ต้นทุนสร้างบ้านดันราคาพุ่ง 2 ล้านสูญพันธุ์ต้อง 5 ล้านอัพ

รับสร้างบ้าน

ส่องธุรกิจรับสร้างบ้านปี 2566 โซน กทม.-ปริมณฑลราคาต่ำ 2 ล้านบาทสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว “นายก HBA” ชี้ตลาดหลักสร้างหลังละ 5 ล้าน “แลนดี้โฮม” เผยโควิด-สงครามกดดันต้นทุนแพง “บิวท์ ทู บิวด์” เผยหลังเล็กสุดกดราคาสร้างเริ่มต้น 2.14 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โควิดและสงครามข้ามปีสร้างผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นคิวของวงการธุรกิจรับสร้างบ้านบนที่ดินตัวเอง ซึ่งได้รับผลกระทบทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ

จนกระทั่งในเขตเมืองหลวงกรุงเทพฯ การสร้างบ้านหลังละไม่เกิน 2 ล้านบาทไม่สามารถทำได้อีกต่อไป หรือกล่าวได้ว่าการรับสร้างบ้านต่ำ 2 ล้านบาทได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากโซนกรุงเทพฯ โดยพิจารณาจากราคารับสร้างบ้านเฉลี่ย 20,000 บาท/ตารางเมตรขึ้นไป สร้างบ้านที่มีไซซ์เล็กสุดเริ่มต้นที่ 120-150 ตารางเมตร ทำให้การรับสร้างบ้านมีราคาตั้งแต่ 2.4-3 ล้านบาท

โซนเมืองกรุงสร้าง 5 ล้าน

นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA-Home Builder Association) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2566 บรรยากาศการทำธุรกิจรับสร้างบ้านมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับยุคโควิด แต่มีปัจจัยกระทบรุนแรงในด้านต้นทุนสร้างบ้านซึ่งปรับขึ้นทุกรายการ ทั้งค่าถมดิน ตอกเสาเข็ม วัสดุก่อสร้างหลัก และผลิตภัณฑ์ฟินิชชิ่ง ค่าแรงแพงขึ้นสวนทางกับปัญหาแรงงานขาดแคลน ฯลฯ

ปัญหาต้นทุนที่แพงขึ้นทุกตัว ทำให้ส่วนใหญ่การรับสร้างบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลขยับเป็นกลุ่มราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยกลุ่มราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทยังมีอยู่ แต่การรับงานของบริษัทรับสร้างบ้านจะน้อยลง

“รูปแบบในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เนื่องจากการรับสร้างบ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านลักษณะที่มีดีไซน์และเพิ่มรายละเอียด รวมทั้งเจ้าของบ้านใส่ใจเรื่องสเป็กวัสดุก่อสร้างมากขึ้น ทำให้ต้นทุนและราคาโดยรวมขยับขึ้นมาเป็นบ้านหลังละ 5 ล้าน

ในขณะที่บ้านต่ำ 5 ล้านไม่ค่อยสร้างกันแล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทที่เป็นแมสโปรดักส์ที่สามารถสร้างบ้านราคา 2-4 ล้านบาทได้อีกหลายบริษัท โดยแบบบ้านเป็นแบบบ้านมาตรฐาน ก็เลยสามารถก่อสร้างลงพื้นที่แคบ ๆ หรือพื้นที่เล็ก ๆ ได้อยู่”

Q2/66 ขึ้นราคา 5-10%

นายโอฬารกล่าวว่า สมาคมเพิ่งจัดงานรับสร้างบ้านและวัสดุ เอ็กซ์โป เมื่อวันที่ 8-12 มีนาคม 2566 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ โดยไฮไลต์มีการตรึงราคารับสร้างบ้านราคาเดิมของปี 2565 ไปจนถึงไตรมาส 1/66 จากนั้นคาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 2/66 จะมีการทยอยปรับราคาขึ้นเฉลี่ย 5-10% เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านแบ่งเป็นตลาดใหญ่ใน กทม.-ปริมณฑล ในช่วงสถานการณ์โควิดพบว่าบ้านหลังใหญ่ไซซ์ 400 ตารางเมตร ราคาหลังละ 10-20 ล้านบาทมาแรงมาก เพราะผู้บริโภคเป็นกลุ่มกำลังซื้อศักยภาพสูง และมองว่าเป็นช่วงที่ต่อรองแล้วได้ออปชั่นที่ดีในการสร้างบ้านมีส่วนแบ่งการตลาดขยับขึ้นเป็น 25-30%

ส่วนตลาดต่างจังหวัดพบว่าออร์เดอร์สร้างบ้านในกลุ่มราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท แบบบ้านสไตล์โมเดิร์นกำลังได้รับความนิยมสูงสุด แต่ก็มีส่วนแบ่งตลาดไม่เกิน 20%

สำหรับเทรนด์แบบบ้านหลังยุคโควิด นายโอฬารกล่าวว่ามีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จุดหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือที่จอดรถมีความต้องการเพิ่มขึ้น เดิมในยุค 10-20 ปีที่แล้วต้องการเพียง 1 ที่จอดรถ ต่อมาเพิ่มเป็น 2 ที่จอดรถ ล่าสุดเทรนด์ปีนี้ต้องมี 3 ที่จอดรถ

รวมทั้งต้องการเพิ่มห้องผู้สูงอายุ ห้องทำงานชั้นล่างรองรับวิถีทำงานที่บ้านหรือ WFH กับเรื่องที่เด่นชัดมากในยุคนี้คือ มีความต้องการให้ติดตั้งปลั๊กชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มากับตัวบ้านด้วย

ราคาต่ำ 2 ล้านสูญพันธุ์

นางสาวพรรัตน์ มณีรัตนะพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นทุนการรับสร้างบ้านเป็นปัจจัยกดดันการทำธุรกิจปีนี้อย่างชัดเจน ในส่วนของแลนดี้โฮมปัจจุบันมีต้นทุนเฉลี่ยตารางเมตรละ 2-3.5 หมื่นบาท

“ในเขตกรุงเทพฯ การรับสร้างบ้านต่ำกว่า 2 ล้านบาทน่าจะไม่มีแล้ว แม้แต่แผนธุรกิจปีนี้ แลนดี้โฮมเน้นกลยุทธ์ดีไซน์บ้านสไตล์มินิมอล เจาะลูกค้า first jobber ราคาต่ำสุดที่เราทำอยู่ก็เริ่มต้น 3 ล้าน

“หลังยุคโควิดต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น ถ้าเราไม่ปรับอะไรเลยมันก็สูงไปเรื่อย ๆ ค่าแรงขึ้น 10% ค่าวัสดุขึ้น 10% เราก็ต้องดูว่าปรับพื้นที่ใช้สอยหรือฟังก์ชั่นอะไรที่ให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้ฟังก์ชั่นหลังใหญ่เท่าเดิม ต้องทำงานกับพันธมิตรธุรกิจมากขึ้น”

เฉลี่ยทุกตลาด 1.8-3 หมื่น/ตร.ม.

นายสุธี เกตุศิริ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบิวท์ ทู บิวด์ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบริษัทมีบิวท์ ทู บิวด์, บางกอกเฮ้าส์บิวเดอร์, สมอลล์เฮ้าส์บิวเดอร์ ในยุคโควิดปี 2563 มียอดรายได้รับสร้างบ้าน 700 ล้านบาท เทียบกับปี 2565 จบรายได้ที่ 1,100 ล้านบาท เติบโต 40% แผนธุรกิจปี 2566 ตั้งเป้ารายได้ 1,200 ล้านบาท

กลยุทธ์บริษัทเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ครบทุกเซกเมนต์ แบ่งเป็นตลาดแมสโดยสมอลล์เฮ้าส์ บิวเดอร์ สร้างบ้านราคา 2-8 ล้านบาท, บางกอกเฮ้าส์ บิวเดอร์ สร้างหลังละ 8-20 ล้านบาท และบิวท์ ทู บิวด์ หลังละ 20 ล้านบาทขึ้นไป

“บริษัทลูก สมอลล์เฮ้าส์ บิวเดอร์ก็ถือว่าโต แต่พูดถึงอัตราการเติบโตแล้วสร้างบ้านหลังใหญ่เติบโตได้ดีกว่าในยุคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มราคา 8 ล้านบาทขึ้นไป

ในขณะที่บ้านหลังเล็กสุดที่เราทำ กดต้นทุนต่ำสุด ๆ เฉลี่ยตารางเมตรละ 18,000 บาท บ้านหลังเล็กสุดไซซ์ 119 ตารางเมตร ราคาก็เริ่มที่ 2.14 ล้านบาทแล้ว”

นายสุธีกล่าวถึงการปรับราคารับสร้างบ้านด้วยว่า สถานการณ์โควิดมีผลกระทบทำให้ต้นทุนก่อสร้างปรับขึ้นอยู่ตลอด บวกกับมาเจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน น้ำมันก็แพง ปูนซีเมนต์ ไม้แบบ กระเบื้อง สุขภัณฑ์ แรงงานเพิ่มขึ้นทั้งหมด ซึ่งต้นทุนไม่นิ่ง

บริษัทคำนวณแล้วการปรับราคา 3-5% เอาไม่อยู่ จึงปรับขึ้นครั้งเดียว 7% แต่เป็นราคาที่ลูกค้ารับได้

ปัจจุบัน สมอลล์เฮ้าส์ บิวเดอร์ ซึ่งเจาะลูกค้าตลาดแมส มีราคารับสร้างบ้านเริ่มต้น 18,000 บาท/ตารางเมตร, บางกอกเฮ้าส์ บิวเดอร์ ต้นทุนเริ่ม 22,000 บาท และบิวท์ ทู บิวด์ ต้นทุนเริ่มต้น 30,000 บาท/ตารางเมตร