อิตาเลียนไทย ปักหมุด 3 แสนล้าน ปาดเค้กเมกะโปรเจ็กต์ คสช. กัดฟันลุยทวาย-เหมืองโพแทช

สัมภาษณ์

ปี 2560 นับเป็นปีทองของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์พี่ใหญ่วงการรับเหมาก่อสร้างเพราะเป็นปีที่ตุนงานท่วมท้น 1.3 แสนล้าน มากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 60 ปี

“เปรมชัย กรรณสูต” บอสใหญ่ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ กล่าวว่า ปี 2560 ได้งานใหม่ในมือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท (รวมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 35,000 ล้านบาท) มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 8 หมื่นล้านบาท นับว่าสูงสุดในประวัติการณ์

ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงานในประเทศและต่างประเทศสัดส่วน 50:50 จะสามารถรับรู้รายได้ 4 ปี เฉลี่ยปีละ 125,000 ล้านบาท โดยปี 2560 ที่ผ่านมารับรู้รายได้ 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าปี 2561 จะถึง 1 แสนล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีการผลักดันโครงการขนาดใหญ่เปิดประมูลออกมามากกว่าปี 2560 ถึงเท่าตัวกว่า 1 ล้านล้านบาท ที่บริษัทประเมินไว้จะเข้าร่วมมีหลายโครงการซึ่งล้วนเป็นงานที่ถนัด

ไม่ว่ารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 9 โครงการ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท รถไฟไทย-จีน รถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะและสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ยังมีงานอื่น ๆ อีก เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โดยคาดว่าบริษัทจะได้งานในมืออย่างน้อย 3 แสนล้านบาท

“เราพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการจากภาครัฐ ทั้งงานก่อสร้างและร่วมลงทุน PPP ขอให้รัฐเร่งเปิดประมูลโครงการ เราเตรียมพันธมิตรไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะร่วมกับจีนยื่นประมูลโครงการ”

ADVERTISMENT

ขณะที่กำไรขั้นต้นของบริษัทมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ประเมินจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 10% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 7-8% และปี 2561 คาดว่าจะมากกว่า 10% เนื่องจากงานโครงสร้างพื้นฐาน ในประเทศมีขนาดใหญ่ รวมทั้งงานในต่างประเทศก็ดี

สำหรับงานในต่างประเทศ “เปรมชัย” ขยายความว่า ที่ได้แล้วมี 2 โครงการคือ ทางด่วนยกระดับ 5 หมื่นล้านบาท ความคืบหน้าก่อสร้าง 8% กับรถไฟฟ้ายกระดับ 3 หมื่นล้านบาท ที่เมืองดักการ์ ประเทศบังกลาเทศ

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกันยังร่วมประมูล สนามบิน อีก 3 หมื่นล้านบาท และมอเตอร์เวย์อีก 1 แสนล้านบาทที่บังกลาเทศ รวมทั้งรถไฟใต้ดิน 3 หมื่นล้านบาท โรงบำบัดน้ำเสีย และจะร่วมประมูลสนามบินที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ ในไตรมาสแรกปี 2561

ด้าน “โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย” เมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลเมียนมา เป็นอีกโปรเจ็กต์ที่ “บิ๊กอิตาเลียนไทย” เกาะติดแบบใจหายใจคว่ำ หลังหยุดชะลักมานานหลายเดือนหลังมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่

“โครงการทวาย เราก็ติดตามประชุมร่วมกับพม่าทุกเดือน ซึ่งโครงการกลับมาเริ่มใหม่หลังเปลี่ยนรัฐบาล ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา”

ในส่วนของเราเรียบร้อยแล้ว เหลือฝ่ายพม่าพิจารณา อนุมัติใบอนุญาตการเช่าใช้ที่ดิน ระยะเวลา 75 ปี รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และด้านเทคนิค ซึ่งได้จ้างที่ปรึกษาจากประเทศญี่ปุ่นโดยบริษัท นิปปอน โคอิ จำกัด และโอเรกอนจาก ยุโรป ดู การออกแบบ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบพลังงาน ซึ่งอิตาเลียนไทยได้ส่งแบบการก่อสร้างไปให้พม่าตั้งแต่ปี 2559 คาดว่าพม่าจะจ้างที่ปรึกษาต้นปีนี้ โดยใช้เงินจากอิตาเลียนไทย ซึ่งโครงการทวายงานยังเดินหน้าไปเรื่อย ๆ แต่ค่อนข้างช้า ทำให้ตอนนี้เริ่มงานไม่ได้เลย

“การชะลอโครงการทวายมีผลกระทบมาก เพราะโครงการควรเริ่มต้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2559 แต่เงียบสนิทไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยใน 1 ปีที่ผ่านมา มั่นใจว่าไตรมาสที่ 2 ปีนี้จะเริ่มดำเนินการได้” นายเปรมชัยกล่าวและว่า

สำหรับโครงการทวายบริษัทได้จับมือกับ บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ลงทุนคนละประมาณ 6,389 ล้านบาท หรือ 200 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เงินกู้อีกประมาณ 19,169 ล้านบาท หรือ 600 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ พัฒนาโครงการในเบื้องต้นได้ลงทุนไปแล้ว 7,000-8,000 ล้านบาท สำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีพื้นที่ขาย 13,000 ไร่ ส่วนถนนเชื่อมไปยังทวาย รัฐบาลไทยให้รัฐบาลพม่ากู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยเปิดประมูล และอิตาเลียนไทยก็มีสิทธิเข้าร่วมประมูล ถ้าประมูลได้ เราก็จะเดินหน้าก่อสร้างต่อไป

จากนั้นจะทยอยพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อินฟราสตรักเจอร์ ท่าเรือ โรงไฟฟ้า 400 เมกะวัตต์ วงเงิน 31,949 ล้านบาท หรือ 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 ปี

นอกจาก “ทวาย” ยังมีโครงการเหมือนแร่โพแทช จ.อุดรธานีที่ “บิ๊กอิตาเลียนไทย” ยังไม่สามารถผลักดันไปจนตลอดรอดฝั่งได้ในห้วงเวลาที่ผ่านมา

“เราลงทุนไป 4,000-5,000 ล้านบาท ซื้อสิทธิสัมปทานจากแคนนาดาระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ตอนนี้ต้องปรับโครงการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเหมืองแร่ใหม่ คาดว่าอีก 6 เดือนจะได้รับใบอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หลังจากนั้นจะขายหุ้นบางส่วนเพื่อนำเงินมาลงทุนโครงการ”

สำหรับโครงการนี้บริษัทถือหุ้น 90% อีก 10% ถือโดยกระทรวงการคลัง จะขายให้จีนประมาณ 20% ทำให้มีเงินทุนโครงการประมาณ 31,949 ล้านบาทหรือ 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มาลงทุนโครงการระยะแรก จะมีกำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี เงินจำนวนนี้มาจากผู้ถือหุ้นประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากเงินกู้ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในอนาคตข้างหน้า จะเพิ่มอีก 31,949 ล้านบาท หรือ 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มกำลังผลิตจาก 2 เป็น 4 ล้านตันต่อปี โดยต้องรีไวต์แผนธุรกิจใหม่ไปเรื่อย ๆ จนกว่าโครงการจะได้รับการอนุมัติ