ไวยาวัจกร ทำหน้าที่อะไร หลังเกิดเหตุยักยอกเงินวัดบวรฯ 190 ล้าน

วัดบวรนิเวศ
ภาพจาก มติชนออนไลน์

สรุปปมมือมืดใกล้ชิด “สมเด็จวันรัต” ก่อเหตุฉกทรัพย์ “วัดบวรฯและวัดสาขา”  190 ล้าน ไล่เรียงจากจุดเริ่มต้นถึงล่าสุด พร้อมไปทำความรู้จักตำแหน่ง “ไวยาวัจกร” มือการเงินดูแลทรัพย์สินของวัดทั่วไทย  

วันที่ 4 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีกระแสข่าวลูกศิษย์ใกล้ชิดสมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ถึงแก่มรณภาพไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถอนเงินในบัญชีของวัดบวรนิเวศฯ และวัดวชิรธรรมาราม วัดสาขา รวม 190 ล้านบาทไปใช้ส่วนตัว

ต่อมามีการเปิดเผยว่า บุคคลที่กระทำแบบนี้คือ  “นายเนย” หรือ “นายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา” อดีตเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ กองโครงการธุรกิจ 2 ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งดำเนินคดี 4 ข้อหา ประกอบด้วย ฉ้อโกง, ลักทรัพย์, ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และฟอกเงิน และได้ควบคุมตัวนายอภิรัตน์ไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังจากพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวในชั้นศาลของการผัดฟ้องฝากขังครั้งแรก

ภาพนายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา เมื่อปี 2559 (2016) (ที่มาภาพรายการ Energy Update ตอน Solar Roof บ้านคุณอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา

สรุปที่มา-คืบหน้าล่าสุด

สำหรับที่มาของคดีนี้มาจากมีรายงานข่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีผู้ลักลอบเอาเงินจากบัญชีของสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศไปประมาณ 200 ล้านบาท ทำให้คนตั้งคำถามถึงวัดและตัวสมเด็จผู้ล่วงลับว่า ทำอะไรมาถึงมีเงินมากมายขนาดนี้?

เนื่องจาก สมเด็จพระวันรัตในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ก่อนที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) จะเข้ามารับตำแหน่งเมื่อครั้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี 2560

โดยธรรมเนียมของธรรมยุตจะถือธรรมเนียมปฏิบัติเคร่งครัดกว่าพระมหานิกาย โดยเฉพาะในเรื่องการจับต้องเงินทอง จะเคร่งครัดกว่าพระมหานิกาย ซึ่งจะไม่มีการจับต้องเลย หรืออย่างมากที่สุด จึงใช้ใบปวารณาแทน กระทั่งเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จึงอาจส่งผลต่อความเชื่อศรัทธาต่อหมู่สงฆ์ได้

ต่อมาคืนวันที่ 2 เมษายน 2565 เพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา ออกมาโพสต์ข้อความแก้ข่าวว่า

#สมเด็จรูปนี้ไม่มีเงินส่วนตัว
เห็นข่าวกรณีไอ้เนย อมเงินวัดไปหลายร้อยล้าน เห็นหลายคนแทนที่จะด่าโจร กลับเสือกมาด่าพระ ผมขอชี้แจงตามความรู้อันน้อยนิดของผมดังนี้นะครับ

1.สมเด็จฯไม่มีเงินส่วนตัวนะครับ ส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีวัดที่ท่านปกครองหรือเคยปกครอง ทั้งในนามเจ้าอาวาส(วัดบวรฯ) ในนามรักษาการเจ้าอาวาส(วัดมกุฏ/วัดตรีฯ) ในนามวัดที่ท่านสร้างเองกับมือ(ตราด/บางปะหัน) และในนามมูลนิธิฯ ต่างๆ

2.บัญชีส่วนตัวเดียวที่มีคือบัญชีปี 2543 ในนามพระพรหมมุนี
(สมณาศักดิ์ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นบัญชีตาย ไม่เคยถอนทิ้งไว้เฉยๆ ไม่มีใครทราบยอด

3. บัญชีเพื่อสาธารณกุศล เช่น สมเด็จพระวันรัตเพื่อกองทุนโรคหัวใจ หรือ สมเด็จพระวันรัตเพื่อพระบาลี เป็นต้น

ดังนั้น การที่คนขับรถธรรมดา จะไปถอนเงินออกจากบัญชีต่างๆ เหล่านี้ได้ เราควรโทษพระที่ตายไปเหรอครับ ทำไมไม่ ด่าโจร ด่าระบบคณะสงฆ์ และ ด่าระบบสถาบันการเงิน ที่เอาเงินออกไปจากระบบ แต่กลายเป็นสังคมทำไมต้องมาก่นด่าพระที่เป็นมะเร็งตาย ทำไมพระถึงต้องถูกด่าโดยที่ไม่รู้เรื่องอะไร
ย้ำนะครับ

คนตายไม่เคยสะสมทรัพย์สินส่วนตัว มีแต่ดูแลทรัพย์สินคณะสงฆ์ส่วนกลาง ทรัพย์สินคณะธรรมยุติ ทรัพย์สินวัด ทรัพย์สินสาธารณะกุศล

อย่าไปป้ายสีคนตายว่าเอาเงินไปให้กัน คนตายพูดไม่ได้ แต่เส้นทางทางการเงินที่ตำรวจมีมันชัดนะครับ
ว่า…..

สมเด็จฯท่านไม่ได้ให้ แต่โจรมันยักย้ายออกมาเอง
อย่าไปด่าพระ กรุณาด่าโจร
#เข้าใจตรงกันนะครับ

ครั้นล่วงเข้าเช้าวันที่ 3 เมษายน 2565 เพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา โพสต์ข้อความอีก และคราวนี้เป็นแถลงการณ์ของวัดบวรนิเวศวิหาร ใจความว่า

ด้วยสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 มีการตรวจสอบทรัพย์สินและบัญชีของวัดบวรฯ กับของวัดอื่น ๆ ที่อยู่ในความดูแลของเจ้าประคุณสมเด็จฯ

พบหลักฐานว่ามีบุคคลกระทำการโดยมิชอบนำทรัพย์สินและเงินในบัญชีของวัดไปเป็นของตนเองโดยทุจริตจึงมีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามได้กระทำการจับกุมผู้กระทำความผิดไปเรียบร้อยแล้ว

คดีอยู่ในระหว่างการฝากขังชั้นสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

จึงแถลงมาเพื่อทราบ

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

จากจุดนี้ จึงนำมาสู่การเปิดโปงพฤติกรรมของลูกศิษย์ใกล้ชิดในที่สุด ซึ่งหากว่ากันตามหน้าที่แล้ว ถือว่าลูกศิษย์คนนี้ปฏิบัติหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น “ไวยาวัจกร” เลยทีเดียว

แต่แน่นอนว่า ด้วยความคลุมเครือและความไม่ชัดเจนของวงการดงขมิ้น หรือวงการสงฆ์เมืองไทย ทำให้หลายครั้งกว่าเรื่องจะแดง ก็ต้องรอให้ความเสียหายเกิดขึ้นหนัก ๆ ระดับร้อยล้ายบาทก่อน

“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปรู้จักตำแหน่งคนถือเงินของวัด หรือ “ไวยาวัจกร” กัน

รู้จักความหมาย-การแต่งตั้ง “ไวยาวัจกร”ไวยาวัจกร คือ เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลือวัดในการดูแล,รักษา และจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมาย โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2535 และกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 18 (2536)

หน้าที่สำคัญของไวยาวัจกรมี 2 หน้าที่คือ

1. เบิกจ่ายนิตยภัต (เงินเดือนพระ)

2. ดูแล, รักษา, จัดการ ทรัพย์สินของวัด

โดยทั้ง 2 หน้าที่ จะต้องได้รับมอบหมายจากเจ้าวัดอาวาสเป็นหนังสือทางการก่อน

สำหรับเกณฑ์คฤหัสต์ที่จะมาเป็นไวยาวัจกร มีดังนี้

  • ชายไทย นับถือพระพุทธศาสนา
  • อายุ 25 ปีขึ้นไป
  • มีหลักฐานมั่นคง
  • มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่นี้ได้
  • เลื่อมใสในการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ
  • ไม่เป็นผู้ที่มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟันเฟือน ไม่สมประกอบ รวมไปถึงการเป็รโรคที่สร้างความรังเกียจของสังคม
  • ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี เช่น ชอบเสเพล, นักเลงพนัน เสพสุรา-ยาเสพติดเป็นประจำ
  • ไม่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว
  • ไม่เคยถูกจำคุกมาก่อน เว้นโทษลหุหรือความผิดอันได้กระทำการโดยประมาท

การแต่งตั้ง ตามมติมหาเถรสมาคมที่ 18 (2536) ข้อ 7 ระบุว่า อำนาจในการแต่งตั้งให้เป็นอำนาจของเจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ ปรึกษาสงฆ์ในวัด เพื่อเลือกคฤหัสต์ขึ้นมารับหน้าที่นี้ โดยจะต้องมีคุณสมบัติตามข้างต้นด้วย เมื่อคณะสงฆ์เห็นชอบใคร เจ้าอาวาสสั่งแต่งตั้งได้ โดยต้องขออนุมัติเจ้าคณะอำเภอด้วย ซึ่งจะแต่งตั้งคนเดียว หรือหลาย ๆ คน ก็ได้

แบบหนังสือตั้งไวยาวัจกร ภาพจากหนังสือคู่มือไวยาวัจกร จัดพิมพ์โดยสำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อปี 2550

ทั้งนี้ ในหนังสือคู่มือได้ระบุถึงความรับผิดชอบของไวยาวัจกรด้วยว่า มีภาระใน 2 ข้อคือ

  1. ทางแพ่ง เพราะไวยาวัจกรเสมือนเป็นตัวแทนวัด มีฐานะกระทำการแทนนิติบุคคล ตามมาตรา 13 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 หากกระทำการใดที่มิชอบ แล้วมีผลกระทบต่อวัด, เจ้าอาวาส หรือบุคคลภายนอกวัด ไวยาวัจกรคนนั้นต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 15 ตัวแทน
  2. ทางอาญา เพราะตามมาตรา 45 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ระบุว่า ไวยาวัจกรเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามความในประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น ไวยาวัจกรเมื่อไปกระทำความผิด หรือถูกผู้ใดกระทำความผิด จะยึดกฎหมายเดียวกันกับเจ้าพนักงานในการกำหนดโทษนั่นเอง

อย่างกรณีที่ไวยาวัจกรไปยักยอก หรือเบียดบังทรัพย์สินของวัดเป็นของตัวเอง อันอยู่ในความครอบครองของตนตามหน้าที่ จะต้องมีความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 147 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท

นี่คือความหมาย การมาของตำแหน่ง และภาระความรับผิดชอบในตำแหน่ง “ไวยาวัจกร” ที่ขณะนี้สายตาทุกคู่จับจ้องไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร ที่กำลังเกิดคดีดังสนั่นทุ่งดงขมิ้นอีกครั้ง