ปตท.รุกปั๊มน้ำมันเพื่อนบ้าน ชู “จิฟฟี่” หัวหอกลุยค้าปลีกดึงลูกค้า

ปตท.รุกขยายปั๊มน้ำมันเพื่อนบ้าน คาดในปี”61 จะมีปั๊มน้ำมันรวม 302 สาขาทั้งในลาว เมียนมา กัมพูชา และฟิลิปปินส์ พร้อมใช้ร้านสะดวกซื้อ “จิฟฟี่” เป็นหัวหอกของธุรกิจเสริมในปั๊ม พร้อมจับมือพันธมิตรทั้งในและนักลงทุนในพื้นที่ จับมือให้บริการเติบโตในธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน ด้านใน ปท.ยังขยายปั๊มต่อเนื่องในถนนสายรองด้วย Compact Model

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการขยายสถานีบริการน้ำมันและร้านสะดวกซื้อในประเทศเพื่อนบ้านว่า การแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและธุรกิจเสริมออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ และวางแผนที่จะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในปีหน้านั้น หากการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย จะทำให้ ปตท.สามารถขยายสถานีบริการน้ำมันได้เร็วมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการขยายในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ที่ ปตท.อยู่ในระหว่างลงทุนขยายอย่างต่อเนื่อง ภายใต้รูปแบบสถานีบริการมาตรฐาน (Standard) ที่ประกอบไปด้วยการบริการน้ำมัน ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน และที่สำคัญคือ ปตท.จะขยายคอนวีเนี่ยนสโตร์ โดยใช้แบรนด์ “จิฟฟี่” หรือ Jiffy ที่ซื้อกิจการมาจากบริษัท โคโนโคฟิลลิปส์ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับพันธมิตรทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนในแต่ละประเทศเพื่อนำสินค้ารวมถึงบริการต่าง ๆ มารองรับความต้องการที่หลากหลาย เช่น ร้านเย็นตาโฟ มัลลิการ์ เป็นต้น และคาดว่าในอนาคตจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย

เหตุผลที่ต้องใช้คอนวีเนี่ยนสโตร์จิฟฟี่ขยายในประเทศเพื่อนบ้านแทนที่จะขยายในประเทศเนื่องจากในประเทศนั้นปตท.มีความร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น(7/11) ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยยังคงเหลืออายุสัญญาอีก 5 ปี นอกจากนี้ ยังติดเงื่อนไขที่ว่าจำนวนจิฟฟี่ในไทยจะมีเพียง 150 สาขาเท่านั้น ทำให้ ปตท.ต้องใช้ขยายสาขาจิฟฟี่ในต่างประเทศทดแทน ทั้งนี้ ปตท.ได้วางเป้าหมายการขยายคอนวีเนี่ยนสโตร์จิฟฟี่ไปพร้อม ๆ กับการขยายสถานีบริการน้ำมัน เฉพาะในปีนี้คาดว่าจะขยายใน สปป.ลาว 49 แห่ง กัมพูชา 50 แห่ง เมียนมา 15 แห่ง และในฟิลิปปินส์ 131 แห่ง นอกจากนี้ ยังประมาณการว่าในปี”61 ปตท.จะมีสถานีบริการน้ำมันในเพื่อนบ้านรวม 302 แห่ง แต่จากเป้าหมายดังกล่าวจะพบว่า การขยายสถานีบริการในเมียนมาค่อนข้างน้อย เนื่องจาก ปตท.ไม่สามารถเข้าไปลงทุนขยายได้เองทั้งหมด ต้องเข้าไปในรูปแบบดีลเลอร์เท่านั้น ซึ่งการขยายแต่ละแห่งค่อนข้างใช้เวลาในการเจรจา

“การขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านจะใช้รูปแบบคล้ายคลึงกับที่ขยายในประเทศคือจับมือกับนักลงทุนทั้งในไทยเองและในพื้นที่แต่ละประเทศและทั้ง ปตท.และผู้ร่วมลงทุนจะขยายตัวไปพร้อม ๆ กัน เมื่อประเมินตลาดเพื่อนบ้าน ปตท.มองว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างกว้างมาก และตอนนี้แบรนด์ ปตท.ก็ค่อนข้างได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะร้านกาแฟอเมซอนที่มียอดขายค่อนข้างดี”

นายอรรถพลกล่าวเพิ่มเติมถึงการขยายสถานีบริการในประเทศว่ายังอยู่ภายใต้แผนการลงทุน5ปีของ ปตท.ภายในสิ้นปี”60 นี้ คาดว่าจะขยายสถานีบริการใหม่ได้อีก 100 แห่ง รวมทั้ง ปตท.จะมีสถานีบริการทั่วประเทศ 1,622 แห่ง ซึ่งการขยายสถานีบริการจะเน้นไปที่ให้ดีลเลอร์เป็นผู้ลงทุนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรูปแบบ Compact Model บนพื้นที่ถนนสายรอง เนื่องจากภายหลังจากการสำรวจถนนสายรองในบางพื้นที่ยังไม่มีสถานีบริการ เหตุผลที่ขยายด้วยรูปแบบ Compact Model นั้น เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจแต่งบประมาณน้อยสามารถมาทำธุรกิจร่วมกับ ปตท.ได้ เพราะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 18 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ในระหว่างประเมินให้ปรับการลงทุนให้ลดลงมาอยู่ที่ 15 ล้านบาทได้หรือไม่ เนื่องจากบนถนนสายรองปริมาณรถยนต์ค่อนข้างน้อย หากใช้เงินลงทุนสูงจะทำให้คืนทุนได้ช้า ทั้งนี้ ในส่วนของการขยายสถานีบริการอื่น ๆ เช่น ขนาดมาตรฐาน (Standard Model) ลงทุนอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท ส่วนสถานีบริการขนาดใหญ่ในรูปแบบ In The Park (ปั๊มในสวน) และรูปแบบ Platinum ใช้เงินลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีการให้การบริการที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นร้านเซเว่นฯ ร้านกาแฟอเมซอน รวมถึงร้านอาหารที่หลากหลายตามความต้องการของแต่ละพื้นที่

“ถ้าถามว่า ปตท.ให้ดีลเลอร์เป็นผู้ลงทุนขยายปั๊มน้ำมันแล้ว ปตท.จะได้อะไร ปตท.ก็มีรายได้จากการขายน้ำมัน ในส่วนของธุรกิจเสริมในปั๊ม ปตท.ก็เป็นผู้ดีลมาให้ดีลเลอร์ ปตท.ก็จะได้ในส่วนของ Operating Cost เป็นต้น แต่ในกรณีที่ดีลเลอร์อยากลงทุนเองก็สามารถดีลเองโดยตรงหรือซื้อแฟรนไชส์กับเจ้าของแบรนด์โดยตรงได้ เพราะ ปตท.เองก็ต้องการให้ภายในปั๊มแบรนด์ ปตท.มีการบริการที่หลากหลาย”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำลังอยู่ในระหว่างการแยกธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดมาจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR (PTT Oil And Retail Business Company Limited) ซึ่ง ปตท.จะต้องโอนย้ายสินทรัพย์ที่มีมากกว่า 120,000 ล้านบาทมายังบริษัทดังกล่าว เปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นเอกชน 100% เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ซึ่งในกรณีที่ขั้นตอนการโอนสินทรัพย์เรียบร้อยภายในวันที่ 1 ธ.ค. 60 นี้ ขั้นตอนต่อไปคือการนำบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ภายในปี′61 นี้

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้