“มิตรให้โลหิต ต่อชีวิตให้กัน” เบื้องหลังแมเนจเมนต์หยดเลือด 3 ล้านซีซี

เฟรเซอร์ส

โครงการ “มิตรให้โลหิต ต่อชีวิตให้กัน” ผ่านหลักชัยปริมาณรับบริจาคโลหิต 3 ล้านซีซี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

เป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่ต้องบอกต่อ ในภาวะที่ผู้บริหารคลังเลือดของสภากาชาดไทยย้ำแล้วย้ำอีกว่า เลือดในคลังไม่เคยพอ

9 จุดปฏิบัติงานภาคสนาม

คีย์ซักเซสอยู่ที่ต้องต่อจิ๊กซอว์หลายตัวเพื่อประกอบร่างเป็นโปรเจ็กต์รับบริจาคเลือด โดยต้นทางอยู่ที่ผู้นำองค์กรต้องทั้งผลักและดันอย่างเต็มกำลังความสามารถ ใส่ใจรายละเอียดทุกรูขุมขน

จากเลือดหยดแรกในการเปิดตัวกิจกรรมครั้งที่ 1 เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นยุคโควิด เป็นโครงการความร่วมมือกับสภากาชาดไทยภายใต้ชื่อแคมเปญ “ร่วมใจให้โลหิต ฝ่าโควิดไปด้วยกัน” ต้องบอกว่า ใช้ทั้งเวลา กำลังทรัพย์และกำลังใจของพนักงาน+ผู้บริหารทั่วทั้งองค์กร

โดยมีหัวขบวน “ธนพล ศิริธนชัย” Country CEO บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ FPT นั่งหัวโต๊ะในการประชุมสรุปงานและแก้ปัญหาทุกแมตช์ ตกผลึกออกมาเป็นบิ๊กดาต้า ซึ่งเหมาะจะใช้เป็นคู่มือให้กับองค์กรหรือบริษัทห้างร้านใดที่สนใจจะเปิดจุดรับบริจาคโลหิตในอนาคต

เบ็ดเสร็จเบื้องหลังการถ่ายทำ หรือเบื้องหลังทีมบริหารจัดการหน้างาน มีด้วยกัน 9 จุดที่ต้องเตรียมความพร้อม เรียงตามลำดับให้บริการสำหรับการบริจาคเลือด ดังนี้

1.จุดลงทะเบียน 2.เขียนใบประวัติ คัดกรองเบื้องต้น โดยสองจุดนี้ระดมทีมมาจากพนักงานจิตอาสาของ FPT ทั้งนี้ จุดลงทะเบียนของ FPT เพื่อมีฐานข้อมูลในการส่งข้อมูลแจ้งเตือนกิจกรรมบริจาคเลือดให้ได้รับทราบอย่างทั่วถึงนั่นเอง

3.เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ลงทะเบียน ซักประวัติ ออกใบบันทึกการบริจาค 4.เจาะเลือด 5.วัดความดัน 6.บริจาคโลหิต 7.แจกขนมและเครื่องดื่ม (หลังบริจาคเลือด) ซึ่งเลือดที่รับบริจาคมี 2 ไซซ์คือ 350 ซีซี กับ 450 ซีซี 8.แจกของที่ระลึก และ 9.จุดนั่งพัก 10-15 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผลกระทบข้างเคียงภายหลังการบริจาคเลือด

ปัจจุบันมีการเพิ่มจุดเตียงบริจาคเลือดเป็น 16 เตียง โดย 1 คนใช้เวลาในการบริจาคเฉลี่ย 20-30 นาที ตั้งแต่การลงทะเบียนจนจบกระบวนการ โดยสถิติล่าสุด ครั้งที่ 11 ที่จบไปเมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าเฉลี่ยเวลาการบริจาคต่อคนอยู่ที่ 14.30 นาทีเท่านั้น

3 CEO ร่วมโปรโมตแคมเปญ

มองย้อนไทม์ไลน์การรับบริจาคเลือดหยดแรกเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งมีการใช้พื้นที่โครงการมิกซ์ยูสใจกลางเมือง “สามย่านมิตรทาวน์” ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด โดยช่วงแรกให้รถรับบริจาคเลือดมาจอดข้างอาคาร 2 คันในทุกสัปดาห์ สถิติเลือดรับบริจาคอยู่ที่ 4-8 หมื่นซีซี

ในเวลานั้น ความร่วมมืออันดับแรกมาจาก FPT ชักชวนคู่ค้าและพันธมิตรธุรกิจมาร่วมบริจาคเลือด หลังจากนั้นปรับรูปแบบการรับบริจาคให้มาอยู่ภายในอาคาร บริเวณลานโปรโมชั่น ชั้น G (หน้า MUJI) เวลา 9.00-19.00 น. โดยไม่มีพักเบรก ช่วงแรกมีเพียง 8 เตียง

ถัดมาในเดือนตุลาคม 2564 สถิติเลือดรับบริจาคทะลุ 1 ล้านซีซีเป็นครั้งแรก นำมาสู่การทวีความสำคัญในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีการโปรโมตโครงการอย่างเต็มตัว ด้วยการให้ 3 ซีอีโอ ประกอบด้วย “ธนพล ศิริธนชัย” Country CEO ของ FPT, “แสนผิน สุขขี” CEO เฟรเซอร์ส โฮม และ “โสภณ ราชรักษา” CEO ของ FPIT มาร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์โปรโมตแคมเปญ

เฟรเซอร์ส

พร้อมทั้งมีการแจกเสื้อเป็นของที่ระลึกเป็นครั้งแรก โดยนำงานของศิลปินที่เคยร่วมงานกับสามย่านมิตรทาวน์เมื่อครั้งกำลังก่อสร้างมาเป็นลายเสื้อยืด เริ่มแจกเมื่อกิจกรรมครั้งที่ 6

และในเดือนสิงหาคม 2565 สถิติเลือดรับบริจาคทะลุ 2 ล้านซีซีอย่างชนิดที่เรียกว่ามีอัตราเร่งก็ว่าได้ เพราะโครงการเริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ๆ รวมทั้งเริ่มมียอดคนลงทะเบียนร่วมบริจาคเลือดทะลุหลักพันคน/ครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคนให้ความสนใจแสดงตัวขอเป็นผู้บริจาคเลือด แต่ปรากฏว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ไม่ผ่านเกณฑ์มีสูงมาก เกิน 20% หมายความว่า ผู้แสดงตัวเป็นผู้บริจาค 100 คน ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ 20 คน ซึ่งสภากาชาดไทยบอกว่าเป็นสถิติที่สูงมาก

เหตุผลที่ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ อาทิ อายุไม่ถึงเกณฑ์, น้ำหนักไม่ถึง 45 กก., ความเข้มข้นของเลือดไม่ถึงค่าวัดที่ 12.5, ยิ่งในช่วงแรกเริ่มทำกิจกรรมนี้พบว่าสถิติผู้ไม่สามารถบริจาคเลือดได้สูงถึง 40-50% จากสาเหตุการขาดธาตุเหล็ก สะท้อนให้เห็นเรื่องการดูแลตัวเองและการกินเป็นหลัก

จากผู้ให้-กลายเป็นผู้รับ

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมครั้งที่ 11 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทีมงานมีการทำไมเนอร์เชนจ์ด้วยการปรับชื่อแคมเปญใหม่เป็น “มิตรให้โลหิต ต่อชีวิตให้กัน” เพื่อส่งสัญญาณว่าสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว การทำงาน-ทำเงินเริ่มกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

ประเด็นโจทย์หินอยู่ที่…ทำอย่างไรจะลดสัดส่วนผู้ไม่สามารถบริจาคเลือดลงได้

ทางผู้จัดงานจึงให้ความสำคัญกับการคัดกรองเบื้องต้นหลังจากลงทะเบียน โดยมี 2 โครงการนำร่อง คือ

1.“FPT New Blood” โครงการจัดอบรมแก่พนักงาน FPT ที่ประสงค์บริจาคเลือดแต่ไม่สามารถบริจาคได้ มีการจัดทำบัตรเช็กลิสต์บันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ในการดูแลตัวเองเพื่อให้สามารถบริจาคเลือดได้ โดยในการ์ดจะมีคำแนะนำเรื่องเวลานอนที่เหมาะสม และรายชื่ออาหารที่กินแล้วบำรุงเลือด เพิ่มธาตุเหล็กในร่างกาย

ตัวชี้วัดคือ ผู้ที่ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ หลังจากเข้าโปรแกรมฟิตสุขภาพกับ FPT แล้ว พลิกสถานะกลับมาเป็นผู้บริจาคเลือดได้ในที่สุด จากความตั้งใจที่จะเป็นผู้ให้ (เลือด) มีผลตอบแทนกลายเป็นผู้รับ (การได้รับสุขภาพที่ดีในฐานะผู้มีสิทธิบริจาคเลือด)

2.“Blood Donation Volunteer” โครงการจัดอบรมพนักงาน เพื่อมาเป็นอาสาสมัครให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคโลหิตแก่ผู้สนใจในวันจัดอีเวนต์ มีการจัดทำแผ่นพับให้ความรู้แก่อาสาสมัคร ช่วยในการตอบคำถามจากผู้สนใจบริจาคเพื่อช่วยคัดกรองผู้บริจาคเลือดเบื้องต้นก่อนจะถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการโลหิตฯ

ผลลัพธ์คือ สัดส่วนคนลงทะเบียนล่วงหน้า (ออนไลน์) กับผู้บริจาค walk in อยู่ที่ 50:50 ผู้ที่เคยมาบริจาคเลือดกับ FPT แล้ว เมื่อใกล้ถึงวันบริจาคครั้งถัดไปจะมีการส่งข้อความไปทางโทรศัพท์มือถือ ทั้งวันและเวลา สถานที่บริจาค รวมถึงวิธีการเตรียมตัว

“หลังจากจัดกิจกรรมมาแล้ว 11 ครั้ง ได้เห็นวินัยของคนมาบริจาค โดยคนที่เคยบริจาคแล้วก็จะมาบริจาคต่อเนื่อง ส่วนคนที่เพิ่งบริจาคครั้งแรกก็เริ่มเข้ามาบริจาคเป็นประจำ ที่น่าดีใจคือเราจัดพื้นที่ในโซนจัดอีเวนต์ บริเวณชั้น 1 มีร้านค้าในพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมโดยสารบุญไปด้วยกัน ทั้งการนำเครื่องดื่มและขนมมาสมทบสำหรับแจกผู้บริจาคเลือด ผมถือเป็นน้ำใจของมิตรที่ส่งต่อให้มิตรด้วยกันในสามย่านมิตรทาวน์”

ไทม์ไลน์จัดพื้นที่รับบริจาคเลือดครั้งต่อไปคือวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2566 นี้ หลังจากที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ได้คาดหวัง สามารถระดมเลือดเพื่อส่งต่อให้สภากาชาดไทยรวมทั้งสิ้น 3,499,000 ซีซี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยมียอดผู้บริจาคภายในอีเวนต์เดียวกัน 1,100 ราย

“เราวางระบบการบริจาคเลือดให้ดีที่สุด เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในพื้นที่ของเรา ตอนนี้แมเนจเมนต์ที่มีในสามย่านมิตรทาวน์ สามารถใช้เป็นโมเดลต้นแบบได้ เราจะขยายจุดรับบริจาคเลือดไปยังตึกออฟฟิศอื่นซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของ FPT ทั้งสาทร สแควร์, ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ และเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ต่อไป”