ติมากกว่าชม 8 ปี “แอร์พอร์ตลิงก์” รัฐเซ็งลี้เอกชนหมื่นล้านล้างขาดทุน

กว่า 8 ปีที่ “แอร์พอร์ตเรลลิงก์” รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ นับจากวันที่ 23 ส.ค. 2553 มีบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รฟฟท. บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้รับจ้างบริหารโครงการ ปัจจุบันมีผู้โดยสารแตะ 7.8 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน

กว่าผู้โดยสารจะไต่ทะยานขนาดนี้ เรียกว่าเป็น 8 ปีที่บริหารสไตล์ “เปิดไป ปรับไป” ด้วยข้อจำกัดทำให้รถไฟฟ้าสายนี้วิ่งติด ๆ หยุด ๆ ระหว่างทาง เพราะขาดทั้งเงินทุนหมุนเวียนและผู้นำตัวจริงมือฉมังมานั่งสะสางปัญหา “การทุจริต” ที่ยังก้าวข้ามไม่ได้สักที

ปัญหารุมเร้าไม่หยุด

จะว่าไปแล้ว “แอร์พอร์ตลิงก์” มีปัญหามาตลอดนับจากเริ่มตอกเข็มก่อสร้าง จากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้บิ๊กรับเหมาโครงการ “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น” ขาดทุนร่วม 1,000 ล้านบาท

อีกด้านหนึ่ง “แอร์พอร์ตลิงก์” กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนที่ ร.ฟ.ท.ทุ่มไปกว่า 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 28,067 ล้านบาท และรถไฟฟ้า วงเงิน 7,035 ล้านบาท

เพราะดูเหมือนรถไฟฟ้าสายนี้วางแผนและลงทุน “ผิดที่ผิดทาง” ไปเสียหมด ใช้ประโยชน์ผิดคอนเซ็ปต์ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะแนวคิดให้เป็นรถด่วนรับคนไปสุวรรณภูมิ สุดท้ายเหลือเฉพาะ “รถซิตี้ไลน์” ขนคนจากพื้นที่รอบนอกเข้าเมืองแทน

ที่น่าจับตารถ 9 ขบวน กำลังตกอยู่ในสภาวะเหมือนคนป่วย ต้องทยอยส่งซ่อม หลังถูกใช้งานมาหนัก ทำให้จำนวนรถมีไม่พอต่อความต้องการ โดยเฉพาะช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็นที่คนเบียดเสียดกันเป็นปลากระป๋อง

ซื้อรถใหม่ติดหล่มปมทุจริต

ปัญหาเรื่องรถไม่พอ ที่ผ่านมา “ร.ฟ.ท.” เปิดประมูลซื้อรถใหม่ 7 ขบวน วงเงินกว่า 4,000 ล้านบาท มีบริษัทจากจีนเข้าเส้นชัย แต่สุดท้ายก็บัวแล้งน้ำ เมื่อถูกร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใส หลังมีกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์เล่นไม่เลิก จนคาราคาซังมาถึงทุกวันนี้

ล่าสุดรถไฟฟ้าสายนี้ถูกนำไปรวมไว้กับสัมปทานไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ที่รัฐบาลกำลังเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost 50 ปี

มีเงื่อนไขให้รัฐรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของ “แอร์พอร์ตเรลลิงก์” จำนวน 22,558.06 ล้านบาท ส่วนงานระบบและการเดินรถมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ให้เอกชนซื้อกิจการต่อจาก ร.ฟ.ท.

รอเซ็งลี้เอกชน

โดยรัฐหวังว่าเมื่อให้เอกชนมืออาชีพมารับช่วงแทน ร.ฟ.ท.จะล้างขาดทุนแอร์พอร์ตลิงก์ที่เรื้อรังมาหลายปีได้ จากปัจจุบันขาดทุนสะสม 1,785 ล้านบาท ล่าสุดปี 2560 ขาดทุน 280 ล้านบาท ขณะที่ ร.ฟ.ท.ได้เงินก้อนกว่า 1 หมื่นล้านบาทมาปลดหนี้ค่าก่อสร้าง

ก่อนหน้านี้ “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” ผู้ตรวจราชการกระทรวงและรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทรัพย์สินของแอร์พอร์ตลิงก์ยังเป็นของ ร.ฟ.ท. แต่พนักงาน 400-500 คนของบริษัท รฟฟท.เป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. อาจจะโอนไปเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเปิดปี 2563

“เอกชนรายใหม่ที่รับสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะได้สิทธิบริหารและเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะเป็นแนวเส้นทางเดียวกัน สามารถบริหารปรับปรุงระบบเก่าใหม่ได้ รวมถึงซื้อรถใหม่ 7 ขบวน ตอนนี้ให้ชะลอซื้อรถออกไปก่อน เพื่อไปรวมกับโครงการนี้ ซึ่งเอกชนจะมีความคล่องตัวกว่ารถไฟ อาจจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี แต่ระหว่างที่รอให้เอกชนปรับปรุงระบบเก่าที่มีอยู่ให้ใช้งานอย่างเต็มที่” นายอานนท์กล่าวย้ำ

คงต้องลุ้น “แอร์พอร์ตลิงก์” จะออกหัวหรือก้อย หากไม่มีเอกชนรายไหนใจกล้าที่จะมาลงทุนไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินอย่างที่รัฐตั้งความหวังไว้

งัดสารพัดวิธีกู้วิกฤติเฉพาะหน้า

จากปัญหาต่าง ๆ ทาง “วิสุทธิ์ จันมณี” กรรมการบริษัทและรักษการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รฟฟท. แจกแจงว่า แอร์พอร์ตลิงก์เป็นระบบรถไฟฟ้าชานเมือง มีเส้นทางเดินรถจากชานเมืองเข้าสู่เขตเมือง ทำให้มีระยะทางเดินรถมากกว่ารถไฟฟ้าประเภทอื่น ใน 1 ขบวนจะเดินรถเป็นระยะทาง 1,100 กม.ต่อวัน

จากการใช้งานที่หนัก ทำให้มีการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ เร็วกว่ากำหนด ไม่สามารถให้บริการได้บางช่วงเวลา ผู้โดยสารต้องรอนาน คาดว่าปลาย เม.ย.นี้จะมีรถวิ่งบริการ 7 ขบวน จากปัจจุบัน 6 ขบวน อีก 2 ขบวนอยู่ระหว่างซ่อมบำรุง และไม่มีอะไหล่สำรอง 10% ต้องรอสั่งซื้อ

นอกจากนี้ สถิติผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องทุกปี ปี 2560 อยู่ที่ 22.52 ล้านคน และมีการเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ทั้งนำรถสาย express line มาให้บริการเป็นสาย city line ถอดเบาะออกบางส่วน เพิ่มพื้นที่ยืน จะปรับปรุงตู้ขนสัมภาระในรถ express line เป็นสำหรับให้ผู้โดยสารนั่ง

ล่าสุด “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี สั่งตรงถึงเจ้ากระทรวงคมนาคม ให้ร.ฟ.ท.นำรถไฟดีเซลรางวิ่งบริการช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็น วันจันทร์-ศุกร์ จากลาดกระบัง-หัวลำโพง, หัวลำโพง-ลาดกระบัง คิดค่าโดยสารรถปรับอากาศ 20 บาท รถพัดลม 10 บาท


ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แต่ยังดีกว่าไม่คิดและไม่ลงมือทำอะไรเสียเลย เพราะถ้าปล่อยให้ ร.ฟ.ท.คิดเองทำเอง คงเข้าสไตล์…ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง !