอยเป็นจริง” คุณกิตติพงษ์ ถ่ายทอด
อย่างมีความสุข

อย่างไรก็ตาม ช็อกโกแลตกานเวลา ที่นำมาเสิร์ฟให้ลูกค้าบนเครื่องบินนั้น นอกจากช็อกโกแลตบาร์ ที่ให้บริการเสิร์ฟบนชั้น Royal Silk Class แล้ว ยังมีช็อกโกแลตบงบง (BonBon) ซึ่งเป็นช็อกโกแลตรูปร่างก้อนกลมๆ สอดไส้ ลวดลาย และสีสันสวยงาม ทั้งยังมีรสชาติที่แสดงถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ถูกคัดเลือกให้นำไปให้บริการเสิร์ฟเฉพาะชั้น
First Class ของการบินไทย 

“เดิมทีในชั้น First Class ได้ให้บริการเสิร์ฟช็อกโกแลตแบรนด์ของต่างประเทศ จึงคิดอยากเปลี่ยนเป็นช็อกโกแลตแบรนด์ไทย แต่ให้มีความหรูหราและมีกลิ่นอายของความเป็นไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ เลอ ปาตี โฟร์ หรือขนมหวานพอดีคำปิดมื้ออาหาร จนได้เป็นช็อกโกแลตสอดไส้บงบง มีทั้งหมด 4 ชิ้น 4 รสชาติ แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยเคียงคู่กับความเป็นสากล ได้แก่ ฝรั่งพริกเกลือ ตะโก้เผือก สังขยามะพร้าวคั่ว และเฮเซลนัทคาราเมล” 

ช็อกโกแลตกานเวลา ทั้ง 2 ชนิด ได้รับรางวัลจากสถาบันช็อกโกแลตระดับโลก ถึง 2 สถาบัน คือ International Chocolate Awards 2020 และ Academy of Chocolate 2021 ทั้งยังได้รับรางวัลดาวรุ่งหน้าใหม่ International Rising Star Award อีกด้วย 

‘การบินไทย’ พร้อมสนับสนุนเกษตรกรไทย ให้ก้าวไกลสู่สากล

ปัจจุบัน การบินไทยมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ของไทยที่ให้บริการเสิร์ฟบนเครื่องบิน คือ กาแฟดอยตุงและช็อกโกแลตกานเวลา แต่ก็ไม่ได้หยุดที่จะนำสินค้าของเกษตรกรไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสายการบินแห่งชาติ 

“การบินไทยได้พยายามมองให้ครบทุกมิติ ซึ่งขณะนี้ได้มีการร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำของไทยในการนำวัสดุที่ไม่ได้ใช้ มาแปรรูปและผลิตเป็นของใช้ที่มีมูลค่า สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งการบินไทยได้นำมาผลิตเป็นกระเป๋า amenity kit เพื่อให้ผู้โดยสารได้นำไปใช้ใส่ของและเก็บเป็นที่ระลึก” 


การบินไทย ในฐานะสายการบินแห่งชาติ มุ่งมั่นผลักดันการสร้างรายได้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย และไม่เพียงแต่ฟื้นฟูด้านอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่การบินไทยยังภาคภูมิใจที่มีส่วนสนับสนุนเกษตรกรไทยผลักดันสินค้าภาคการเกษตรสู่ตลาดโลก และช่วยผู้ประกอบการรายย่อยในการสร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นการสร้างความเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน