วันมหิดล : 24 กันยายน รำลึกพระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย

วันมหิดล : 24 กันยายน 2564 รัฐบาลประกาศเป็นวันหยุดราชการพิเศษ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ของ “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” 

24 กันยายน พ.ศ. 2472 คือ วันสวรรคต

1 มกราคม พ.ศ. 2434 คือ วันประสูติ

ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรส พระองค์ที่ 7 ในจำนวนพระราชโอรส พระราชธิดาทั้ง 8 พระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

องค์ต้น ราชสกุลมหิดล

ทรงเป็นองค์ต้นราชสกุล “มหิดล” ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์ และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”

มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณทราชาวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ์ ลักษณวิจิตรพิสิฏฐ์บุรุษ ชนุดมรัตรพัฒนศักดิ์ อัครราชวรกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์”

เมื่อทรงมีพระราชอิสริยยศ “สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล” พระชนมายุ 13 พรรษา ทรงรับรู้ถึงความทุกข์ของพระบรมราชชนนี คือสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ที่ทรงเสียพระทัย ที่ต้องทรงสูญเสีย เด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาทพระองค์แรก จากนั้นตำแหน่งรัชทายาทได้เปลี่ยนสายไปยัง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7)

ด้วยความรับรู้ถึงความเสียพระทัยของพระราชชนนี เจ้าฟ้ามหิดล ทรงกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “…โตขึ้นพอมีความคิด ก็รู้สึกสลดใจว่าตั้งแต่หม่อมฉันเกิดมาเห็นแต่เสด็จแม่ทรงเป็นทุกข์โศก ไม่มีอะไรที่จะทำให้ชื่นพระหฤทัยเสียเลย สงสารเสด็จแม่…”

“จึงคิดว่าลูกผู้ชายของท่านก็เหลืออยู่แต่หม่อมฉันคนเดียว ควรจะสนองพระคุณด้วยการทำการงานอย่างหนึ่ง ให้เสด็จแม่ทรงยินดี ด้วยเห็นลูกสามารถทำความให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองได้”

ศึกษาวิชาทหาร-งานวิชาการเรือรบ

ทรงได้รับการศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และทรงเสด็จไปศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยม Harrow ประเทศอังกฤษ จากนั้นไปทรงศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมนี ในมหาวิทยาลัย Royal Prussian Military College และทรงเลือกวิชาทหารเรือต่อที่ Imperial German Naval College ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระยศเป็นนายเรือตรี และนายเรือโท ในกองทัพเยอรมนี

เสด็จกลับสยาม ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้พระราชอนุชา (ต่างพระราชชนนี) เข้ารับราชการในกรมเสนาธิการทหารเรือ  พระราชทานพระยศเป็นนายเรือโทแห่งราชนาวีสยาม และย้ายไปกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตำแหน่งอาจารย์นายเรือ แผนกแต่งตำรา พระยศนายเรือเอก

ผลงานทางวิชาการที่ยังประโยชน์แก่กองทัพเรือ คือ “ร่างโครงการสร้างกองเรือรบ หรือโครงการสร้างกำลังทางเรือ-Flottenbau Plan” ซึ่งบรรยายถึงความจำเป็นในการที่กองทัพเรือสยามจำเป็นต้องมีเรือตอร์ปิโดและเรือดำน้ำไว้ใช้ เข้า-ออกแม่น้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ทรงเล่าจุดเปลี่ยนเส้นทางจากทหารเรือสู่เส้นทางการแพทย์ของ สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล ไว้ว่า “…ท่านเห็นควรสร้างฝูงเรือรบเล็ก ๆ จำนวนมากแอบซ่อนไว้ตามเกาะแก่ง แต่ท่านแพ้เสียในที่ประชุม จึงลาออกจากราชนาวี ขนตำราที่เรียนที่เยอรมัน จนเป็นนายเรือโทประจำเรือดำน้ำเยอรมันเผาไฟจนหมดสิ้น…”

วันหนึ่งทรงเสด็จไปทอดพระเนตรโรงพยาบาลศิริราช ทรงสลดพระทัย กับในปัญหาอุปสรรคของกิจการแพทย์สยาม โรงพยาบาลศิริราชขณะนั้นมีอาคารเรียน อาคารผู้ป่วย ไม่กี่หลัง ชื่อวิคโตเรีย เป็นตึก 2 ชั้น กว้างประมาณ 3 วา ยาว 4 วา เป็นตึกสำหรับคนไข้พิเศษ ตั้งได้เตียงเดียว…อีกตึกชื่อ เสาวภาคย์ กว้าง 3 วา ยาว 5 วา เป็นสถานที่ตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโรค โรงคลอดบุตร เป็นโรงไม้

จึงทรงดำริว่า สถานะเจ้าฟ้า ซึ่งสูงทั้งพระอิสริยศักดิ์และรายได้ อันจะสามารถทำให้กิจการต่างๆ ที่ทรงพระประสงค์สำเร็จลุล่วงได้ไม่ยาก จึงทรงตั้งพระทัยในอันที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากความทุกข์ จากความเจ็บไข้ ได้ป่วย

แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม

ทรงกราบลาออกจากราชการกองทัพเรือ และเสด็จไปทรงศึกษาวิชาแพทย์และสาธารณสุขศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และสถาบันเทคนิควิทยาแห่งแมสซาชูเซตส์ ใช้พระนามในการเรียกพระองค์ว่า “มิสเตอร์มหิดล ณ สงขลา” ใช้เวลาในการศึกษา 6 ปี ระหว่างนั้นทรงพัฒนาการแพทย์สยามควบคู่ไปด้วย ทรงสำเร็จวิชาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม

ทรงวางแผนส่งนักเรียนแพทย์ไทยไปศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่ในต่างประเทศ สละพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์และของเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ประทานให้เด็กไทยไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา มากกว่า 10 ทุน

ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ซื้อที่ดินและอาคารสถานที่ของโรงเรียนวังหลัง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเงิน 50,000 บาท เปลี่ยนเป็นที่พักของพยาบาล

ครั้งหนึ่งทรงประทานเงิน 80,000 บาท เป็นค่าก่อสร้างตึกศัลยกรรมชาย แต่ไม่โปรดให้มีพระนาม เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จนเมื่อเสด็จทิวงคตแล้ว จึงได้เรียกอาคารนี้ว่า “ตึกมหิดลบำเพ็ญ”

ทรงเจรจาขอความร่วมมือและความช่วยเหลือกิจการแพทย์กับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ควบคู่พัฒนากิจการแพทย์แห่งสยาม

ใครอยากรวยควรเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่แพทย์

ขณะที่การดำรงพระชนม์ชีพ เป็นไปอย่างประหยัด ที่ประทับขณะเป็นนักเรียนแพทย์ คือ อพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ทรงซักถุงพระบาท ล้างชามและล้างรถยนต์ด้วยพระองค์เอง ครั้งหนึ่งทรงรับสั่งกับนักเรียนทุนของพระองค์ว่า “เงินที่ใช้ให้แกมาเรียน ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของตาสีตาสาเขาให้ฉัน ฉันจึงมีเงินมาให้พวกแกได้เรียน และให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป”

หนึ่งในนักเรียนทุนของพระองค์ คือ นักเรียนทุนพยาบาล ชื่อ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ที่ต่อมาทรงเป็นพระบรมราชชนนี ในพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ และมีพระราชนัดดาเป็น พระมหากษัตริย์ 1 พระองค์

พระยาประภากรวงศ์ อัคราชทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน กราบบังคมทูลรายงานไปถึง กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประทศ ถึงรับสั่งของเจ้าฟ้ามหิดล ที่มีต่อ นางสาวสังวาลย์ ว่า “พระองค์ท่านทรงตระหนักแน่พระทัยในความดีของนางสาวสังวาลย์ ว่าเป็นผู้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ วิชาความรู้ ความสามารถ เฉลียวฉลาด ต้องพระทัยทุกอย่าง ทรงหวังว่าคงจะเป็นคู่ค้ำชูพระเกียรติยศไม่ผิดไปต่อพระราชนิยมได้ แม้หากว่าจะขาดอยู่เพียงยศ แต่เมื่อมีความดีแล้ว ยศย่อมเป็นของที่ควรยกขึ้นได้ภายหลัง”

การอภิเษกสมรสเกิดขึ้นที่วังสระปทุม ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 เปลี่ยนสถานะนางสาวสังวาลย์ เป็นพระชายาของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มีการออกพระนามว่า “หม่อมสังวาลย์”

มีพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยกัน 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร  และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ขณะที่ดำรงตำแหน่งพระอาจารย์ ทรงมีพระดำรัสกับลูกศิษย์ เสมอว่า “ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอมีความรู้แต่ทางการแพทย์อย่างเดียว ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นคนด้วย” และ “อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ดีจึงไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากรวยก็ควรเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่แพทย์”

ทรงรับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาชีววิทยาให้กับนิสิตเตรียมแพทย์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นคณะกรรมการโรงพยาบาลศิริราช ทรงเปิดโรงพยาบาลที่ จ.สงขลา พระราชทานนามว่า สงขลาพยาบาล

ระหว่างที่ทรงเป็นแพทย์ประจำการในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จ.เชียงใหม่ นายไซรัส แมคคอร์มิค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชาวอเมริกัน บันทึกไว้ว่า “ทูลกระหม่อมทรงพระประสงค์จะรับตำแหน่งนายแพทย์แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่เจ้าหน้าที่แห่งโรงพยาบาลทั้งสองนั้นไม่สามารถจะอนุวรรตน์ตามพระประสงค์ได้ ทั้งนี้เพราะเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งแก่นายแพทย์ผู้ช่วย ซึ่งเป็นรัชทายาทแห่งประเทศ…”

ในช่วงกลางปี 2472 สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เสด็จฯ จากเชียงใหม่กลับกรุงเทพฯ เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

วันที่แม่ร้องไห้มากกว่าคนอื่น

ในระหว่างนั้นเองสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เริ่มประชวรด้วยโรคตับอักเสบ ทรงเป็นฝีบิดในตับ อาการโรคพระวักกะ (ไต) พิการกำเริบ ทรงประทับรักษาพระองค์อยู่ที่วังสระปทุม  4 เดือนเศษ

ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2472 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบันทึกไว้ในหนังสือ แม่เล่าให้ฟัง ว่า …

“ข้าพเจ้าจำวันนั้นได้อย่างชัดทีเดียว หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับจากโรงเรียนราชินี หลังบ่าย 4 โมง ข้าพเจ้าเดินอยู่บนขอบหินของถนนหน้าตำหนักโดยกระทืบรองเท้าลงไปแรง ๆ ให้เสียงดัง ๆ โดยพยายามไม่เหยียบเส้นต่อ มีคนมาบอกให้เงียบ ๆ และให้ขึ้นไปหาแม่ที่ห้องแต่งตัวของแม่ แม่นั่งอยู่บนม้ายาวหน้าหน้าต่าง แม่ดึงตัวข้าพเจ้าไปกอด และพูดอะไรที่ข้าพเจ้าจำไม่ได้และร้องไห้ ข้าพเจ้าก็ร้องไห้ด้วย เพราะความตกใจที่เห็นแม่ร้องไห้มากกว่าคนอื่น”

คุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ว่า “…สมเด็จพระพันวัสสาฯ พระพักตร์สงบ แม้จะทรงตกพระทัยมาก ประทับอยู่ใกล้พระแท่นทูลกระหม่อม พระเนตรทูลกระหม่อมปรอยและลืมขึ้น รู้สึกว่าจะไม่ทรงเห็นอะไรแล้ว ในทันทีนั้นก็เสด็จทิวงคต สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงคุกพระชงค์ลง ยื่นพระหัตถ์ออกไป ปิดเปลือกพระเนตรทูลกระหม่อม แล้วซบพระพักตร์ลง…”

วันมหิดล วันหยุดราชการพิเศษ

ในรัชสมัย รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระโอรสขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก และให้วันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็น “วันมหิดล” ซึ่งเป็นวันที่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ร่วมใจระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่มีต่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย

เฉพาะอย่างยิ่ง ในรัชสมัย รัชกาลที่ 10 รัฐบาลประกาศ ให้วันที่ 24 กันยายน 2564 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ