งานด่วน ผู้ว่า รฟม.คนใหม่ เร่งแจกสัมปทานรถไฟฟ้า 3 แสนล้าน

สัมภาษณ์พิเศษ

หลังใช้เวลาเกือบปีในการสรรหา ในที่สุดคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” รั้งเก้าอี้ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คนที่ 6 เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับ “ภคพงศ์” ปัจจุบันอายุ 54 ปี ดีกรีวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต Lamar University, U.S.A. เป็นลูกหม้อ รฟม.มีสไตล์การทำงานออกแนวบู๊ เติบโตตามสายงานก่อสร้าง จากตำแหน่งวิศวกรธรรมดา ได้เลื่อนชั้นเป็นรองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง จนได้รั้งเก้าอี้ใหญ่คุมงานก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 แสนล้าน

“ภคพงศ์” เปิดใจกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภารกิจแรกหลังรับตำแหน่งเม.ย.นี้ จะเร่งเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 101,112 ล้านบาท แยกเป็น 6 สัญญา จะประกาศเชิญชวนกลางปีนี้ รวมถึงเร่งสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 90,271 ล้านบาทให้เริ่มต้นประกวดราคาภายในปีนี้

นอกจากนี้ จะเร่งเปิดประมูล PPP หาเอกชนเดินรถไฟฟ้า 2 สายทาง ได้แก่ สายสีส้มตลอดสายจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 34.6 กม. วงเงิน 35,000-40,000 ล้านบาท ล่าสุดทางบริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างวิเคราะห์จะเป็นรูปแบบ PPP net cost คือ เอกชนรับสัมปทานเป็นผู้จัดเก็บรายได้และแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐเหมือนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ PPP gross cost ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้และจ้างเอกชนเดินรถ โดยจ่ายผลตอบแทนแบบกำหนดราคาเหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วง

“ยังไม่สรุป แต่สายสีม่วงใต้ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท เนื่องจากสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เป็นรูปแบบ PPP gross cost โดย รฟม.จ้าง BEM เดินรถให้ 30 ปี ก็มีโอกาสสูงที่สายสีม่วงใต้จะใช้รูปแบบเดียวกัน เพื่อให้การเดินรถต่อเชื่อมกันด้วยเอกชนรายเดียว”

การจัดหาเอกชนร่วมลงทุน PPP ในส่วนของงานเดินรถ ด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ อาจจะใช้เวลาพอสมควร คาดว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้จะนำการเดินรถของสายสีส้มให้ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP พิจารณา จากนั้นไตรมาสที่ 3 จะเริ่มเปิดประกวดราคา ขณะที่สายสีม่วงใต้อาจจะล่าช้าออกไป 2 เดือน เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษายังทำรายละเอียดไม่สมบูรณ์ แต่ยังไงจะเร่งเปิดประมูลภายในปีนี้

“ผู้ว่าการรถไฟฟ้าป้ายแดง” ยังบอกอีกว่า อีกหนึ่งภารกิจเฉพาะหน้า คือเร่งประสานกรมทางหลวงและกรุงเทพมหานคร ขอใช้พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี กับสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง โดยจะเร่งเคลียร์ให้จบและส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชบุรีโฮลดิ้งส์) ผู้ลงทุนก่อสร้างโครงการภายในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อเริ่มนับหนึ่งงานก่อสร้างตามสัญญา โดยทั้ง 2 โครงการพร้อมเปิดบริการในปี 2564

ขณะที่โครงการลงทุนในภูมิภาคจะเร่งลงทุนโมโนเรล จ.ภูเก็ต เป็นลำดับแรก ล่าสุดกำลังศึกษารูปแบบ PPP ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน วงเงิน 23,499 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการ PPP ภายในปีนี้

อีกทั้งยังจะต้องเร่งหารายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ควบคู่ไปด้วย ขณะนี้รอแก้ไขกฎหมายให้อำนาจ รฟม.สามารถนำที่ดินมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท มาพัฒนาได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้นำเสนอข้อมูลไปยังคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติแล้ว

ตามแผนจะมีที่ดินศูนย์ซ่อมตรงพระราม 9 พื้นที่จอดแล้วจรตามสถานีที่อยู่กลางเมือง เช่น สามย่าน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รัชดาภิเษก พัฒนาเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์เล็ก ๆ อีกทั้งยังมีโครงการ TOD นำที่ดินรอบสถานีมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ เช่น สถานีคลองบางไผ่ สถานีเพชรเกษม 48 สถานีมีนบุรี หรือพื้นที่จอดแล้วจรขนาดใหญ่ ๆ

“ภคพงศ์” ย้ำว่า การผลักดันงานให้เดินไปข้างหน้าได้ตามเป้าหมาย สิ่งสำคัญที่สุดคือองค์กรที่ต้องทำงานเป็นทีม เป็นหนึ่งเดียวกัน ต้องเปิดใจ และจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งขั้วเหมือนที่ผ่านมา