ย้อนดูจุดเริ่มต้นกองทุน BSF 4 แสนล้าน สู้โควิด ก่อนปิดตัว 31 ธ.ค.นี้

การเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ กราฟ เศรษฐกิจ

ย้อนดูจุดเริ่มต้น-แนวทางกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ BSF หลังคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ มีมติเห็นชอบให้ยุติกองทุน 31 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป 

วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ BSF (Corporate Bond Stabilization Fund) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 โดยใช้เงินมูลค่ารวม 400,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นกลไกในการเข้ามาดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังรุนแรง ปัจจุบันรวมระยะเวลา 2 ปีกว่าที่กองทุนถูกจัดตั้งขึ้นมา

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2563 การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ในระดับโลก ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ บางรายนำไปสู่การขาดกระแสเงินสดในระยะสั้น

ประกอบกับนักลงทุนบางส่วนประสงค์จะถือเงินสดในปริมาณที่มากกว่าปกติหลายเท่า อาจจะทำให้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงนั้นบางรุ่นประสบปัญหาการออกตราสารหนี้รุ่นใหม่ เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้รุ่นเดิมได้ไม่เต็มจำนวน

ทั้งนี้ กฎหมายสำหรับ BSF เป็น 1 ใน 3 ของ พ.ร.ก.กู้เพื่อกู้วิกฤตโควิด วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท, พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท และพ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ผ่านการออกกองทุน BSF

ปิดกองก่อนกำหนด

โดยเริ่มแรกการดำเนินการของกองทุน BSF มีกำหนดระยะเวลาเพียง 5 ปี นับตั้งแต่พระราชกำหนดรักษาเสถียรภาพฯ มีผลใช้บังคับ เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบเป็นอย่างอื่น

แต่ล่าสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผยว่าคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ มีมติเห็นชอบให้ยุติการเปิดรับการขอความช่วยเหลือจากกองทุนในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป  เนื่องจากความจำเป็นของความช่วยเหลือจากกองทุนปรับลดลงตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับปกติมากขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งวันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” พามาย้อนดูกันจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งกองทุน BSF รวมถึงหลักการกลไกของการออกมาตรการนี้

จุดเริ่มต้นกองทุน BSF

​กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เป็นกองทุนที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้ความไม่แน่นอนและความผันผวนทางเศรษฐกิจการเงินจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ดำเนินกลไกในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินผ่านการดูแลให้สภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนให้ดำเนินไปได้อย่างปกติ

โดยมีการออก พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ของบริษัทที่มีพื้นฐานการดำเนินงานที่ดีและมีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาจากการที่ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนขาดสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

หลักการและแนวคิด

1. เป็นมาตรการเชิงป้องกัน (preemptive measure) เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้นำไปสู่วิกฤตความเชื่อมั่นและกระทบเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้ให้บทเรียนว่า การป้องกันปัญหาย่อมดีกว่าการแก้ไขปัญหาภายหลัง เพราะต้นทุนการแก้ไขปัญหาภายหลังของภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือของประชาชนผู้ออม ย่อมสูงกว่าต้นทุนของมาตรการเชิงป้องกัน

2. มาตรการช่วยเหลือจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอ ให้รองรับกับขนาดของตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบัน และต้อง พร้อมใช้และดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

3. มีกลไกในการบริหารและควบคุมความเสี่ยงที่ดี เพื่อลดโอกาสการเกิดความเสียหาย โดยกองทุน BSF จะลงทุนได้เฉพาะในบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) เท่านั้น

4. เป็นเพียงแหล่งเงินทุนสำรอง (backstop) ที่สนับสนุนเงินทุนระยะสั้น (bridge financing) ให้กับผู้ออกตราสารเท่านั้น รวมถึงมีกลไกที่ช่วยป้องกันปัญหาการเอาเปรียบทางการหรือ moral hazard ด้วย โดยกองทุน BSF จะให้สภาพคล่องเพียงช่วงสั้น ๆ โดยจะซื้อตราสารหนี้อายุไม่เกิน 270 วัน และต้นทุนของเงินช่วยเหลือจากกองทุน BSF ต้องสูงกว่าการระดมทุนจากแหล่งอื่นทุกแหล่ง

5. การดำเนินงานของกองทุนต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการกำกับกองทุนได้มีประกาศกำหนดกรอบการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงในรายละเอียด ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563

นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของกองทุน BSF ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ได้เป็นการกู้เงิน และหากสถานการณ์โควิดควบคุมได้และกลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว สภาพคล่องที่กองทุนลงทุนไปก็จะได้รับกลับคืน โดยไม่เป็นภาระภาษีในอนาคต

หลักเกณฑ์กองทุน

หลักเกณฑ์ของกองทุน BSF จะลงทุนได้ ต้องเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน ต้องเป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) อย่างต่ำที่ระดับ BBB- หรือเทียบเท่า และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น investment grade

โดยกองทุน BSF จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนที่เหลือหลังจากระดมทุนจากแหล่งอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด ซึ่งเป็นเพียงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 270 วัน ซึ่งต้นทุนการกู้ยืมจากกองทุน BSF จะสูงกว่าอัตราการกู้ยืมในตลาด

เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน BSF เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น จากการกลับมาเปิดประเทศ การกลับมาดำเนินธุรกิจได้เช่นเคย ส่งผลให้กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ BSF ต้องยุติลงในระยะเวลาเพียง 2 ปีกว่า


นั่นสะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ส่งผลให้ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ปรับลดลงชัดเจน